คาราเต้
เป็นศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว
และกีฬาต่อสู้ชนิดหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก
แต่ในประเทศไทยของเรานั้นน้อยคนนักที่จะรู้จักคาราเต้อย่างแท้จริงว่าเป็นกีฬาอย่างไร
ในวันนี้ทีมงานของเราได้เชิญศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพท่านหนึ่งซึ่งเรียกได้ว่าเป็นยอดฝีมือท่านหนึ่งในวงการคาราเต้ประเทศไทย
และยังเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับคาราเต้อย่างกว้างขวาง รุ่นพี่ท่านนี้ก็คือ
คุณยิ่งยง จงทวีธรรม หรือพี่ตี๋นั่นเอง ปัจจุบันพี่ตี๋นอกจากจะรับสอนคาราเต้ตามที่ต่างๆแล้ว
ยังเป็นทั้งผู้ฝึกสอนคาราเต้ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
และยังเป็นกรรมการตัดสินของสมาคมคาราเต้แห่งประเทศไทยอีกด้วย
ครั้งนี้พวกเรานอกจากจะได้รับความรู้ในด้านคาราเต้แล้ว
เรายังได้ทราบถึงชีวิตคร่าวๆของพี่ตี๋อีกด้วย
“คาราเต้เป็นวิชาการต่อสู้ชนิดหนึ่งที่เน้นฝึกตนเองให้ร่างกายกับจิตใจรวมเป็นหนึ่ง
โดยมีแนวคิดสูงสุดคือใช้แรงให้น้อยที่สุดก่อเกิดแรงที่มากที่สุดในการโจมตีหรือป้องกันตัวเอง
และเป็นวิชาที่ไม่ทำร้ายผู้อื่นก่อน คาราเต้จึเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ที่ลึกซึ้งมาก”
พี่ตี๋กล่าวถึงภาพรวมของสิ่งที่เรียกว่าวิชาคาราเต้
นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงคาราเต้ในมุมมองของกีฬาอีกด้วย“คาราเต้ฝึกเพื่อควบคุมการโจมตีของตัวเองออกให้เร็วแรงที่สุด
แต่จะต้องหยุดหมัดเมื่อถึงตัว ไม่ทำร้ายคู่ต่อสู้
นี่ถึงจะเรียกได้ว่าสิ่งที่สุดยอด และเป็นเสน่ห์ที่สุดของคาราเต้
ซึ่งการแข่งขันคาราเต้ก็นำจุดนี้มาพัฒนาเป็นกฏกติกาการแข่งขันของคาราเต้ด้วย”
พี่ตี๋เล่าว่า
การมาพบกันระหว่างหนุ่มน้อยขี้กลัวร่างกายแสนจะบอบบางอ่อนแอกับวิชาต่อสู้ที่แลดูโหดร้ายนี้พบกันได้อย่างไรนั้น
มันเริ่มมาจากตอนสมัยมัธยม เนื่องจากร่างกายผอมๆแถมขี้กลัว
จึงทำให้โดนเพื่อนๆแกล้งอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่งทนไม่ไหว
คิดได้ว่าตัวเองปกป้องตนเองไม่ได้
แล้วจะไปดูแลน้องสาวสองคนกับแฟนในอนาคตได้อย่างไร
จึงคิดหาทางออกโดยการฝึกศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวเพื่อปกป้องตัวเอง
และน้องสาวสองคน ซึ่งกีฬาที่เลือกฝึกคือกีฬาคาราเต้โด
ของชมคาราเต้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีเซนเซ(อาจารย์) และรุ่นพี่สายดำเป็นผู้สอน และเมื่อฝึกมาได้ประมาณ 4 ปี ก็ได้ผ่านการสอบระดับสายดำระดับขั้นแรกหรือหนึ่งดั้ง เมื่อมีการแข่งขันคัดเลือกนักกีฬาทีมชาติในปีนั้น
รุ่นพี่หลายท่านบังคับให้ไปแข่งขันด้วย โดยที่รุ่นพี่บอกว่า “ลองไปแข่งดู เพื่อวัดระดับฝีมือของตัวเองว่าทำได้หรือไม่ ถ้าเราทำได้ ได้รับการคัดเลือกแต่เราไม่สมัครใจอยากจะเป็น
