วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2559

10ความแตกต่าง ที่ไม่แตกต่างของคาราเต้ในโอกินาว่า และญี่ปุ่น

คลิ๊กเพื่ออ่านบทความหลัก 10 Differences Between Okinawan Karate & Japanese Karate

   
เห็นมานานแล้วกับบทความสร้างความแตกแยกระหว่างคาราเต้ญี่ปุ่น กับคาราเต้โอกินาว่า บทความที่แปะลิ้งนี้ เป็นบทความของหนุ่โอตาคุหัวทอง ซึ่งผมก็ไม่รู้ประวัติหรอกนะว่าเขาเป็นใคร ฝึกคาราเต้มานานรึยัง และฝึกอีท่าไหนถึงได้โอตาคุได้ขนาดนี้ บทความของหนุ่มโอตาคุคนนี้เป็นที่โด่งดังมากในหมู่นักคาราเต้ อาจจะเพราะเขาพิมพ์สร้างเว็บภาษาอังกฤษ(พอดีเราไม่ถนัดภาษาอังกฤษอ่ะนะ) หลายบทความนั้นดีถึงดีมาก แต่บางบทความก็อาจจะมีการเข้าใจอะไรผิดไปอยู่หากไม่ศึกษาให้ถ่องแท้ แต่มันก็ถือว่าให้ความรู้ได้ดี 

ทีนี้จะมาดูกันว่าบทความที่เกี่ยวข้องนี้ในความคิดของผมนั้น จะเห็นด้วยหรือแตกต่างกันอย่างไรกับนายโอตาคุคนนี้ นายคนนี้เขาแยกคาราเต้ญี่ปุ่นกับโอกินาว่าไว้10อย่างความไม่เหมือนกันเอาไว้ ผมจะไม่พูดถึงบทความมากนักให้พวกท่านอ่านกันเอาเองในภาษาอังกฤษ ผมจะเขียนเฉพาะความรู้ของผมครับ

1. Higher Stances
            เขาว่าโอกินาว่าไม่ยืนต่ำคือย่อขาต่ำๆ แต่จะยืนสูง เพราะมันเป็นธรรมชาติคล่องตัว เหมาะกับการต่อสู้ แต่ทำไมคาราเต้ญี่ปุ่นต้องยืนต่ำ ท่านทราบสาเหตุกันรึเปล่า คาราเต้ที่เริ่มยืนต่ำนั้นมีกำเนิดมาจากโชโตกัน เพราะคาราเต้ที่เผยแพร่ในญี่ปุ่นสำนักแรกคือโชโตกัน บทความนี้อาจจะโจมตีโชโตกันโดยตรงก็ได้(จากที่อ่านมาหลายๆบทความ) ที่คาราเต้ต้องยืนต่ำนั้น เซนเซฟุนาโคชิ และเซนเซนากายาม่าสอนว่า เมื่อยืนต่ำจะทำให้กล้ามเนื้อได้สร้างความแข็งแกร่ง ความเคยชินกับการใช้เทคนิค เพราะเมื่อเวลาเราใช้งานจริงแล้ว สมรรถภาพทางกายจะลดลงตามความตึงเครียดกดดันของจิตใจ ดังนั้นการยืนต่ำนั้นเพื่อเสริมสร้างพละกำลัง และเทคนิค เป็นการฝึกเพิ่มระยะความเร็วความแรงของเทคนิคให้เกิดความเสถียรและพัฒนาการ
ส่วนในเรื่องของการต่อสู้นั้นเป็นการประยุกต์ ไม่มีใครใช้การยืนต่ำในการต่อสู้อยู่แล้ว ดังนั้นในการฝึกและการใช้งานควรแยกจากกัน ไม่ควรนำมารวมประเด็นกัน

