บทสนทนาธรรมระหว่างพระรูปหนึ่งกับโยมคนหนึ่ง
---------------------------------
โยม- ทำอย่างไรถึงจะมีบารมี และอำนาจหรือคะ
พระ- ก็ต้องไปขอเจ้าอาวาสกับ
พระวิปัสสนาจารย์วัดนี้ท่านหล่ะนะ เพราะท่านชื่อ ปารมี กับอำนาจ
พระ- ฮ่าๆๆ ทำอย่างไรถึงจะมีบารมี และอำนาจหรอ
จะว่าไงดีนะ แล้วโยมคิดว่า บารมีกับอำนาจเนี่ยมันมาได้อย่างไรหล่ะ
ไม่ต้องไปคิดถึงอดีตชาตินะ เอาแค่ปัจจุบันนี่แหล่ะ
โยม- อืมมมมมมมม.......
พระ- เราอยากให้ใครทำกับเราอย่างไร
เราก็ควรทำอย่างนั้นกับเขาก่อน โยมอยากเป็นคนมีบารมี มีอำนาจ
โยมก็ต้องทำตัวเองให้ดีก่อน บารมีเนี่ย โยมก็ต้องทำตัวให้เป็นคนดี มีเมตตา
รู้จักเกรงอกเกรงใจคนอื่น อ่อนน้อมถ่อมตน ตั้งมั่นอยู่ในความดี ทำดีกับผู้อื่น
แล้วคนอื่นเขาก็จะรักเราเหมือนที่เรารักเมตตาเขา
จะเกรงใจเราเพราะเกรงในบารมีความดีของเรา
เขาก็จะช่วยเหลือเราเพื่อตอบแทนในความดีของเรา นี่แหล่ะบารมีเขาวัดกันที่ตรงนี้
ส่วนอำนาจเนี่ยมันก็เกิดจากบารมีของโยมนี่แหล่ะ ว่าโยมตั้งมั่นในศีลธรรมมากขนาดไหน
ตั้งมั่นในความดีมากขนาดไหน คนทั่วไปเขาเกรงกันที่ความดี เขาไม่ได้เกรงกันที่อิทธิพล
อิทธิพลมันของจอมปลอม แต่ความดีนี่มันของจริง
โยม- เจ้าค่ะ
พระ- มันก็ต้องขึ้นกับว่าโยมจะสร้างกรรมแบบไหนนั่นแหล่ะ
พระพุทธเจ้าท่านสอนเรื่อง เหตุต้นผลกรรม ทุกสิ่งมีเหตุปัจจัย
บารมีกับอำนาจมันก็เกิดด้วยกรรมนี่แหล่ะ ใช่ว่าอยู่ดีๆมันจะมีมาเลย อย่างว่านะ
เราไม่ต้องไปมองถึงอดีต เรามองปัจจุบันชาติก็พอ ถ้าเราไม่ทำตัวให้ดี
ไม่ทำตัวให้น่าคบหา น่าเชื่อถือ น่าเกรงขาม แล้วใครเขาจะมาเชื่อฟังเรา
มาอยู่ใต้อาณัติเรา เราคิดไม่ดีกับเขาเขาก็คิดไม่ดีกับเรา มันก็เท่านั้นเอง
พระ- แต่อย่างพวกคนที่เขามีบริวาร
มีอันจะกินทั้งหลายเนี่ย ทำไมบางคนเขาทำตัวไม่ดีแต่เขามีบริวารดี มีบารมีมีอำนาจ
เรื่องแบบนี้เราก็ตอบได้แต่เพียงว่า
นั่นก็เป็นผลกรรมของเขาที่เขาเคยสร้างเอาไว้เมื่อชาติก่อน
บริวารเขาก็ตามมาถึงชาตินี้ แต่ถ้าชาตินี้เขาไม่สร้างกรรมดีให้เกิดบารมีเกิดอำนาจ
เอาแต่กดขี่ข่มเหง บริวารเขาก็ไม่ตามเขาไปถึงชาติหน้าหรอก
