无念无想
Munen Muso
“ไร้จิตปรุงแต่ง”
คำๆนี้เป็นคำที่เป็นปรัชญาของพระพุทธศาสนามหายานนิกายเซน
ว่าด้วยเรื่องจิตเดิมแท้ที่มีความเป็นธรรม บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส
หรือเครื่องทำให้ขุนเคืองเศร้าหมองใดๆ นอกจากในพุทธศาสนาแล้ว
คำนี้ในศาสนาเต๋ายังกล่าวกันด้วย โดยเต๋านั้นก็กล่าวถึงการที่ไม่ปรุงแต่งด้วยความคิด
ด้วยคติใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดความแตกต่างจากการยึดติด เช่น
เมื่อมีบวกก็ย่อมมีลบ เมื่อเรากำหนดมั่นว่าสิ่งนี้คือดี
สิ่งที่ไม่ดีย่อมปรากฏออกมา เมื่อเรากำหนดว่านี่เรียกว่าความสวย ความน่าเกลียดย่อมอุบัติมา
เมื่อเราว่านี่คือสูง นั่นคือเราได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าต่ำเตี้ยขึ้นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้นั้นล้วนถูกกำหนดมาจากจิตใจมนุษย์ที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งนั้น
เต๋าจึงพยายามที่จะค้นหาสิ่งที่ปราศจากการปรุงแต่ง
สิ่งที่มีมาแต่เดิมจากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำใดๆ ดังนั้นศาสนาเต๋าจึงเรียกค่าของสิ่งที่เป็นกลางๆ
ที่อธิบายไม่ได้ถึงการมีตัวตนนี้ว่าเป็นเต๋า โดยเต๋าพรรณนาว่า เต๋าที่อธิบายได้ไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง
ชื่อที่เรียกขานกันนั้นไม่ใช่ชื่อที่แท้จริง เพราะการกำหนดค่า การยึดมั่นในชื่อ
ในความคิดมันก็คือการปรุงแต่งของคนๆหนึ่งเท่านั้น การอธิบายนั้นมันก็คือกิเลสตัณหา
คือทิฐิของคนๆหนึ่งเท่านั้น ซึ่งศาสนาพุทธเราก็มีการสอนในเรื่องนี้กันมากโดยว่าด้วยเรื่อง
“ศูนยตาความว่างเปล่า” และ “อัพยากตาธรรมธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล”
แต่คำนี้ไม่ได้ใช้ในเชิงปรัชญาศาสนาอย่างเดียว
แต่ในศิลปะการต่อสู้ก็ใช้คำนี้เป็นอย่างมากด้วย เป็นปรัชญาการต่อสู้ในระดับสูง
เป็นการฝึกตนในระดับสูง และมันสูงอย่างไร ในการต่อสู้นั้นหากใช้สมองในการคิดว่าจะต่อยท่านั้น
ต่อยทางนี้ ปัดอย่างนั้น หลบอย่างนี้ มันออกจะช้าเกินไป
ซึ่งการต่อสู้จริงๆนั้นการโจมตีการป้องกันแต่ละครั้งมันเร็วมาก หนักหน่วงมากๆ คนที่เก่งๆความเร็วหมัดแทบจะต่ำกว่าวินาทีด้วยซ้ำมัน
บางคนในหนึ่งวินาทีสามารถชกได้อย่างรวดเร็วหนักหน่วงถึง2-3หมัด
ดังนั้นการคิดในการต่อสู้นั้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
แต่นั่นไม่ใช่ให้ปฏิเสธการคิด และสู้แบบโง่ๆไร้ความคิดไร้แบบแผน
และไม่ใช่การปล่อยให้การต่อสู้นั้นเป็นไปด้วยสัญชาตญาณความกระหายในการเอาชนะในการต่อสู้เพียงอย่างเดียว
ศิลปะการต่อสู้นั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะ
นั่นย่อมหมายถึง ศาสตร์ความรู้
และการนำศาสตร์ความรู้นั้นๆมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตน ศาสตร์และศิลป์นี้เองที่จะเป็นตัวลับประสาทสัมผัสต่างๆให้สูงขึ้น
เพื่อใช้ในการต่อสู้แทนความคิด
ในการฝึกวิชานั้น
มักจะได้ยินคำพูดเสมอๆในทำนองว่า “ฝึกให้เข้าไปอยู่ในสายเลือด” “อย่าใช้สมองจำแต่ให้ใช้ร่างกายเป็นตัวจำ”
“ให้จำอารมณ์แบบนี้เอาไว้ เวลาฝึกให้ใช้อารมณ์และความรู้สึกแบบนี้”เป็นต้น
นั่นย่อมหมายถึงการฝึกที่เพียรพยายามอย่างหนักจนร่างกายเกิดความเคยชิน
เกิดการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ
จนท่วงท่าการเคลื่อนไหวนั้นๆซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใจ ดังจะเห็นได้จากผู้ที่ฝึกวิชามาเป็นอย่างดี