2. “Why” Over “How”
            คาราเต้โอกินาว่า ชอบสอนว่าทำไมต้องทำท่านั้นท่านี้(บุนไก) คือความหมายของท่าว่าใช้งานอย่างไร แต่ในทางกลับกัน คาราเต้ญี่ปุ่นชอบสอนว่า ท่านี้ท่านั้นต้องทำอย่างไร จะเห็นว่าอาจารย์ญี่ปุ่นโดยเฉพาะโชโตกันชอบสอนว่า how to twist your hip, how to concentrate the power, how to send the power from heel??? จะเห็นได้ชัดว่าโชโตกันชอบสอนเรื่องการส่งแรง การทำท่าให้ถูก แต่ไม่ค่อยสอนบุนไกว่าทำไมต้องทำท่านั้นท่านี้ 
            ต้องเข้าใจก่อนว่า โชโตกันมีทัศนคติในการต่อสู้ว่า การเสริมสร้างร่างกายและเทคนิคให้พัฒนาอยู่ตลอดทั้งความคม ความเร็ว ความแม่นยำในเทคนิคนั้น สามารถสร้างได้จากพื้นฐาน ดังนั้นเมื่อพื้นฐานดี คุมิเต้ก็ดี การต่อสู้อาจจะไม่ต้องใช้เทคนิคอะไรมากมายก็ได้ การต่อสู้จะจบลงด้วยหนึ่งเทคนิค ตามทัศนคติของคาราเต้โบราณ คือ “อิจิเกกิ ฮิซัทสึ” แปลว่าพิชิตในหนึ่งการโจมตี ซึ่งโชโตกันฝึกปรือด้วยคตินี้ จึงไม่ค่อยให้ความสนใจกับบุนไก จนหาคนที่จะเข้าใจบุนไกในกาต้าของโชโตกันได้น้อย ซึ่งจุดนี้เป็นข้อผิดพลาดของโชโตกันจริงๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะละทิ้งไปเสียหมด คนที่ศึกษาบุนไกก็มี ซึ่งมันเป็นความชอบส่วนบุคคล ไม่ใช่ตัววิชา แต่คนที่ชอบบุนไกอาจจะมีน้อย (บุนไกจริงๆนะ ไม่ใช่แอ๊คชั่นคิวบู๊แบบบุนไกกาต้าในการแข่งที่เห็นปัจจุบัน) จนปัจจุบันคาราเต้ในญี่ปุ่นที่รับเอาแนวคิดโชโตกันไปก็อาจจะละเลยการฝึกบุนไก จนบางทีบุนไกกันแบบมึนๆอึนๆจนพวกฝรั่งหัวทองด่าว่า “ฟัคกิ่งบุนไก” ถ้าอยากรู้เรื่องบุนไกขอให้ถามเซนเซนากะ ทัสสุยะ หรือถามผม ฟังกิ่งบุนไกมันเป็นเพียงตัวที่สื่อให้เห็นว่าถ้าทำท่าโง่ๆแบบนี้ก็จะเหมือนกับท่ากาต้าเปี๊ยบ แต่ในกาต้าจริงๆมันบุนไกไม่เหมือนกับกาต้าเลย เช่นท่าปัดอาจจะเป็นท่าหักแขน ท่าทุ่มอาจจะหมายถึงการกลับตัว การเตะอาจจะเป็นการปัดก็ได้ ซึ่งท่ากาต้าแต่ละเทคนิคความหมายก็จะต่างกัน ตามการพลิกแพลงตามจังหวะ และตามสถานการณ์ (ถามไปก็ตอบไม่ได้ ต้องมาฝึกครับ)
            ดังนั้น จะฝึกบุนไก หรือไม่ฝึก มันขึ้นอยู่ที่ตัวคน ไม่ใช่ตัววิชา

3. No “Osu! / Oss!”
            อันนี้เรื่องปัญญาอ่อนของคนไม่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่น คาราเต้แต่เดิมเป็นของริวกิว หรือโอกินาว่า ไม่ใช่ของญี่ปุ่น ดังนั้นการออกเสียง โอ๊สส ซึ่งเป็นธรรมเนียมญี่ปุ่นจึงไม่มีในโอกินาว่า การจะให้คนโอกินาว่าไป โอ๊สส มันจะเป็นไปได้ไหม
            คำว่า โอ๊สส มาจากธรรมเนียมของ นักเรียนโรงเรียนบูโด ที่เน้นสอนเรื่องการสอนศิลปะการต่อสู้ โดยวิชาหลักสมัยก่อนนั้นมีสองวิชาคือ ยูโด และเคนโด ซึ่งนักเรียนที่จบออกจากโรงเรียนนี้โดยมากก็จะเป็นตำรวจ หรือจบออกไปก็มีชื่อเสียง เป็นทหาร(สมัยก่อนสงครามโลก) ธรรมเนียมนี้เลยติดเป็นเอกลักษณ์ของพวกฝึกต่อสู้ ซึ่งแต่ก่อนตอนที่คาราเต้เผยแพร่เข้าไปสู่โตเกียว ก็ได้อิทธิพลของยูโด คือเซนเซคาโน จิโกโรของยูโดที่ได้แนะนำวิชาคาราเต้จากโอกินาว่าให้ไปเผยแพร่ที่ญี่ปุ่น
            ดังนั้นในวิชาต่อสู้ของญี่ปุ่น ที่ไม่ได้บรรจุเข้าในโรงเรียนบูโด หรือไม่ได้รับอิทธิพล ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีค่านิยมการใช้คำว่า โอ๊สส ก็ได้ ซึ่งจุดนี้ก็ไม่ได้ซีเรียสอะไรมากมาย อย่างพี่โอตาคุบอกว่า โอกินาว่า ใช้คำว่า “ไฮ่” ซึ่งคำนี้ก็ใช้กันทั่วไปอยู่แล้วในหมู่นักศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่น รวมถึงคาราเต้ด้วย มีแต่ฝรั่งนั่นแหล่ะที่ไม่เข้าใจแล้วเอะอะอะไรก็ โอ๊สๆๆๆๆๆๆๆ โอ๊สทั้งที่มันไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องก็โอ๊สไว้ก่อน