พระ- บางคนที่ทำตัวดี แต่บริวารไม่ซื่อสัตย์ก็มีใช่ไหม นั่นก็เพราะเขาอาจจะทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต อาจจะเคยทำตัวไม่ดีกับเจ้านาย คดโกงทุจริตงาน ชาตินี้เขาเลยต้องมาใช้กรรมแบบนั้นให้ลูกน้องคดโกงไม่เชื่อฟัง หรือโดนลูกน้องหักหลังทรยศโกงกิน แต่ไม่ใช่ว่ากรรมเก่าดีหรือไม่ดีชาตินี้ก็จะไม่ทำอะไรเลยนะ ของแบบนี้มันสร้างกันได้ หากกุศลกรรมมันแซงหน้าอกุศลกรรมได้ หรืออกุศลกรรมมันหมดสิ้นไปแล้ว อานิสงค์ของกรรมดีที่เราเคยทำไว้ก็จะออกดอกออกผลให้เราได้เชยชมอิ่มหนำสำราญ
พระ- บางคนที่ทำตัวดี แต่บริวารไม่ซื่อสัตย์ก็มีใช่ไหม นั่นก็เพราะเขาอาจจะทำกรรมไม่ดีไว้ในอดีต อาจจะเคยทำตัวไม่ดีกับเจ้านาย คดโกงทุจริตงาน ชาตินี้เขาเลยต้องมาใช้กรรมแบบนั้นให้ลูกน้องคดโกงไม่เชื่อฟัง หรือโดนลูกน้องหักหลังทรยศโกงกิน แต่ไม่ใช่ว่ากรรมเก่าดีหรือไม่ดีชาตินี้ก็จะไม่ทำอะไรเลยนะ ของแบบนี้มันสร้างกันได้ หากกุศลกรรมมันแซงหน้าอกุศลกรรมได้ หรืออกุศลกรรมมันหมดสิ้นไปแล้ว อานิสงค์ของกรรมดีที่เราเคยทำไว้ก็จะออกดอกออกผลให้เราได้เชยชมอิ่มหนำสำราญ
โยม- แล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ได้ว่าหมดกรรมทั้งหมดแล้วหล่ะเจ้าคะ
พระ- อู๊ยยย สิ้นกรรมทั้งหมด คือเข้าพระนิพพานนะโยม
มันหมายถึงว่าโยมต้องตัดได้ทุกอย่างสิ้นกิเลสหมด
โยม- นั่นสิเจ้าคะ เพราะกรรมมันก็มาเรื่อยๆ
เราก็ผูกไปเรื่อยๆ
พระ- ใช่โยม กรรมเนี่ยหลักๆที่เรารู้มันมีสอง คือ อกุศล
กับ กุศล กุศลเราทำดีชาติหน้าเราก็เกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นมนุษย์บ้าง
ถ้าเราทำชั่ว ก็จะเกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัมภเวสีบ้าง หรือไปใช้กรรมในนรกบ้าง
ดังนั้นไม่ว่าจะกรรมดีกรรมชั่ว
มันก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนั้นต่อไปไม่จบสิ้นสักที
โยม- แล้วทำยังไงถึงจะสิ้นไป พ้นไปได้หล่ะเจ้าคะ
พระ- ก็ทางที่พระพุทธเจ้าสอนนี่ไงโยม อริยสัจสี่
มรรคมีองค์แปดนี่ไง ทางดับทุกข์พระพุทธเจ้าก็สอนมาตลอด
ทางพ้นทุกข์เนี่ยต้องใช้ปัญญาพิจารณา เป็นวิปัสสนาญาณ
เป็นทางเดียวที่สามารถหลุดพ้นได้ ที่อื่นไม่มี มีในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
โยม- อย่างนี้ก็ต้องนั่งสมาธิอย่างเดียวหรอเจ้าคะ
พระ- สมาธิมันมีสองแบบ คือวิปัสสนา กับ สมถะ
การทำสมาธิแบบสมถะคือการทำให้จิตนิ่งจนเกิดฤทธิ์ เกิดอำนาจ
แต่นั่นไม่ใช่ทางหลุดพ้นของพระพุทธเจ้า ทางหลุดพ้นของพระพุทธเจ้าคือ วิปัสสนา
