วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พ่อผมฆ่าตัวตาย (เรื่องแต่งจากเค้าโครงจริง)

เมื่ออาทิตย์ก่อนมีโยมอายุประมาณ30-40ปีมาจากพิษณุโลก มาไหว้พระหน้าเศร้าๆมาเลย บอกว่ามาทำบุญให้พ่อ พ่อฆ่าตัวตายพึ่งเผาไปเมื่อวาน ก็เลยคุยกัน พ่อเขาแขวนคอตายเพราะทนป่วยไม่ไหว แถมยังชอบทะเลาะกับแม่ ก็เลยอาจจะหงุดหงิดท้อแท้ใจฆ่าตัวตายไป
ลูกเขาก็กลัวว่าพ่อจะไปไหนไม่ได้ รับบุญไม่ได้ จะต้องฆ่าตัวตายงี้ห้าร้อยชาติอะไรก็ว่าไป หรือจะวนเวียนเป็นผีเฮี้ยนคอยมาฆ่าตัวตายให้เห็นซ้ำๆตรงบริเวณนั้นให้คนอื่นเห็น ก็เลยไม่สบายใจมาไหว้พระปรับทุกข์กับพระ

ไอ้เราเห็นก็กลุ้มตามไปด้วย คิดในใจเราจะพูดไงดีนะ กลัวพูดไม่ถูกเดี๋ยวจะยิ่งทำให้เขาทุกข์ใจไปอีก ก็ได้แต่พูดสอนให้เขาเข้าใจว่าชีวิตคนเรามันก็แค่นี้แหล่ะ เกิดมาแล้วก็ตายจากไป เพียงแค่ว่าใครจะตายก่อนตายหลัง หรือทำใจกับความตายได้ไหม บางคนทำใจได้ก็ตายอย่างสงบ คนทำใจไม่ได้ก็ตายอย่างทุรนทุรายเพราะไม่อยากตาย ไม่อยากตายเพราะอะไร ก็เพราะยังยึดติดอยู่กับ ลาภยศ ชื่อเสียง คนรัก ของหวง ต่างๆนานาที่มันไม่ใช่ของที่ควรจะยึดถือเป็นสรณะ บางคนก็เสียดายเวลาที่ผ่านมาไม่เคยได้ใช้ชีวิตให้เกิดสาระประโยชน์ก็นึกเสียใจเศร้าใจ

คนบางคนป่วยหนัก แต่ทำใจได้ ก็ใช้ชีวิตอย่างปรกติ ลาจากโลกไปอย่างมีความสุข บางคนแข็งแรงไม่เจ็บป่วย แต่อยู่ดีๆเกิดอุบัติเหตุตายไปแบบไม่รู้ตัวทำใจไม่ได้ก็จากโลกไปอย่างทรมาน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นถึงแม้เขาจะฆ่าตัวตาย เราจะรู้ได้ไงว่าเขาจะต้องกลายเป็นผีเฮี้ยน หรือเขาจะต้องกลายเป็นวิญญาณที่มาฆ่าตัวตายซ้ำๆกันอย่างนี้จนกว่าจะหมดอายุขัย หรือว่าเขาจะต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเป็นคนฆ่าตัวตายอย่างนี้อีกห้าร้อยชาติ ตราบใดถ้าเราไม่ได้ฝึกปฏิบัติสมาธิจนเข้าถึงธรรมเข้าถึงความละเอียดของจิตให้สามารถสัมผัสกับเรื่อ่งเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง เราก็ไม่มีทางรู้ได้หรอก

บางทีตอนเขาตายเขาอาจจะนึกถึงเรื่องที่เป็นกุศล นึกถึงตอนที่เคยทำดีอยู่ก็ได้ หากเขาตายไปในตอนนั้นเขาก็อาจจะได้ไปในภพภูมิที่ดี ไปเป็นเทวดาก็ได้
หรือบางทีนี่อาจจะเป็นชาติภพสุดท้าย เป็นชาติที่500ที่เขาจะฆ่าตัวตายก็ได้ เมื่อเขาตายไปมันก็ย่อมจบเริ่มต้นใหม่

แต่บางครั้งแทนที่เขาจะไปดีตามบุญกรรมของเขา เรากลับไปยึดไปห่วงเขา ไปคิดในด้านลบ ไม่ปล่อยวางเสียที มันก็เป็นการไปยึดไปผูกเขาเอาไว้ แทนที่เขาจะได้ไปดี เขากลับโดนเราล่ามเอาไว้อยู่กับที่ แทนที่เขาจะได้ไปดี กลับกลายเป็นต้องมาห่วงเรา เพราะทนไม่ได้ที่เห็นเราไม่สบายใจ