4. It’s Not a Sport. It’s a Lifestyle.
            คนที่ฝึกคาราเต้จริงๆ ไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือโอกินาว่า ก็จัดว่าคาราเต้เป็นจิตวิญญาณ เป็นวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นแค่กีฬาอยู่แล้ว จะมีก็แต่นักกีฬาสมัยใหม่เท่านั้น หรือพวกที่ไม่จริงจังในคาราเต้เท่านั้นที่คิดว่าคาราเต้เป็นแค่กีฬา ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬามืออาชีพ หรือนักกีฬามือสมัครเล่นก็ตาม

5. Chinkuchi Over Kime
            เรื่องนี้ต้องบอกว่าเป็นความไม่รู้ส่วนตัวที่มีกันในหลายๆคน โดยเฉพาะนักกีฬา ที่ไม่เข้าใจคำสอนของคาราเต้ แล้วไปตีความคำว่า คิเมะ แปลว่าการเกร็งร่างกายทั้งตัวให้หยุดนิ่งพร้อมๆกัน โดยจุดโพกัสคือจุดเป้าหมายของท่า เมื่ออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไปถึงจุดๆนั้นแล้วให้เกร็งทั้งตัวเพื่อให้หยุดนิ่ง นิยามเหล่านี้เรียกว่า “คิเมะ” ในความเข้าใจของนักคาราเต้เกือบทั้งโลก ที่ถูกสอนมาแบบผิดๆ แต่เชื่อได้ว่าถ้าไปถามเซนเซชาวญี่ปุ่นเกี่ยวกับคิเมะ จะไม่มีใครตอบแบบนี้เลย จะมีแต่ตอบว่า คิเมะ คือการใช้แรงจากร่างกายผ่านข้อต่อ ส้นเท้า เข่า เชิงกราน สะโพก หลัง ไหล่ ศอก หมัดเป็นข้อๆส่งออกมา แสดงออกมา โดยการทำงานแต่ละส่วนอย่างมีระบบแบบแผน นี่คือนิยามคำว่า “คิเมะ” ที่ถูกต้อง ซึ่งมันก็นิยามเดียวกับ  “ชินกูจิ” ที่นายโอตาคุกล่าวถึงว่าในโอกินาว่ามีแต่ญี่ปุ่นไม่มี
            ในบทความยังกล่าวถึง “มุจิมิ” หรือตัวแส้ มือแส้ หมายถึงการทำให้ร่างกายไร้กระดูกเหมือนแส้ ส่งแรงเป็นคลื่นแบบแส้ นัยยะคือส่งแรงผ่านข้อต่อ โดยไม่เกร็งร่างกาย ซึ่งจุดนี้ก็คือ ”คิเมะ” เพราะคิเมะไม่ใช่การเกร็งร่างกาย แต่เป็นการส่งแรง เมื่อถึงจุดที่ปะทะ หรือจุดสิ้นสุดมันก็จะสุดและหยุดนิ่งด้วยตัวมันเอง ไม่ใช่การเกร็งให้หยุด หรือส่งแรงออกไปด้วยอาการเกร็ง หากเกร็งแล้วหมัดที่ออกเทคนิคออกไปนั้นจะแข็งเป็นท่อนๆ และตัวจะเหวี่ยงสั่นไม่สมดุล (เปิดหาคลิปเฮียแชมป์โลกดูได้เลยครับ เกร็งสุดๆ นั่นคือคิเมะแบบเกร็งให้หยุด ไม่ใช่ส่งออกไปฟรีๆแล้วให้หยุดเอง)
            ดังนั้นไม่ว่าจะ มุจิมิ ชินกูจิ หรือคิเมะ ก็คือเรื่องเดียวกันนั่นแหล่ะ
            อีกอย่าง คำว่า คิเมะ อาจจะแปลง่ายๆว่า โฟกัส ซึ่งจะโฟกัสท่าทาง หรือโฟกัสพลังอะไรบ้าบอคอแตกของพวกนักกีฬา แต่สำหรับคาราเต้ ต้องนิยามให้ได้ก่อนว่า คำว่า “คิ” และ “เมะ” คืออะไร
“เมะ” แปลว่า จุดหมาย หรือแปลได้อีกหลายอย่างตามบริบท แต่ไม่รู้ใครเป็นคนริเริ่มให้แปลว่า “โฟกัส รวบรวม” พอมารวมกับคำว่า “คิ” ภาษาอังกฤษแปลว่า พลังงาน บางคนอาจจะแปลว่า พละกำลังจากกล้ามเนื้อ มันถึงได้ไปเกร็งให้มันหยุดกันทั่วโลกไง  ทั้งที่จริงๆ ก็อย่างที่บอก คิเมะ คือการส่งแรงออกไปสู่จุดเป้าหมาย ไม่ได้หมายถึงให้เกร็งร่างกายทั้งตัวให้หยุดนิ่ง
อีกอย่างที่เข้าใจผิดมหาศาลคือ ชอบไปคิดว่าการชกต้องใช้กล้ามเนื้อปีกในการเกร็ง เพราะชอบเห็นเซนเซญี่ปุ่นชี้ให้ดูว่า ใช้ตรงนี้ชก ใช้แรงจากตรงนี้ พี่มึนก็เลยเล่นเกร็งปีกชกกันทั้งโลก(พี่ไทยเป็นกันหมด) แต่จริงๆการชกนั้นคือการใช้สะบักไหล่เปิดปิด มันก็คือปีกที่เซนเซชี้นั่นแหล่ะในการส่งไปด้านหน้าเมื่อชก และดึงกลับเมื่อเก็บหมัด พอไปเกร็งปีกชก ก็ยิ่งสนับสนุนความเชื่อว่าต้องเกร็งทั้งตัวถึงจะคิเมะ เพราะการเกร็งปีกมันทำให้หมัดนิ่งได้ง่ายขึ้นจริงๆ แต่ผิดวิธีการสุดๆ