เราก็สามารถถอนตัวออกมาได้”
จากการไปแข่งคัดตัวทีมชาติครั้งนั้น ผลที่ได้คือผ่านการคัดเลือก
แต่รุ่นพี่นั้นกลับคำพูด ”ตี๋ ในสำนักของเรามีตี๋คนเดียวนะที่ติดทีมชาติ
จะปล่อยให้สำนักอื่นเค้ามีหน้ามีตากว่าเราหรอ สายดำที่ได้มาหน่ะค้ำคอแกอยู่นะ”
รุ่นพี่กล่าว พี่ตี๋เล่าเรื่องนี้พร้อมกับหัวเราะออกมา และนี่กลายเป็นจุดพลิกผันของคนที่ฝึกฝนคาราเต้โดยไม่สนใจการแข่ง
แต่แล้วกลับต้องมาเป็นนักกีฬาเพื่อการแข่งขัน
คาราเต้โดไม่ใช่แค่เป็นกีฬาที่สอนให้เราต่อสู้และใช้ความรุนแรงเพียงอย่างเดียว
แต่ที่จริงแล้วคาราเต้โดสอนการห้ามใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ สอนให้รู้จักการฝึกวินัย ความอดทน
สมาธิ ความคิด ประสาทสัมผัส
ของตัวเราจากการฝึกรูปแบบคาราเต้โด เราต้องฝึกร่างกายของตนเอง ให้พร้อมกับท่าทางในการต่อสู้
ฝึกสมาธิ สายตาของตนเอง และพี่ตี๋เสริมต่อว่า
“กีฬานี้นอกจากจะเสริมสร้างพลานามัยและยังเสริมบุคลิกภาพตัวเอง
ในสมัยก่อนผมเป็นคนที่ใจร้อนมาก
พอฝึกคาราเต้ทำให้ผมใจเย็นลงและทำให้ผมมีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆมากขึ้น และระบบการฝึกของคาราเต้ยังสอนให้รู้จักการอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าเราไม่มีวินัยหรือความเป็นมนุษยธรรม เราก็จะไม่ได้รับการฝึกฝนหรือพัฒนาตนเองเลย
ดังนั้นผมคิดว่า คาราเต้เป็นอะไรที่สุดยอดเพราะทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง”
“ในการฝึกคาราเต้
เซนเซซึ่งเป็นอาจารย์ชาวญี่ปุ่นจะสอนในรูปแบบตายตัว ยึดพื้นฐานตายตัวเกินไป ซึ่งเป็นวิธีการสอนที่ดีวิธีหนึ่ง
โดยการฝึกหากทำไม่ได้ หรือไม่เข้าใจก็จะต้องทำไปเรื่อยๆ ทำไปให้เยอะๆ จนกว่าจะเข้าใจไปเอง
ซึ่งตรงจุดนี้เป็นวิธีการฝึกมาแต่โบราณ
เพราะคาราเต้ต้องฝึกหนักจนร่างกายจดจำผ่านกล้ามเนื้อ ไม่ใช่จดจำโดยการใช้สมอง แต่ผมคิดว่าการสอนวิธีนี้ไม่สามารถสอนให้คนหลายคนสามารถเข้าใจได้เหมือนกันหมด
เพราะแต่ละคนมีทักษะ มีความเข้าใจไม่เหมือนกัน การสอนสำหรับผมจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับแต่ละบุคคล
ต้องดูว่าผู้ที่ฝึกแต่ละคนขาดอะไร
ต้องเสริมอะไร เน้นอะไร มีความเข้าใจด้านไหน เราจึงค่อยเสริมไปทีละนิดๆ
ซึ่งการสอนจะไม่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาแต่เราก็ยังคงมาตรฐานเดิมอยู่เพื่ออนุรักษ์แนวทางการฝึก
และระบบโดโจ(ระบบโรงฝึกของญี่ปุ่น)” พี่ตี๋กล่าวถึงวิธีการสอนในรูปแบบของตนเอง
เมื่อพูดถึงการฝึกคาราเต้
ในปัจจุบันผู้ที่เข้าใจศาสตร์คาราเต้อย่างแท้จริงนั้นยังหาได้น้อย
โดยเฉพาะในประเทศไทย ทั้งที่คาราเต้ในประเทศไทยกำลังพัฒนา แต่กลับพัฒนาเฉพาะด้านการกีฬาเท่านั้น
แต่ความรู้ความเข้าใจของวิถีทางแห่งคาราเต้นั้นกลับถดถอยลง
ดังนั้นพี่ตี๋จึงได้ให้แนวทางการฝึกฝนคาราเต้กับเด็กรุ่นใหม่ด้วยว่า