ดังนั้นสิ่งแรกที่เราสามารถทำได้ในตอนนี้ก็คือ ทำจิตใจให้สบาย อย่าได้เศร้าโศกเสียใจเลย เราต้องเข้าใจว่านี่เป็นธรรมชาติของโลก เมื่อเขาเห็นเราคลายเศร้าเสียใจแล้วเขาย่อมหมดห่วงไปในทางที่ดีได้

ไอ้ที่บางทีเราไปเชื่อไปฟังคนอื่นเขาพูดกันว่า เห็นพ่อเธอยังอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ถามว่าในเมื่อเราเป็นลูกแท้ๆ เขากลับไม่มาให้เราเห็น แต่ไปให้คนอื่นที่ไม่รู้จักกันเห็น แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร คนเหล่านั้นมันก็เป็นพวกแม่ค้าปากเปราะวันๆไม่มีอะไรทำ แถมขี้กลัวเกินเหตุเพราะความงมงาย บางทีอยู่คนเดียวมึดๆเห็นถุงปลิวไปตามลมก็คิดว่าผีหลอก เห็นหมาเห่าก็คิดว่าหมาเห็นผี เห็นแมววิ่งมาก็คิดว่าผีมาขอส่วนบุญ พวกนี้มันคิดไปเองทั้งนั้นแหละ ต่อให้มันเป็นผีจริง พวกนี้มันก็มีผีบางจำพวกที่ชอบจำแลงเป็นคนตายเพื่อหลอกให้คนเป็นทำบุญไปให้ บางทีเขาอาจจะเห็นผีเหล่านั้นก็ได้ แทนที่จะเป็นคนตายจริงๆ การที่เราบุญตามพิธีกรรมอย่างถูกต้อง มีการเลี้ยงพระ สาธยายพระอภิธรรมเป็นต้นเนี่ย มันเป็นบุญที่เขาสามารถรับไปปรับภพภูมิให้ดีขึ้นได้อยู่แล้ว ก็ขอให้โยมอย่าได้วิตกกังวลไปเลยว่าพ่อเธอจะไม่ได้รับ หรือว่าต้องลงนรกแล้วมาอนุโมทนาไม่ได้

เมื่อพูดถึงจุดนี้ โยมก็ขอถวายสังฆทาน โดยนำของอุปโภคบริโภคที่ได้เตรียมมาถวาย กล่าวคำถวายแด่พระสงฆ์อุทิศให้กับผู้ตาย ก่อนที่จะถวายก็บังเอิญนึกได้ว่า ครูบาอาจารย์เคยมอบพระคาถาเรียกวิญญาณสำหรับอุทิศให้คนตายมาให้ ก็เลยบอกกล่าวโยมให้ว่าพระคาถานั้นตาม และตั้งจิตอธิษฐานขอให้พ่อของโยมมาร่วมอนุโมทนา รับรู้เป็นสักขีพยานในการถวายสังฆทาน และร่วมกันถวายพร้อมกันกับลูกหลานในวันนี้ และรับผลบุญที่ลูกหลานได้กระทำบำเพ็ญมาให้ในครั้งนี้ด้วย

เมื่อโยมได้กล่าวคำอธิษฐานตาม และกล่าวคำถวายสังฆทาน กับถวายสังฆทาน รับพร อุทิศบุญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โยมมองหน้าพระด้วยอาการแปลกๆ ก่อนจะพูดว่า ผมขอถามอะไรบางอย่างได้ไหมครับ เมื่อกี้ตอนที่กล่าวคาถาเอ่ยถึงชื่อพ่อผม และกล่าวคำถวายเนี่ย ผมขนลุกขนพองอยู่ตลอดเวลาเลย ไม่รู้เป็นเพราะอะไร ไปทำบุญที่อื่นถวายสังฆทานที่อื่นแล้วอุทิศให้พ่อ ไม่เห็นจะเป็นอย่างนี้เลย ผมรู้สึกแปลกไปรึเปล่าครับ

พระก็ยิ้ม ตอบว่าโยมถ้าโยมรู้สึกอย่างนั้น ก็แสดงว่าพ่อของโยมนั้นอาจจะมาร่วมอนุโมทนาได้แล้ว เขาสามารถมารับบุญได้ แต่อาตมาใช้คำว่า "อาจจะ"นะ เพราะอาตมาก็ไม่ใช่พระผู้ทรงอภิญญาอะไร ไม่ได้ทรงสมาธิสามารถรับรู้สิ่งเหนือธรรมชาติได้ โยมเป็นลูกของเขาโยมย่อมรู้สึกได้ดีกว่าใครอยู่แล้ว ถ้าโยมรู้ว่าเขามาก็แสดงว่าเขาก็น่าจะไปดีได้แล้วหล่ะ ก็อย่างที่รู้กันตามความเชื่อว่า เขาอาจจะไม่สามารถรับผลบุญได้เพราะติดอยู่กับการฆ่าตัวตาย หรือต้องลงอบายภูมิในทันที ถ้าโยมรู้สึกว่าเขามาอาตมาก็ว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีนะ

ต่อไปโยมก็ไม่ต้องกังวลอะไรอีก อย่าคิดในด้านลบให้เขาเป็นห่วงเราเลย คิดแต่ในด้านที่ดีๆ เป็นไปได้ก็ทำจิตใจให้ผ่องใสร่าเริงเข้าไว้ ว่างๆก็เข้าวัดสวดมนต์ไหว้พระบ้าง บุญกุศลที่เราทำเนี่ยเราเป็นลูก ผู้เป็นพ่อย่อมได้ในส่วนนี้อยู่แล้ว และผลบุญที่ใหญ่ที่สุดเลยเนี่ย ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมาจับจ่ายซื้อของมาถวายพระอย่างนี้หรอกนะ บุญที่ว่าเนี่ยมหาศาลมาก นั่นคือบุญที่ได้จากการ "ภาวนา" แต่อย่างโยมเนี่ย เอาแค่วันละ3-5นาทีก็พอ ว่างๆก็นั่งภาวนาพุทโธๆๆๆไปเรื่อยๆ หรือนั่งสงบๆดูลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ารู้ว่าเข้า หายใจออกรู้ว่าออก หรือจะภาวนาตามก็ได้ว่า เข้าหนอออกหนอ ยุบหนอพองหนอ ทำอย่างนี้วันละ3-5นาที หรือว่าทำก่อนนอน ภาวนาดูลมหายใจจนหลับไปก็ได้ แล้วทุกวันก็อุทิศบุญที่เคยทำมาให้กับพ่อ พ่อเราย่อมได้รับอยู่แล้ว

ยังไงก็อย่างที่บอกนะโยม ใครพูดอะไรในด้านไม่ดีว่าพ่อเธอยังไม่ไป ยังติดอยู่ที่นั่นที่นี่อะไรแบบนี้ เราต้องอย่าไปเชื่อเขา เราเชื่อตัวเราเอง เราเชื่อในสิ่งที่เรารับรู้ได้ก็พอ ทำจิตให้ผ่องใสร่าเริง คิดดีทำดี พ่อเราจะได้ไม่ต้องห่วงนะ

ผ่านไปหนึ่งอาทิตย์ วันนี้โยมคนเดิมมาไหว้พระอีกครั้งด้วยหน้าตาแจ่มใสสดชื่นมาเลย บอกว่าตั้งใจมาไหว้พระแล้วมากราบหลวงพี่โดยเฉพาะเลย เพราะพึ่งไปทำงานต่างจังหวัดมา พอกลับมาก็ตรงมาไหว้พระเลย โยมเขาก็บอกว่า สบายใจขึ้นเยอะหลังจากที่มาครั้งก่อน ไอ้เราเห็นอย่างนี้ก็ยินดีไปด้วย


วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คนพุทธกับความเข้าใจเรื่องภาวนาและการบรรลุมรรคผล