6. Kobudo Weapons
            เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองเจ้าปัญหาของญี่ปุ่น(เป็นความคิดส่วนตัวผม) ญี่ปุ่นมีวิชาอาวุธมากมาย ไม่ว่าจะเคนจิทสุ โซจิทสุ โบจิทสุ โจจิทสุ คิวโด หรือสารพัดจิทสุ สารพัดโด วิชาของญี่ปุ่นเน้นการค้นหาตัวเอง ค้นหาความถนัดเป็นอย่างๆ ตามวิถีเซน คือ ความง่าย แต่ละเอียด รู้น้อยแต่รู้ลึก รู้อย่างเดียวแต่ชำนาญ ดีกว่ารู้มากมายแต่ไม่ถนัดอะไรสักอย่าง ดังนั้นญี่ปุ่นจึงมีวิชาที่แยกแขนงออกไป ไม่ว่าจะเป็นวิชาทุ่ม วิชาหัก วิชาชกต่อย วิชาดาบ วิชาหอก วิชาทวน พลอง ธนู สามง่าม เชือก หรืออาวุธอื่นๆมากมายหลายสำนัก
            แต่พอพี่คาราเต้มาจากโอกินาว่า มาถึงครั้งแรก สาธิตการป้องกันตัว การต่อสู้แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในญี่ปุ่น แถมยังสาธิตการใช้อาวุธสั้นอาวุธยาวต่างๆ ที่สำคัญสาธิตการสู้กับดาบด้วยอาวุธชาวไร่ชาวนา(ไซ ทอนฟา เอกุ คามะ) คือสื่อให้เห็นว่า วิชาคาราเต้วิชาเดียว ได้ทั้งมือเปล่า ทุ่ม หักและอาวุธ แล้ววิชาดั้งเดิมของญี่ปุ่นมันจะเอาหน้าไว้ไหน เป็นการสร้างความสั่นสะเทือนวงการต่อสู้ให้ญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ แถมยังมีวิชาหมัดหนึ่งนิ้วแบบมวยจีนอีก(ก็คาราเต้เป็นมวยจีนนี่นา) คิดเอาละกันว่าญี่ปุ่นแกจะจัดการยังไงกับคาราเต้ จะส่งคาราเต้กลับเกาะบ้านนอก หรือจะเก็บนักคาราเต้ไปเข้าเฝ้าเอ็นมะโอ(ยมบาล) คาราเต้ก็ต้องลดบทบาทลงสิครับ จากวิชาสารพัดประโยชน์ จึงกลายเป็น ลดวิชาทุ่มเพื่อไว้หน้ายูโด ลดวิชาหักล๊อคเพื่อไว้หน้าไอคิโด ลดวิชาอาวุธต่างๆให้เพื่อไว้หน้าวิชาอาวุธของญี่ปุ่น เหลือแต่วิชาต่อสู้ด้วยการชกเตะศอกเข่า ซึ่งในญี่ปุ่นไม่ค่อยมีสอนกันนัก มันจึงเป็นต้นกำเนิดของคาราเต้ปัจจุบันในญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยมีสอนเรื่อง บุนไก กับเรื่องอาวุธนัก คาราเต้ญี่ปุ่นถึงต้องพัฒนาตัวเอง ฝึกฝนหมัดเดียวให้พิชิตวิชาอื่นๆให้ได้ ด้วยการฝึกพื้นฐานขา พื้นฐานร่างกาย การส่งแรง ระยะ จังหวะ และความแม่นยำให้สูงที่สุด ในสมัยก่อนไม่ว่าจะอะไรก็ตาม โชโตกันถึงได้เก็บคู่ต่อสู้ได้ด้วยหมัดตรงที่เร็วและแรงแม่นยำเด็ดขาดที่สุดเสมอ (ส่วนปัจจุบันจะมีคนฝึกถึงระดับสมัยก่อนรึเปล่าอันนี้ก็อีกเรื่อง ไม่ขอพูดละกัน เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องวิชา)       