“การจะฝึกคาราเต้ให้ได้สำเร็จนั้นสิ่งแรกที่จะต้องมีคือความถ่อมตน
หากมีความถ่อมตนแล้วใจย่อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆเข้ามา เมื่อมีความถ่อมตนแล้วใครเห็นใครก็อยากที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับเรา
สิ่งที่สองต้องมีมานะอดทน ทนฝึกท่าเดิมๆเป็นร้อยเป็นพันรอบจนกว่าจะเข้าใจ
สามต้องรู้จักตัวเอง เมื่อทำท่าใดท่าหนึ่งต้องรู้ว่าร่างกายเราเคลื่อนไหวอย่างไร
การเคลื่อนไหวแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน เราต้องหาความแตกต่างนี้ให้เจอ
เมื่อเจอแล้วก็จะรู้ว่าตัวเองกำลังขาดเกินส่วนไหนอยู่
สี่อย่าคิดที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้ คิดว่าไม่จำเป็นต้องแพ้ก็เพียงพอแล้ว
เพราะการเอาชนะคู่ต่อสู้นั้นทำให้เกิดความเกร็ง ความตึงเครียด อีกทั้งยังทำให้เกิดความประมาทอีกด้วย
เพียงคิดแต่จะทำตัวเองให้พัฒนาตนเองขึ้นไปเรื่อยๆก็พอแล้ว หากเอาชนะตนเองได้
ก็จักชนะผู้อื่นได้เช่นกัน”
“น้องๆรู้ไหมว่าจริงๆแล้วพี่เป็นคนที่เกลียดการเอาชนะที่สุด
เป็นคนที่ไม่ชอบการแข่งขันเอามากๆ ทำไมเราต้องไปแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับคนอื่นด้วย
เราเพียงแค่ทำตัวเองให้ดีต่อไปเรื่อยๆ และดีขึ้นเรื่อยๆก็พอ”
พี่ตี๋พูดถึงตอนนี้ด้วยสีหน้าจริงจัง
เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นความคิดในการผันตัวเองให้กลายเป็นผู้ฝึกสอน
และกรรมการตัดสินกีฬาคาราเต้
“เพราะความเกลียดการแข่งขันของผมหล่ะมั๊งที่ทำให้ผมเลือกที่จะฝึกเพื่อพัฒนาตนเองมากกว่าที่จะเลือกตำแหน่งแชมป์
และความเกลียดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือผมเกลียดการต่อสู้โดยใช้ความรุนแรงโดยไร้เหตุผล
และต่อให้มีเหตุผลก็ตาม แต่หากเกินความจำเป็นเพียงนิดเดียวผมก็ไม่สนับสนุน
นี่คงจะเป็นสิ่งที่ผลักดันทำให้ผมฝึกคาราเต้เพื่อป้องกันตัวเองมากกว่าที่จะไปต่อสู้กับคนอื่น
ซึ่งมันก็ตรงกับคำสอนของปรมาจารย์รุ่นก่อนๆว่า คาราเต้จะไม่ลงมือก่อน
แต่รู้ไหมว่ายิ่งฝึกตามแนวทางที่ปรมาจารย์กล่าวไว้
มันยิ่งทำให้เราเข้าใจคาราเต้มากขึ้น
ผมเลยเลือกที่จะเผยแพร่คำสอนของอาจารย์รุ่นก่อนๆไว้ให้คนรุ่นหลังได้เข้าใจ
เพราะนักคาราเต้รุ่นใหม่ๆละเลยที่จะฝึกตามแนวทางที่มีมาแต่โบราณ
สนใจคาราเต้เพียงแค่คาราเต้เป็นกีฬาที่นำมาซึ่งความเท่ห์ ชื่อเสียง และเงินทอง
ทั้งที่คาราเต้มันมีอะไรมากกว่านั้น
ผมก็อยากจะสอนไอ้สิ่งที่เด็กสมัยนี้ไม่รู้จักกันนี่แหล่ะ
ส่วนการเป็นกรรมการตัดสินนั้นก็เป็นอีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่จะสามารถช่วยผลักดันนักกีฬาให้พัฒนาตนเองขึ้นได้
เพราะหากกรรมการดี นักกีฬาก็จะได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนเองและนำกลับไปพัฒนาได้”