เมื่อเกิดการตกใจ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เขาเหล่านั้นสามารถที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างรวดเร็วและเป็นแบบแผน
บางคนกระโดดหลบรถที่พุ่งมาชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางคนสามารถปัดป้องจากสิ่งที่พุ่งเข้ามาได้อย่างรวดเร็วทั้งที่ยังไม่ได้ตั้งตัว
บางคนสามารถทุ่มหรือหักแขนคนที่โผเข้ามากอดจากด้านหลังได้ในทันที
หรือแม้แต่เวลาที่ไม่ทันได้มีสติตั้งตัว อย่างที่เคยได้ยินตำนานจากครูบาอาจารย์ว่าในสมัยก่อนนั้น
บางคนสามารถต่อสู้ได้แม้กระทั่งยามหลับ(ละเมอ) หรือคนเมาที่ไร้สติสามารถต่อสู้ได้โดยไร้ที่ติ
นั่นหากเป็นการต่อสู้ที่สั่งการผ่านความคิดของสมองแล้ว
มันไม่สามารถที่จะคิดได้ทันเลย
อย่างในคาราเต้นั้น
เหตุใดจึงต้องมีการจับคู่ซ้อมท่าพื้นฐาน คนนึงชก คนนึงปัด ที่เรียกว่า “ยากุโซกุคุมิเต้”
หรือ “คิฮงคุมิเต้” นั้นก็เพื่อเอาไว้ฝึกความรู้สึก
ฝึกประสาทสัมผัสในการต่อสู้ทั้งสิ้น ฝ่ายโจมตี ต้องโจมตีให้รวดเร็วรุนแรงที่สุด
และมุ่งหวังที่จะล้มคู่ต่อสู้ให้ได้(แต่ต้องสามารถหยุดได้เมื่อถึงตัว
เมื่อป้องกันการบาดเจ็บในขณะฝึกซ้อม) เมื่อโจมตีมาแล้ว
ฝ่ายรับย่อมต้องป้องกันด้วยความเร็ว และความรัดกุมมาก
หากปัดป้องไม่ดีก็จะเกิดการบาดเจ็บได้ เมื่อฝึกกันจนเกิดความเคยชินแล้ว
ย่อมต้องเพิ่มกำลังในการโจมตี เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเพิ่มระยะ
เพิ่มจังหวะหลอกล่อในการโจมตีด้วย เพื่อเรียนรู้สร้างความเคยชินให้กับร่างกายให้มากขึ้นไปอีก
ในทางกลับกันฝ่ายรับ
ก็ต้องเพิ่มความรัดกุมความสามารถในการรับป้องกันให้มากขึ้นด้วย
การฝึกเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การฝึกเข้าคู่เพื่อเรียนตามมาตรฐาน
หรือสอบเลื่อนระดับความสามารถเท่านั้น เมื่อผ่านการฝึกเหล่านี้มาอย่างถูกต้อง
และเข้าใจแล้ว จะสามารถรู้ถึงจังหวะที่รัดกุม ระยะที่พอเหมาะ ในการต่อสู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความคิด
แต่หากการฝึกที่ว่านี้ยังผ่านมาไม่พอ คือความเร็วไม่เร็วพอ ความหนักไม่หนักพอ
กำลังกายไม่ได้ถูกรีดออกมามากพอขณะฝึก อารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการฝึกย่อมไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายและจิตใจได้เลย
ความรู้สึกที่ได้รับมานั้นก็จะไม่แจ่มชัดพอ ทำให้เกิดการลังเลในการต่อสู้
หรือความกลัว
ในพื้นฐานมนุษย์หรือสัตว์นั้น
การจะใช้ร่างกายให้ถึงขีดจำกัดของร่างกายได้นั้น จะสามารถเห็นได้จากความกลัว เช่น
คนที่สามารถยกของหนักได้เมื่อยามไฟไหม้ การฮึดฝืนร่างกายตนเองเมื่อจิตใจได้รับการกระทบอย่างรุนแรง
หรืออย่างสัตว์เช่นสุนัขที่โดนไล่จนตรอก
การที่จิตใจได้รับการกระทบอย่างรุนแรงนั้นสามารถที่จะดึงสมรรถภาพทางกายออกมาได้เป็นอย่างดี
แต่ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถนำขีดจำกัดนี้มาใช้ได้เสมอไป ดังนั้นการฝึกต่างๆที่ต้องตรากตรำฝึกด้วยความยากลำบากนั้นเองจึงเป็นตัวดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาได้
ในการฝึกต่อสู้นั้น หากไม่ทุ่มเทเต็มที่ย่อมเกิดการบาดเจ็บ
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากบาดเจ็บ ไม่มีใครชื่นชอบการโดนทำร้ายร่างกาย นั่นคือความกลัว
เราฝึกต่อสู้ก็เปรียบได้กับการฝึกรับมือกับความกลัว
เราอยู่กับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา หากเราพลาดเราก็โดนต่อยในการซ้อม
ดังนั้นการซ้อมเหล่านี้จึงเป็นการกระตุ้นร่างกายได้เป็นอย่างดี