สติปัฏฐานสี่ คือตามรู้กาย เวทนา จิต และธรรมตามความเป็นจริง
การเจริญสติแบบวิปัสสนาเนี่ย เราจะทำในอิริยาบถไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่ง
หรือเดินจงกรม ขอเพียงมีสติรู้ตัว แต่พื้นฐานก็คือนั่งสมาธิดูลมหายใจ
หรือดูท้องพองยุบ ไม่ก็เดินจงกรมดูการเคลื่อนไหวของกาย นี่คือพื้นฐาน
โยม- แล้วมันจะตัดได้ยังไงหล่ะเจ้าคะ
พระ- มันก็อยู่ที่ปัญญาของโยมนี่แหล่ะ วิปัสสนาคือตัวปัญญา
วิปัสสนาเนี่ยเราฝึกให้รู้ทันจิตกับกายตัวเอง เหมือนบางคนเนี่ยทะเลาะกับแฟนมา
โมโหโกรธมาก พอเพื่อนมาห้ามบอกว่า ใจเย็นๆอย่าโกรธสิ ค่อยๆคุย มีสติหน่อย
คุณเธอกลับตอบว่า โอ๊ย ฉันรู้ตัวเองดี ฉันไม่โกรธ ฉันมีสติดี ............เอ้า...........คุณเธอรู้หรอว่าเธอกำลังโกรธ
ถ้ารู้แล้วทำไมยังโกรธอีกหล่ะ เพราะมันอดไม่ได้ใช่ไหม
นั่นแหล่ะจิตมันตามอารมณ์ไม่ทัน มันหลงไปตาม โลภะ โทสะ โมหะ
ถ้าจิตมันตามทันมันก็จะรู้ว่าเออ...ช่างมันก่อน
โกรธเป็นฟืนเป็นไฟมันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ไอ้ที่มันอดไม่ได้นี่แหล่ะตัวดีเลยคุณโยม
เพราะจิตมันตามไม่ทัน ดังนั้นนี่แหล่ะคือจุดประสงค์ในการฝึกวิปัสสนา ให้เรารู้ทันจิตตัวเอง
พระ- วิปัสสนา สติปัฏฐานสี่เนี่ยนะ แบ่งการฝึกเป็น กาย
เวทนา จิต ธรรม ทีนี้กายคืออะไร กายก็คือพื้นฐานฝึกดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่นเดินซ้าย-ขวาสลับกันไป
เดินไปเรื่อยๆใจไปคิดเรื่องที่บ้านซะแล้ว พอเรารู้ตัวก็ต้องหยุดแล้วก็กลับมาดูอาการของการเดินซ้ายขวาใหม่
หรือเรานั่งสมาธิดูลมหายใจ พอง-ยุบสลับกันไป
อยู่ดีๆคิดเพลินไปถึงเรื่องธุรกิจเสียแล้ว ก็ต้องดึงจิตให้กลับมาสนใจการหายใจใหม่
เราต้องทำไปเรื่อยๆจนเกิดความชำนาญ จิตไม่วอกแวกสอดส่าย ไม่ได้มีใครเกิดมาแล้วสามารถทำได้เลยในทันทีหรอก
พระ- เมื่อเราเริ่มชินกับการดูกายแล้ว เราก็เริ่มนั่งสมาธิได้นานขึ้น
เดินได้นานขึ้น อาการปวดเมื่อยก็เกิด นี่แหล่ะเวทนา เราก็ต้องมาพิจารณาว่า อ๋อ...นี่คือความปวด
ปวดเพราะอะไร เมื่อรู้แล้วว่าปวดก็ปล่อยมันไป ถ้ามันไม่หายปวดก็ภาวนาให้จิตไปจับที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจนความปวดมันหายไป
ตรงนี้สำคัญนะโยม บางทีอาการปวด เวทนาที่เกิดขึ้นมันหลอกเรา กายมันไม่ได้ปวดหรอก
แต่ใจมันปวด เราต้องแยกให้ออก แยกรูปแยกนามให้ออก อย่างหลวงปู่บุดดาท่านอาพาธ