พี่ตี๋เล่าถึงตรงนี้ก็พูดยิ้มๆออกมาอีกว่า
“ถ้าโค๊ชของนักกีฬามองออกหมดว่านักกีฬาของตนเองผิดพลาดอะไรควรจะต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง
ป่านนี้นักกีฬาทุกคนก็เก่งกาจกันหมดแล้ว ไม่ต้องตัดสินกันหรอกว่าใครแพ้ใครชนะ
แต่เป็นเพราะกรรมการมองเห็นในสิ่งที่โค๊ชมองไม่เห็นต่างหาก
จึงสามารถที่จะพัฒนานักกีฬาได้
คงไม่มีใครมองแคบๆว่ากรรมการตัดสินให้นักกีฬาแพ้เพราะกรรมการห่วยหรอก ฮ่าๆ”
พี่ตี๋กล่าวไปหัวเราะไป
เมื่อพูดถึงความสำเร็จในด้านคาราเต้ของพี่ตี๋
อาจจะพูดได้ว่าเป็นอันดับต้นๆของประเทศเลยก็ว่าได้
เพราะนอกจากจะเป็นแชมป์ประเภทคาตะ(ท่ารำ)มาหลายสมัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่38 จามจุรีเกมส์ ปี2554
พี่ตี๋ยังสามารถคว้าเหรียญทองในประเภทท่ารำ และเหรียญเงินในประเภทต่อสู้อีกด้วย อีกทั้งยังได้รับเชิญจากกองพันทหารราบที่สิบเอ็ดรักษาพระองค์
ให้เข้าไปสอนศิลปะการต่อสู้ให้กับกองทหารราชองครักษ์
ซึ่งนับได้ว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้พระองค์ท่านโดยการสอนทหารส่วนพระองค์
และนอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้ไปเข้าร่วมโครงการฝึกคาราเต้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิประเทศญี่ปุ่น
โดยเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนคาราเต้ในค่ายนี้
ซึ่งต้องสอนคาราเต้ให้ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น
นอกจากคาราเต้แล้ว
ในบางครั้งยังเห็นพี่ตี๋กำลังฝึกมวยไทเก็กอีกด้วย
จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางทีมงานสงสัยกันเหลือเกินว่ามวยไทเก็กคืออะไร
และทำไมถึงฝึกมวยไทเก็ก “ผมเป็นคนที่ค่อนข้างจะหลงใหลในศิลปะการต่อสู้อย่างมาก และวิชามวยอีกชนิดหนึ่งที่ผมให้ความสนใจไม่แพ้คาราเต้คือ
มวยจีนไทเก๊ก ไทเก็กเป็นมวยที่เคลื่อนไหวช้าๆเพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
เรียนรู้การทำงานของร่างกาย เมื่อสามารถควบคุมกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายก็จะสามารถใช้ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
อีกทั้งไทเก็กยังเป็นการบำบัดร่างกาย ฟื้นฟูสภาพร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม
ที่ผมชอบฝึกไทเก็กก็เพราะเหตุผลนี้ และที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติเรื่องการใช้แรงน้อยชนะแรงมาก
อ่อนสยบแข็งของไทเก็กนั้น ก็เป็นขั้นสูงสุดของคาราเต้เช่นกัน
ดังนั้นผมจึงเลือกที่จะศึกษาสองศาสตร์นี้ไปควบคู่กัน
ซึ่งทั้งสองศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่เรียนรู้ไม่มีวันจบ”
CR: กลุ่มรุ่นน้องนักศึกษาเอกไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
บทความปี 2012
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น