และผู้ที่เข้าใจถึงการฝึก ย่อมสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างดีโดที่ไม่ต้องคิด
แต่ในการใช้ประสาทสัมผัส หรือความรู้สึก เช่นนี้ก็ยังเป็นเพียงสัญชาติญาณ
ซึ่งบางคนอาจจะเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์เหล่านี้ก็เป็นได้
แต่ในการที่จะไม่คิดไม่ปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้เลยมันต้องมี “ปัญญา” ด้วย
ต้องมีปัญญาที่จะสามารถพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน การวางอารมณ์ ควบคุมจิตใจ การอ่านอารมณ์จิตใจของตัวเองและคู่ต่อสู้
รวมถึงสิ่งรอบข้างได้อย่างถูกต้องโดยเป็นกลาง
ซึ่งปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากความคิด แต่เกิดจาก “จิต” ที่ถูกฝึกฝนด้วยสมาธิ
และความเพียรตั้งใจอย่างแรงกล้าและยาวนาน ดังจะเห็นได้จากครูบาอาจารย์สมัยก่อนๆนั้น
มักจะเก็บตัวเข้าป่า หรือเก็บตัวคร่ำเคร่งฝึกอยู่แต่ในห้อง ในที่ส่วนตัว
เพื่อฝึกทั้งวิชาต่อสู้ และฝึกทั้งการสำรวจจิตใจของตัวเอง(สมาธิ ปัญญา พิจารณา)
เพื่อยกระดับจิต และร่างกายของตนเอง เพื่อที่จะสามารถวางจิตให้วางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกกดกระทบในจิตใจขณะต่อสู้
และควบคุมกระแสจิตใจ อารมณ์ความคิดของตัวเองและคู่ต่อสู้ได้
รวมถึงเพิ่มความชัดเจนให้กับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสในการต่อสู้ด้วย
และนี่คือเหตุที่ว่าทำไมถึงต้อง “มุเนน มุโซว”
ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวหลายๆอย่างอาจจะไม่ได้มีการฝึกในลักษณะนี้
และเพราะเหตุใดในคาราเต้ และเคนโด
รวมถึงศิลปะในหลายรูปแบบของจีนและญี่ปุ่นถึงได้มีคำๆนี้ รวมถึงการฝึกแบบนี้ขึ้นมา
การต่อสู้ในหลายๆสำนักในหลายๆรูปแบบอาจจะมีการต่อสู้ลักษณะพัวพัน
ต่อเนื่อง มีการใช้เทคนิคท่วงท่ามากมายในการประยุกต์เคลื่อนไหวรุกรับมากมาย
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าวิชาเหล่านั้น ไม่ได้ใช้แนวคิดแบบ “มุเนนมุโซ” เลย
แต่ในทางกลับกัน แนวคิดนี้กลับพบได้ในหลักวิชาที่เน้นการโจมตีเพียงครั้งเดียว
อย่างเช่น วิชาดาบ โดยเฉพาะสาย จิเกนริว บัตโตจิทสุ อิไอจิทสุ
วิชาเหล่านี้เน้นการฟันเพียงครั้งเดียว เน้นการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค ความเร็ว
ความแม่นยำที่ดีกว่า เพื่อเอาชัยเอาชีวิตศัตรูที่เข้มแข็งกว่า
ดังนั้นหากเขาพลาดในการลงดาบ นั่นคือเขาพลาดในชีวิตที่ไม่อาจจับดาบได้อีกต่อไป
หรือแม้กระทั่งพลาดในการมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นภาวะจิตที่ถูกกดดันไปด้วยความกลัว
ความตายนั้นหนักหนามาก ไม่อาจจะประเมินได้เลยหากไม่เคยลิ้มรสเช่นนั้นมาก่อน
ความกดดันนี้นอกจากจะกดดันจิตใจ มันยังกดดันร่างกายเราอีกด้วย
ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ การต่อสู้ในลักษณะนี้ เรียกว่า “一撃必殺อิจิเกกิ ฮิซัทสุ” หรือ “一剣必殺อิคเคน ฮิซัทสุ” แปลว่า พิชิตในการโจมตีเดียว(ดาบ หรือหมัด)
ซึ่งคาราเต้ก็ได้รับปรัชญาแนวคิดนี้มาจาก จิเกนริว และ บัตโตจิทสุ
จึงมีการฝึกที่เน้นสร้าง และเค้นศักยภาพของร่างกายออกมาดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้
เนื่องจากคาราเต้เป็นวิชาที่คนตัวเล็กสามารถล้มคนตัวใหญ่กว่าได้
และยิ่งเป็นการต่อสู้ที่เน้นจังหวะการตัดสินใจโจมตีเพียงครั้งเดียว
หรือจบการต่อสู้ให้เร็วที่สุด ดังนั้นภาวะการณ์วางจิตแบบ “มุเนนมุโซ”
จึงค่อนข้างจำเป็นในการในการฝึก และเข้าใจถึงหลักวิชาในคาราเต้
มากกว่าในวิชาของสำนักอื่นๆที่เป็นการต่อสู้แบบพัวพัน หรือต่อสู้แบบติดพัน
นักพรตแมว