แต่ท่านไม่เคยร้องอะไรเลย หมอก็ถามว่าหลวงปู่ไม่เจ็บเลยหรอ หลวงปู่ตอบว่า
ก็กายมันเจ็บนี่ แต่ใจมันไม่เจ็บ ใจไม่จับที่กาย มันแยกกันแล้วมันจะเจ็บได้ยังไง
ใจฉันยังสบายอยู่ นั่นคือท่านแยกรูปนามได้แล้ว แต่อย่างเรา เรายังต้องค่อยๆดู
ค่อยๆอาศัยกำลังสมาธิจิตของเราพิจารณา บางทีเรานั่งจนปวดขา
หากมันเป็นเวทนาที่เกิดจากจิตมันหลอกเรา
หากเรานั่งภาวนาด้วยจิตแน่วแน่อาการเวทนานั้นก็หายไปเอง
แต่ถ้าอาการนั้นมันเกิดจากกายจริงๆก็ต้องดูกันเป็นกรณีไป
ลุกขึ้นมาอาจจะเป๋ๆเซๆเอาได้
โยม- 55555
พระ- ก็คือนี่แหล่ะ เราปฏิบัติไป
เราก็ต้องมีสติรับรู้ทุกสิ่งรอบตัว แล้วมันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยึดหรือปล่อยมัน พิจารณามันไป อะไรที่มันกระทบจิตเรา
เราก็พิจารณาไป รู้ทันมัน พอทำไปเรื่อยๆมันก็จะเกิดคำถามให้เราพิจาณาตามข้อธรรมไปเรื่อยๆนั่นแหล่ะ
เช่น นั่งนานๆแล้วปวด พอนั่งภาวนาไปเรื่อยๆอีกหายปวด เออ
อาการปวดนี่มันไม่เที่ยงเนาะ เกิดมาก็ดับไป เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา
อารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจเรา มันมีอะไรมากระทบ มันก็แค่เดี๋ยวด๋าวผ่านมาก็ผ่านไป
เราไปจับมัน มันก็เกิดปรุงแต่ง เราไม่จับมัน มันก็ไม่ทุกข์ มันก็แค่นี้เอง
ถ้าเราพิจารณาได้แบบนี้ ก็พิจารณาให้มากขึ้นเรื่อยๆ
โยม- หนูเนี่ยบางทีก็ทำได้นะคะ เวลาที่มีสติรู้ตัวเนี่ย
ถ้าโกรธใครพอรู้ตัวมันก็หยุดโกรธได้ เวลาไปยึดกับอะไรเข้าเนี่ย
ก็จะหยุดได้ถ้ามีสติ แต่ทีนี้จะทำอย่างไรให้เรารู้ตัวอยู่ตลอดคะ
พระ- ก็นั่นไงโยม
โยมก็ต้องฝึกไอ้สตินี่แหล่ะให้มันเกิดความชำนาญ โยมก็รู้อยู่แล้วว่าถ้าโยมมีสติ
โยมตามรู้อารมณ์ตัวเองทันแล้ว โยมก็จะหยุดมันได้ แต่ปัญหาคือโยมยังไม่ชินกับมัน
มันไม่ชำนาญในการตามจิต โยมก็ต้องฝึกให้มันตามทันและคุมมันได้
โยม- เนี่ยโยมเคยตามจิตตามอารมณ์ความอยากตัวเองไม่ทัน
ก็เลยลองไปฝึกเพ่งอสุภะกรรมฐานมา มันก็ช่วยได้หน่อยนึงนะเจ้าคะ
พระ- โยมเพ่งแบบไหนหล่ะ
โยมเพ่งอย่างเดียวแล้วใช้ปัญญาพิจารณารึเปล่า กรรมฐานมี40กอง
แต่ถ้าไม่ใช้ปัญญายกระดับกรรมฐานให้เข้าสู่วิปัสสนาญาณ มันก็ตัดไม่ขาด
หลุดพ้นไม่ได้สักทีนะ ธรรมของพระพุทธเจ้าเนี่ย เราเรียนรู้แล้วต้องน้อมมันมาใส่ตัว