7. Old-School Strength Tools
อย่างที่บอกไปในข้อที่สอง คาราเต้ญี่ปุ่นเน้นว่า อย่างไรถึงจะส่งแรงได้ มากกว่าที่ว่าท่านั้นท่านี้ใช้ยังไง จึงเป็นต้นกำเนิดของการฝึกท่าเดียวเพื่อพิชิตศัตรู ครูบาอาจารย์ในสายวิชาโชโตกันได้เล็งเห็นแล้วว่า พื้นฐานของคาราเต้นั้นสำคัญที่สุด อีกทั้งยังสามารถเสริมสร้างสมรรถภาพทางร่างกายได้เป็นอย่างดี หากได้รับการฝึกอย่างถูกต้อง การฝึกพื้นฐานคือการฝึกให้ร่างกายได้รับการฝึกฝนในท่วงท่าที่จำลองมาจากการต่อสู้ เป็นการฝึกร่างกายในส่วนที่ใช้งานในการต่อสู้ในระบบของวิชานั้นๆ ดังนั้นการฝึกร่างกายให้เหมาะสมกับวิชาคาราเต้ ก็ต้องฝึกคาราเต้ ไม่ใช่ไปฝึกเล่นเวทยกน้ำหนัก ถึงแม้ว่าการฝึกเวทยกน้ำหนักจะถูกออกแบบอุปกรณ์ หรือออกแบบท่าทางให้เหมาะกับคาราเต้อย่างไร มันก็ไม่อาจสู้การฝึกท่วงท่าจริงๆด้วยร่างกายจริงๆไม่ได้
ในการฝึกแบบโชโตกันนั้น แต่โบราณมาแทบจะไม่มีการฝึกเวทเลย มีแต่ฝึกกล้ามเนื้อโดยใช้พื้นฐาน เช่นการเก็บหมัดให้ถูกต้อง การส่งแรงให้ถูก การฝึกเคลื่อนไหวด้วยท่าพื้นฐาน กาต้า และคิฮงคุมิเต้ การฝึกกล้ามเนื้อจำพวกอื่นๆเช่นการวิดพื้น การยกน้ำหนัก การวิ่ง การหวดดาบไม้ การใส่เกี๊ยะเหล็กเตะ พวกนี้เป็นการฝึกเพื่อเรียกแรงเท่านั้น โดยมากจะให้ทำตอนก่อนซ้อมหรือหลังซ้อม โดยให้เหตุผลว่า ให้กล้ามเนื้อร่างกายทั้งหมดเหนื่อยจนหมดแรง เพื่อดึงความจำของร่างกายมาใช้จดจำการเคลื่อนไหว แทนที่จะใช้สมอง เมื่อร่างกายเหนื่อยหมดแรงแต่หากเรายังคงทำท่านั้นๆ กล้ามเนื้อจะจดจำการทำงานในส่วนนั้นๆท่านั้นๆ และจะจำและหาอีกด้วยว่าทำอย่างไรถึงจะประหยัดแรงให้ได้มากที่สุด โดยที่ยังสามารถส่งแรงออกมาได้มากที่สุด
จะเห็นว่านักคาราเต้โชโตกันรุ่นก่อนๆ แทบจะไม่ได้ฝึกเวทกันเลยแต่กล้ามเนื้อร่างกายเข้ารูปกันหมด (ยกเว้นคนอ้วน)(เมื่อก่อนผมก็เหมือนกันกล้ามเป็นมัดๆ แต่ไม่เคยฝึกเวทเลย ให้วิดพื้นวิดขึ้นสุดลงสุดได้ไม่เกิน30ด้วยซ้ำไป)

