วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ตะลุยกังฟู ตอนที่ 2 ทำไม ไทเก็ก


ตะลุยกังฟู ตอนที่ 2 ทำไม ไทเก็ก

ตอนที่แล้วก็ได้เกริ่นกันไปบ้างแล้วเกี่ยวกับมวยไทเก็ก และคุณประโยชน์ของการฝึกไทเก็ก ว่าสามารถฝึกฝนเพื่อใช้ในการบำบัดสุขภาพกาย พัฒนาสุขภาพจิต อีกทั้งยังเป็นการฝึกฝนทักษะการป้องกันตัวเอง จนเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก แต่เพราะอะไร ทำไมไทเก็กถึงมีคุณประโยชน์ขนาดนั้น

                มวยไทเก็ก หรือ ไท่จี๋เฉวียน เป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่มีลักษณะช้า และผ่อนคลายเป็นหลัก ตามหลักการ ในการเคลื่อนไหวแสวงหาความสงบ ในความสงบแสวงหาความเคลื่อนไหว(动中求静,静中求动Dòng zhōng qiú jìng, jìng zhōng qiú dòng) พื้นฐานไทเก็กนั้น เราเคลื่อนไหวให้เชื่องช้า เพื่อให้สติของเรามีเวลาสำรวจพิจารณาการเคลื่อนไหวของร่างกายของเรา เป็นการทำสมาธิให้จดจ่อสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียวกับการเคลื่อนไหว ดั่งคำว่า ในความเคลื่อนไหวแสวงหาความสงบ และเป็นการพิจารณา ว่าในการเคลื่อนไหวในทักษะใดทักษะหนึ่งนั้น เคลื่อนไหวได้อย่างถูกต้องหรือไม่ มีอาการเกร็ง ใช้แรงเกินความจำเป็นหรือไม่ การขยับนั้นสอดคล้องสัมพันธ์กับร่างกาย บนล่างตามกัน(上下相随Shàng xià xiāng suíนอกในผสาน(内外相合Nèi wài  xiàng héเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการใช้ทักษะต่างๆด้วยศักยภาพร่างกายของเราให้ได้มากที่สุด

  เมื่อร่างกายเคลื่อนไหวด้วยความช้า สงบ เปี่ยมไปด้วยจิตสมาธิที่นิ่งสงบ เราจะพบเห็นการเคลื่อนไหวมากมายที่อยู่ภายในร่างกาย เช่นลมหายใจที่เข้าออกขึ้นลง การถ่ายเทน้ำหนักของร่างกาย การใหลเวียนของโลหิต และลมปราณ(气เป็นต้น ดั่งคำว่า ในความสงบแสวงหาความเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงพื้นฐาน ในการฝึกพัฒนาตนเอง เป็นการตีความเฉพาะแนวทางการฝึกด้านร่างกาย และสมาธิในเบื้องต้นเท่านั้น

                การเคลื่อนไหวร่างกาย เคลื่อนไหวด้วยความช้า ผ่อนคลาย สงบ ผสานกับลักษณะกลมโค้งของท่ามวยไทเก็กแล้ว การรำมวยไทเก็กจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างความสมดุลทางร่างกาย การเคลื่อนเบาผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายปราศจากแรงกระแทกมากระทบข้อกระดูกต่างๆ การเคลื่อนไหวที่ช้าทำให้มีเวลาสำรวจการเคลื่อนไหวของร่างกายให้ลดและเลิกพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างผิดธรรมชาติ จนเกิดการสะสมจนอักเสบเรื้อรังได้

                ไทเก็กเมื่อรำจะต้องมีจิตสมาธิที่พร้อมในทุกท่วงท่าการเคลื่อนไหวในชุดท่ารำ ที่มีการเคลื่อนไหวสมดุลสลับผลัดเปลี่ยนต่างๆนานาผสานการเคลื่อนไหวที่ช้า หากในการฝึกนั้นเกิดสมาธิวอกแวก การเคลื่อนไหวไม่ถูกต้อง ก็อาจจะทำให้เกิดการเสียหลัก เสียสมดุลจนเซ ยืนไม่มั่นคงได้ ดังนั้นเมื่อเราได้ฝึกไทเก็กจนเกิดความเคยชิน ก็จะทำให้ทุกๆการเคลื่อนไหวของเรานั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยจิตสมาธิ ประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยม  พร้อมร่างกายที่ถูกฝึกให้แข็งแรง กำลังขากำลังกายมีพละกำลัง มีสมดุลที่ดี


                ดังนั้น ไทเก็กจึงถูกเลือกให้เป็นอีกศาสตร์หนึ่งที่ใช้ในการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย และจิตใจไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากจะทำให้มีสติสมาธิมากขึ้น ไม่หลงไม่ลืม และมีประสาทสัมผัสที่ดีไม่เสียหลักหกล้มง่ายๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสามารถฝึกฝนเรียนไทเก็กได้ในตอนสูงอายุแล้ว การศึกษาการเรียนที่ดีนั้น เริ่มต้นได้ทุกเพศทุกวัย ขอเพียงมีใจที่จะศึกษาอย่างจริงจัง คุณประโยชน์ของไทเก็ก ก็พร้อมจะเข้าสู่ร่างกายและจิตใจของคุณ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น