จะน้อมมันมายังไงก็ต้องเอามาพิจาณาและปฏิบัติตามนั่นแหล่ะ ทำมันจนเกิดความเคยชิน
ค่อยๆตัดไปทีละอย่าง บางคนเล่นฝึกกรรมฐานทั้ง40กอง อ่านพระไตรปิฎกจนหมด
เรียนอภิธรรมจนเจนจบ แต่นั่นมันคืออะไร มันคือหนอนหนังสือ
ท่องตำราเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่มันไม่เคยเอามาปฏิบัติเลย วันๆก็เอาแต่จับผิดคนอื่น
ดูถูกคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้ว่าไม่มีความรู้ ไม่มีธรรมเหมือนตน
ไอ้พวกนั้นมันบ้าอวดตำรา อวดภูมิ ดูซิ พระอรหันต์สมัยก่อน
พระปัจวัคคีย์บรรลุอรหันต์เรียนกี่พระสูตร สองพระสูตรเองนะ
ธรรมจักรเป็นสูตรแรกใช่ไหม อนัตตลักขณสูตรเป็นสูตรที่สอง ว่าด้วย อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา นี่แหล่ะถึงเกิดพระอรหันต์อีก5องค์ รวมพระพุทธเจ้าเป็น6องค์บนโลกนี้
นี่พระสูตรว่าด้วยเรื่องอนัตตานี่เป็นพระสูตรแรกที่ทำให้เกิดอรหันตสาวกเลยนะ
พระอรหันต์ไม่เห็นต้องไปเรียนกรรมฐานครบ40กอง หรือเรียนอภิธรรม
เรียนพระไตรปิฎกเป็นหนอนหนังสือเหมือนคนเดี๋ยวนี้เลย
เพราะพระท่านเอาธรรมมาน้อมนำพิจารณาแล้วเอามาปฏิบัติ ไม่ใช่เอามาอวดภูมิกัน
พระ- อย่างพระอรหันต์เนี่ยก็มีสองแบบ
คือพระอรหันต์แบบที่มีฤทธิอภิญญา กับพระอรหันต์แบบที่ไม่มีฤทธิ์
แต่ทั้งสองพวกก็สามารถเข้านิพพานได้ เพราะท่านมีปัญญาในการหลุดพ้น
แต่ถ้าเป็นคนทั่วไปหรือพระปุถุชนเนี่ย พวกเขาอาจจะมีสมาธิมีฤทธิแก่กล้า
แต่ไม่มีปัญญาหลุดพ้น เพราะเขาไม่ได้น้อมนำเอาธรรมมาพิจารณาน้อมนำสู่ตัว
คนที่เก่งๆอักขระเลขยันต์ เป็นหมอผีหมอไสยศาสตร์เขาก็เก่งสมาธิ
แต่เขาก็ยังติดอยู่ในโลกไม่เห็นหลุดพ้นสักที เพราะเขาไม่ได้เอาธรรมมาสู่ตัว
โยม- แล้วทีนี้เราจะน้อมนำอย่างไรหล่ะเจ้าคะ
พระ- มันก็ขึ้นกับปัญญาของโยมหล่ะนะ ของแบบนี้มันต้องสร้างต้องเสริมกันมา
ไม่ใช่จะนิพพานในชาตินี้ได้เลยทีเดียว
แต่ไม่ใช่ว่านิพพานชาตินี้ไม่ได้ก็เลยไม่ทำนะ มันต้องค่อยๆสร้าง
อย่างน้อยเราก็เอาโสดาบันในชาตินี้ได้ ถ้าเราทำโสดาบันได้
เราก็เหลืออีกแค่อย่างต่ำ7ชาติ แล้วเราก็ไม่เกิดอีก
ก็คือนิพพานอย่างที่เราคุยกันตอนแรกไง คือมันค่อยๆสะสมไปเรื่อยๆ ทีนี้การทำ
ทำอย่างไร ก็ต้องค่อยๆพิจารณาไป ค่อยๆตัดไปเป็นเรื่องๆ
เรื่องพวกนี้จะฝืนทำไม่ได้นะ มันต้องเป็นธรรมชาติ ถ้าฝืนทำมันก็จะไม่สำเร็จ