8. Tuidi Techniques
จะเป็น ทุยดี้ โทเต้ โทดี้ หรือจะเทคนิคไหน มันก็คือ บุนไกนั่นแหล่ะ จะบอกว่าโอกินาว่ามีสอน ทุยดี้เทคนิค คือเทคนิคโบราณของคาราเต้ มันก็ออกจะงี่เง่า (ผมไม่ชอบเรียกด้วยภาษาริวกิว ขอเรียกว่าโทเต้ตามญี่ปุ่นละกัน เรียก ทุยดี้ มันจั๊กกะจี้)  ทุยดี้ หรือโทเต้มันก็คาราเต้นั่นแหล่ะ แต่ก่อนคาราเต้ได้รับวิชามาจากมวยจีนใต้ ซึ่งเน้นเรื่องฝ่ามือเหล็ก การแทง การสกัดจุด เช่นการใช้นิ้ว ใช้ข้อมือ ใช้ฝ่ามือ แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่านักคาราเต้ใช้ไม่ค่อยเป็น จุดนี้ไม่ต้องมองคาราเต้ครับ มวยจีนเองก็เหมือนกัน ในตัววิชามีเทคนิค แต่คนฝึกไม่ค่อยได้ฝึกกัน อาจจะเนื่องจากสูตรยาที่หายขาดช่วงไป หรืออะไรก็แล้วแต่ แต่จริงๆส่วนนี้มันก็แฝงอยู่ในบุนไกนั่นแหล่ะ หากคุณเข้าใจบุนไก และฝึกฝนมันมากพอ คุณก็จะทำมันได้ พวกที่รู้ว่าบุนไกยังไงแต่ไม่ฝึกบ่อยๆก็ใช้จริงไม่ได้เหมือนกัน
การจะใช้เทคนิคโทเต้นั้น อาจจะต้องฝึกความแข็งแกร่งของมือ เพราะต้องใช้ข้อมือ ข้อนิ้ว ในการกระแทก ดังนั้นนักคาราเต้ทั่วไปอาจจะไม่สามารถทำได้ จึงเป็นเหตุให้พูดว่าคาราเต้ปัจจุบันทำไม่ได้ แต่โอกินาว่าทำได้ ทั้งที่มันเป็นเรื่องของการฝึกฝน อย่างผมที่เมื่อก่อนฝึกความแข็งแรงของนิ้วกับหมัดด้วยการชกการตีมากิวาร่า ก็สามารถที่จะต่อย ใช้ข้อกระแทก หรือใช้นิ้วโจมตีในบางจุดได้เหมือนกัน
เทคนิคในโทเต้นั้น มันก็คือบุนไกกาต้านั่นแหล่ะ แต่เพียงว่าซ้อมจนชำนาญจนบางทีแค่จับ กดจุด บีบมือเล็กน้อย ก็สามารถควบคุมร่างกายคู่ต่อสู้ได้ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของบุคคลในการฝึกไม่ใช่ตัววิชา