แต่แรกๆอาจจะฝืนๆนิดหน่อยแต่อย่าให้มันมากเกิน อย่าให้ตึงหรือหย่อนเกิน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนอาตมาก่อนบวชชอบกินตามใจปาก เห็นอะไรอร่อยก็ยัดเข้าปาก
ว่างหน่อยก็หาอะไรยัดเข้าปาก นั่นคือมันเป็นความเคยชิน
เป็นตามอารมณ์ความอยากของเรา ไม่ได้เกิดจากความต้องการของกาย
แรกๆก็ต้องบังคับฝืนมันหน่อยว่า เห้ย ไม่กินนะ ฝืนมันไม่กิน ไม่มอง
ไม่พยายามเห็นมัน แรกๆอาจจะทรมานใจสักหน่อย แต่พอเริ่มทำใจได้ ก็เห็นมันได้
พอเห็นมันได้ก็สามารถที่จะบอกใจตัวเองได้ว่า ไม่กินก็ไม่เห็นตายสักหน่อยนี่นา
พอไปเรื่อยๆ พอเห็นอาหารขนมเหล่านั้นมันก็เฉยๆ
อย่างติดรสชาติอาหารก็เหมือนกัน ต้องกินรสชาตินั้นนี้
ก็ทำเหมือนกันนี่แหล่ะ ฝืนไปเรื่อยๆ กินจืดๆก็ไม่เห็นตายนี่
กินไปเรื่อยๆต่อมามันก็กินได้เอง ที่เราทำๆอะไรก็แล้วแต่มันทำไปเพราะตามจิตไม่ทันรึเปล่า
นี่แหล่ะ แรกๆก็อาจจะต้องทำแบบนี้แก้เป็นเรื่องๆไป
พระ- ส่วนเรื่องเวทนา จิต มันก็ต้องค่อยๆฝึก ค่อยๆให้มีสติรู้ทัน
ให้มันเกิดวสี พอเราสามารถที่จะหยุดความอยากอาหารตามใจปากได้
เราก็สามารถพิจารณาได้ด้วยปัญญาแล้วหล่ะว่า อ๋อ นี่คือจิตมันไปตามอารมณ์นะ
มันไปตามกิเลสของปาก ไปตามการยึดติดการปรุงของจิตอะไรก็ว่าไป
ถ้าเรารู้ทันมันก็หยุดทัน มันก็แค่นั้นเอง แก้ไปทีละเปราะ
ถ้าหากเราพิจารณาได้เรื่อยๆ มันก็จะสามารถยกระดับข้อธรรมได้สูงขึ้นเรื่อยๆ
มองอะไรทุกอย่างมันก็จะพิจารณาไปเรื่อยๆ
พระ- แต่นะโยม มันได้แต่คิดรึเปล่า อย่างนั้นมันเรียก
วิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา บางคนอ๋อ...อนิจจังทุกขังอนัตตาเป็นอย่างนี้นี่เอง
พอออกจากวัดปุ๊บ โดนรถปาดหน้าก็ด่าพ่อล่อแม่ตีหัวหมาด่าแม่เจ๊กไปซะแล้ว
โยม- ใช่ๆๆ โยมเคยเห็น
พระ- โยมก็ต้องพิจารณาไปเรื่อยๆหล่ะนะ จนโยมเกิดปลง
ว่ามันก็เท่านั้นเอง อารมณ์แบบนี้มันอธิบายไม่ได้หรอกโยม มันเป็นปัจจัตตัง
รู้ได้เฉพาะตน โยมปฏิบัติไปเรื่อยๆจะรู้เอง ถ้าโยมเข้าใจมัน ถ้าโยมปลงสังเวชได้
โยมก็อาจจะเข้าใจธรรมของพระพุทธเจ้าได้ก็เป็นได้
โยม- อืมม...ก็ต้องปฏิบัติต่อไปใช่ไหมคะ
พระ- ใช่โยม จริงๆโยมก็รู้วิธีปฏิบัติดีแล้วนี่
โยม- หนูรู้หรอคะ
พระ- ก็โยมบอกอาตมาเองนี่ ว่าถ้าโยมมีสติ
โยมก็สามารถระงับความโกรธได้ ถ้าโยมมีสติโยมก็สามารถระงับอารมณ์บางอารมณ์ของโยมได้
โยม- ใช่ค่ะ จริงด้วยเจ้าค่ะ
พระ- นั่นก็แสดงว่าโยมมาถูกทางแล้ว
เพียงแต่ว่าโยมยังไม่ชำนาญในการดูจิต ดูเวทนาเท่านั้นเอง และส่วนข้อธรรมเนี่ย
โยมก็พิจารณาได้แล้วเพียงแต่อาจจะเป็นข้อเล็กๆ กับสิ่งน้อยๆ โยมก็ต้องฝึกไปเรื่อยๆจนชำนาญ
และพิจารณาข้อธรรมสำคัญๆและเข้าใจ ปลงสังเวชกับมันได้
ถ้าโยมเข้าใจได้มันก็จะคลายไปทีละเรื่องเอง ถ้ามันหมดก็คือนิพพาน
แต่อาตมาไม่รู้นะว่าวันนั้นคือเมื่อไหร่ ก็ขึ้นกับการปฏิบัติของเราเอง
พระ- โยมก็เชื่อมั่นในตัวเองหน่อยก็พอ
โยม- เนี่ยโยม เคยนั่งได้ครั้งนึงนะ นั่งแล้วมันสงบ
เงียบ มีความสุขจังเลย แล้วก็เหมือนกับว่าปลอดโปร่ง คิดพิจารณาอะไรก็ได้
มันมีครั้งนั้นนี่แหล่ะที่ทำให้หนูปลงกับความทุกข์บางอย่างได้
แต่หลังจากนั้นไม่เคยได้อารมณ์จิตแบบนี้เลยเจ้าค่ะ จะทำยังไงดีคะ
พระ- นี่โยม อาตมาเล่าให้ฟังนะ
มีครั้งนึงอาตมาก็เคยเป็นแบบโยมนี่แหล่ะ หูย เห็นดวงแก้วบ้าง เห็นนิมิตบ้าง
เห็นพระพุทธเจ้าลอยมาบ้าง เห็นแสงบ้าง นั่งแล้วมีความสุข สงบบ้าง พอมานั่งอีกทีตั้งใจเลยว่าจะเอาให้ได้แบบเดิม
หึหึหึ นั่งเป็นชาติมันก็ไม่ได้อย่างนั้นหรอกโยม เพราะอะไรรู้ไหม
โยม- ไม่รู้ค่ะ
พระ- ก็เพราะเราอยากไง เรานั่งปฏิบัติเพราะความอยาก
มันเป็นความโลภ จิตมันไม่สงบ มันเครียด มันตึงเกินไป
ก็ไอ้ตอนที่เรานั่งแล้วเกิดนิมิต เกิดอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็นั่งสบายๆไม่ได้คิดอะไร
ไม่ได้อยากอะไรมันถึงเห็นใช่ไหมหล่ะ
แล้วตอนนี้เรานั่งเพราะอยากเห็นมันจะเห็นไหมหล่ะ
โยม- อุ๊ย ฮ่าๆๆๆ จริงด้วยเจ้าค่ะ
หนูอยากนั่งให้ได้แบบนั้นนี่เอง
พระ- นั่นแหล่ะโยม บางทีอาตมาก็เป็นเหมือนกัน ฮ่าๆๆ
ก็ต้องฝึกๆกันไปหล่ะนะ
โยม- หนูพอจะเข้าใจอะไรมากขึ้นแล้วค่ะ
กราบขอบพระคุณหลวงพี่มากเลยเจ้าค่ะ
พระ- สาธุโยม โยมก็ปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆนะ อย่าท้อ
โยมมาถูกทางแล้วหล่ะ แต่โยมไม่มั่นใจแค่นั้นเอง บางทีเราไม่ต้องไปอ่านหนังสือ
หรือไปปฏิบัติอะไรให้มากมายหรอกนะ ดูที่ใจเราก่อนก็พอ บางทีรู้เยอะแล้วมันฟุ้งซ่าน
คิดนั่นคิดนี่ รู้เกินไป ก็เหมือนรู้สมการสูงๆแต่ท่องสูตรคูณไม่เป็นนี่แหล่ะ
มันต้องเป็นลำดับขั้นตอนไป สู้ต่อไปนะโยม เจริญพรเจริญธรรมนะโยม
โยม- สาธุเจ้าค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น