9. Individualization Over Mass Training
โอกินาว่าซ้อมแบบส่วนตัว แต่ญี่ปุ่นซ้อมแบบกลุ่มหลายๆคน  เรื่องนี้ผมก็ไม่เห็นจะแตกต่าง เพราะตัวพี่โอตาคุไม่เข้าหาครูบาอาจารย์เองรึเปล่า ถึงไม่ได้รับการสอนแบบส่วนตัว หรือจะเพราะเหตุผลใดอันนี้ก็ไม่ทราบได้
ผมอยากให้พี่ดูครับว่าเกาะโอกินาว่านั้นเล็กขนาดไหน และพี่คงรู้ว่าที่ดินในญี่ปุ่นนั้นแพงมาก การจะสร้างยิมใหญ่ๆนั้น พี่ต้องเป็นเศรษฐีครับ การจะเป็นครูมวยต๊อกต๋อย ไม่ว่าจะเก่งเยี่ยงเทพปานใด ก็ไม่สามารถเช่าที่เปิดยิมได้เป็นเวลานานหรอกครับ ยกเว้นพี่จะมีสาขาทั่วโลกมีศิษย์เป็นล้านมาจ่ายค่าเรียนวิชากับพี่โดยไม่ขาดช่วง อย่าลืมครับว่าคาราเต้ ไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือโอกินาว่า การสอนนั้นมีจรรยาบรรณของสำนัก ของวิชาอยู่ บางสำนักสอนไม่เก็บเงิน บางที่สอนถูกๆ (ผมเรียนกับอาจารย์มาท่านกรุณาสอนเป็นวิทยาทานจนผมมีทุกวันนี้ได้) ซึ่งก็ต้องดูเหตุปัจจัยในการเก็บค่าเรียนด้วย แน่นอนค่าเรียนไม่ใช่แพงอย่างคอร์สทำอาหาร คอร์สฟิตเนส ดังนั้นโรงฝึกคาราเต้แต่เดิมๆโดยเฉพาะโอกินาว่านั้นถึงได้เล็ก เพราะมันเป็นโรงฝึกในบ้านคน อาจจะมีจำกัดว่าฝึกได้ไม่กี่คนต่อรอบ สำนักคาราเต้ในโอกินาว่าโดยเฉพาะเมืองนาฮา ถึงได้เกิดขึ้นบานเป็นดอกเห็ด และด้วยผู้ฝึกที่น้อย ถึงได้มีการฝึกส่วนตัว
ส่วนในญี่ปุ่น เหตุที่คาราเต้เผยแพร่ไปในญี่ปุ่น ได้กล่าวมาแล้วว่า เซนเซคาโนของยูโดได้เชิญเซนเซฟุนาโคชิของโชโตกันเข้าไปเผยแพร่ที่โตเกียว โดยสอนที่มหาวิทยาลัยเป็นหลัก ดังนั้นการเผยแพร่ก็ต้องสอนทีนึงหลายๆคนเป็นสิบๆคน หลายสิบคน เน้นปริมาณก่อน แล้วค่อยมาเน้นคุณภาพตามทีหลัง ใครที่สนใจก็ฝึกต่อให้เกิดความเชี่ยวชาญ เข้าหาครูบาอาจารย์ขอความรู้ ไม่ใช่ฝึกแล้วก็กลับบ้านไม่กระตือรือร้นขวนขวาย
ครูบาอาจารย์กรุณาเล่าให้ผมฟังในสมัยที่ท่านฝึกกับปรมาจารย์(อาจารย์ของอาจารย์) ท่านฝึกจากมหาวิทยาลัยหนึ่งเสร็จแล้วยังต้องฝึกกันต่อ บางวันที่อาจารย์ไม่มา ก็ต้องตามไปฝึกกับอาจารย์ที่ไปสอนให้อีกมหาวิทยาลัยอื่น วันไหนไม่สอนในมหาวิทยาลัย ก็ต้องตามไปฝึกที่โรงฝึกส่วนตัวของอาจารย์ ไม่ใช่ว่าฝึกกันเป็นกลุ่มๆในชมรมพอหมดเวลาแล้วก็เลิก ฝึกในชมรมมันจะไปได้วิชาได้อย่างไร
ตอนสมัยที่ผมฝึกแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นมวยจีนหรือคาราเต้ ผมฝึกกับอาจารย์เสร็จ ผมยังมาฝึกเองต่อ ไปบ้านอาจารย์เพื่อขอความรู้ พาอาจารย์ไปกินข้าว(แต่ส่วนใหญ่อาจารย์จะชวนไปกินแล้วท่านก็เลี้ยงข้าวเรามากกว่า) เวลาส่วนตัวที่อยู่กับอาจารย์เหล่านี้ก็คือช่วงเวลาที่อาจารย์ท่านสอนอะไรต่างๆให้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชามวย ประวัติต่างๆ ปรัชญาวิชา รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วย อาจารย์ท่านสอนว่า คาราเต้นั้นไม่ใช่เพียงแค่กีฬาอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกัน แต่คาราเต้นั้นคือชีวิตของคนๆหนึ่ง คาราเต้คือธรรมชาติเราสามารถนำสิ่งที่อยู่ในคาราเต้มาใช้ในชีวิตของเราได้ หากเรารู้จักคาราเต้ที่แท้จริง และที่สำคัญที่สุดที่อาจารย์บอกผมมาคือ คาราเต้นั้นสอนให้เรารู้จักสังคมปัจจุบัน (ท่านสอนให้เราดูคนจากคาราเต้)
ดังนั้นเรื่องการสอนส่วนตัวนั้น ผมไม่คิดว่ามันเป็นเฉพาะในโอกินาว่าคาราเต้ แต่ที่พี่โอตาคุว่าอย่างนั้นเพราะพี่แกไม่เข้าใจเรื่องสภาพสังคมการเป็นอยู่ของคนญี่ปุ่น และไม่รู้จักวัฒนธรรม และไม่รู้จักการเข้าหาผู้ใหญ่

ตัวผมเคยโดนเพื่อนคนหนึ่งกล่าวหาว่าสิ่งที่ผมสอนนั้นไม่ใช่คาราเต้ อาจจะด้วยความคิดที่ว่าเขาฝึกคาราเต้มาก่อนผมหลายปี และไม่เคยเห็นสิ่งที่ผมสอนในวิชาคาราเต้ ผมจึงอธิบายไปว่า คุณฝึกแต่เพียงในชมรม หรือในคลาสที่อาจารย์ท่านสอน เฉลี่ยไม่เกินอาทิตย์ละ3-4วัน วันนึงไม่เกิน2ชั่วโมง แต่ผมฝึกกับอาจารย์ทุกวัน หนึ่งอาทิตย์มี7วัน ผมฝึก6วัน โดยทุกวันผมฝึกวันละ3ชั่วโมง และทุกๆวันจันทร์ผมฝึกกับอาจารย์ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสองทุ่ม เวลากินข้าวกินเหล้ากับอาจารย์ อาจารย์ก็สอน ก็อธิบาย เวลาไปบ้านท่านท่านก็สอน นี่ยังไม่รวมช่วงเวลาฝึกเก็บตัวในเวลาส่วนตัวที่อาจารย์เรียกซ้อมต่างหากอีก คุณแค่ฝึกก่อนหลายปี แต่สิ่งที่คุณได้เรียนมันเท่าผมรึเปล่า ................ เอาง่ายๆ จะมีคนสักกี่คนที่ได้กินข้าวที่อาจารย์เป็นคนหุงให้ จะมีสักกี่คนที่อาจารย์เดินมาปลุกลากจากที่นอนให้ไปซ้อมตอนเช้า

10. Uchinaa-guchi
เรื่องนี้พูดไปแล้ว มันคือ ภาษาโอกินาว่า หรือภาษาริวกิว อย่างเช่น คำว่าคาราเต้ ถ้าเรียกตามโอกินาว่า ก็สามารถเรียกได้ว่า โทดี้ ทุยดี้ หรือภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า โทเต้ หรือคาราเต้ มันก็คือภาษาถิ่นของญี่ปุ่นนั่นแหล่ะ จะให้คนโอกินาว่าไปใช้โอ๊สส ที่เป็นภาษาของนักสู้ชาวญี่ปุ่น หรือจะให้คนญี่ปุ่นใช้ภาษาโอกินาว่า มันก็แปลกๆ มันใช่เรื่องไหมหล่ะ
เราเข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตาม เหมือนอย่างเพลง “นาดะโซวโซว” เป็นเพลงภาษาโอกินาว่า ซึ่งคำว่า นาดะ แปลว่าน้ำตา แต่ในภาษาญี่ปุ่นอ่านว่า “นามิดะ” จะให้ร้องเพลงนี้ที่ใช้ทำนองที่ออกแบบมาเพื่อภาษาโอกินาว่า โดยร้องด้วยภาษาญี่ปุ่นมันก็ไม่เข้ากัน
เราไปฝึกคาราเต้ที่โอกินาว่า เราก็ต้องฟังศัพท์ให้ออกว่าเขาสอนโดยใช้ศัพท์ไหน ศัพท์อะไร แปลว่าอะไร พอมาถึงญี่ปุ่นเราก็ต้องใช้ศัพท์ตามที่คนญี่ปุ่นเขาใช้กัน เพราะใช้ภาษาโอกินาว่า คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร
มันก็เหมือนเราไปอีสานแล้วพูดว่า “ดั้กปิ้ง” หรือไปเชียงใหม่แล้วพูด “มิดจี่หลี่” คนก็จะไม่เข้าใจกัน
สรุปการที่จะให้คนญี่ปุ่นไปใช้ภาษาโอกินาว่า มันก็ใช่เรื่อง.... จะให้นักคาราเต้ที่เรียนคาราเต้กับคนญี่ปุ่นหัดภาษาโอกินาว่า แล้วคนญี่ปุ่นจะสอนภาษาโอกินาว่าให้ได้ไหม....

จบครับ นานาจิตตัง แล้วแต่ปัญญาพิจารณาเฉพาะตน ผมวิเคราะห์ให้เฉยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น