คนพุทธกับความเข้าใจเรื่องภาวนาและการบรรลุมรรคผล
ในพระพุทธศาสนานั้นสิ่งที่คนโดยทั่วไปไม่เข้าใจมากที่สุดนั้นคือคำว่า “สมาธิ” และมักจะคิดกันไปเองว่าการจะเข้าถึงพุทธศาสนานั้นต้องนั่งสมาธิได้นานๆ เป็นชั่วโมงๆโดยที่ไม่ขยับกายเลย และมักจะคิดกันต่อไปว่า สมาธิจะสามารถทำให้บรรลุมรรคผลเป็นอริยะบุคคลได้ดั่งพุทธประวัติ หรือเกจิอาจารย์ต่างๆ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดจากความเข้าใจผิด และไม่เข้าใจในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
สมาธิคืออะไร สมาธิคือการที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยธรรมชาติของจิตมนุษย์นั้นย่อมสอดส่ายไม่อยู่กับที่ เนื่องจากปัจจัยปรุงแต่งจากภายนอกและภายในร่างกายทำให้เกิดความคิดที่ฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยเปื่อย ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเท่าที่ควร จนเป็นบ่อเกิดของความประมาท ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเป็นการฝึกเพื่อให้ความนึกคิด จิตใจของเรานั้นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อจิตของเราเกิดความนิ่ง เกิดความมั่นคงแล้ว ย่อมเกิดเป็นกำลังของสมาธิกำลังของจิตที่เข้มแข็ง สามารถทำให้ลงลึกในรายละเอียดของการกระทำที่เราจะทำต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบยกตัวอย่างง่ายๆก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ หากเราอ่านหนังสือไปดูทีวีไป คุยกับเพื่อนไปด้วย การอ่านหนังสือของเรานั้นย่อมไม่สามารถที่จะจับใจความอะไรได้มาก การเรียนก็เช่นกัน หากเรียนไปคุยไป จิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเรียนการอ่านหนังสือ ความรู้ในหนังสือสิ่งที่ได้รับจากการเรียนย่อมไม่สัมฤทธิ์ผลดีนัก นั่นคือเรียนไม่รู้เรื่องอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง แต่หากเราตั้งจิตตั้งใจมีสมาธิแน่วแน่กับการอ่านหนังสือกับการเรียน นั่นย่อมส่งผลให้เราสามารถจดจำ และเข้าใจในการเรียนการอ่านหนังสือนั้นได้ง่าย
สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในการฝึกสมาธิคือ “สติ” แปลว่า ”ความระลึกได้” พูดง่ายๆก็คือการรู้ตัวในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ ดังนั้นทั้งสติ และสมาธินี้จะควบคู่ไปด้วยกันเสมอๆ เพราะการทำสมาธิก็คือการใช้สติในการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง แต่สิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจกันเลยก็คือ “คิดว่าการทำสมาธินั้นไม่สามารถมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน” ยกตัวอย่างเช่น นายเอเพื่อความไม่ประมาทในการเดิน จึงทำสมาธิไปด้วยเดินไปด้วย จนไม่ทันระวังด้านข้างโดนรถชน ถามว่าสมาธินั้นไม่สามารถใช้ได้กระนั้นหรือ หรือว่านายเอไม่มีสติ หรือว่าไม่มีสมาธิ ไม่เลย นายเอนั้นมีสติ มีสมาธิ แต่นำมาใช้ไม่ถูก สติสมาธิของนายเอขณะเดินนั้นอยู่ที่ลมหายใจ อยู่ที่การย่างเท้า นั่นย่อมทำให้ใจจดจ่ออยู่ตรงนั้นทำให้สิ่งที่อยู่รอบตัวนั้นถูกตัดหายไปจากการรับรู้ของจิต นั่นทำให้ถูกรถชน แต่การประยุกต์ใช้สมาธินั้น ควรจะต้องใช้สมาธิ ใช้สติจดจ่อกับการรับรู้ภายนอกร่างกายด้วยตา หู และกายสัมผัส การเดินนั้นถึงจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว สติและสมาธินั้นไม่ได้ยากอะไรเลย สามารถฝึกได้จากชีวิตประจำวัน นั่นคือการมีสติรับรู้สิ่งที่เรากำลังกระทำ และรับรู้สิ่งที่มากระทบกับตัวเราไม่ว่าจะด้วยการมองเห็น การฟัง การรับรู้กลิ่น รู้รส การสัมผัส และอารมณ์ที่มากระทบกับจิตใจ แต่อย่างไรก็ดี มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจจะมายกตัวอย่างให้พิจารณา นายบีเดินอยู่บนท้องถนน ขณะนั้นนายบีเห็นรถที่กำลังพุ่งมาทางตน เห็นมาแต่ไกลแล้วว่ารถกำลังพุ่งเข้ามาชน แต่กลับไม่สามารถที่จะวิ่งหนี หรือหลบหลีกไปได้เลย กลับยืนแข็งทื่อให้รถชน จากเหตุการณ์นี้ นายบีไม่มีสติไม่มีสมาธิในการเดินอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย บีนั้นมีสติสมาธิในการเดิน เมื่อเห็นรถพุ่งมาชนก็รับรู้ได้ว่ามีรถพุ่งเข้ามา รู้ว่าเกิดอันตราย แต่ถึงอย่างนั้น การทำงานของร่างกายคือจิต และกายนั้นมันไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งสั่งการทำงานให้ร่างกายหลบหลีกจากอันตรายได้ เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น นั่นเพราะนายบีอาจจะมีอาจจะมีสติแต่ไม่มีกำลังสมาธิมากพอที่จะรู้อารมณ์ ควบคุมสติและพิจารณาสถานการณ์ได้ มันถึงได้กลายเป็นคำที่ได้ยินกันประจำว่า “ตกใจแต่ทำอะไรไม่ถูก”
ตัวอย่างของนายบีนั้น หลายคนอาจจะกล่าวว่า นั่นเป็นเรื่องง่ายๆ ก็แค่หัดได้จากการมีสติอย่างทั่วๆไปนั่นแหล่ะ ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิอะไรเลย แต่ความเห็นในลักษณะนี้ มักจะเป็นการนำตัวเองมายึดถือ โดยไม่ได้นึกถึงผู้อื่นว่า ผู้อื่นนั้นไม่เหมือนตน ภาวะจิตใจ กำลังของสมาธิ กำลังของจิตนั้นมันใช่ว่าจะมีเท่าๆกันทุกคนเสมอไป บางคนเกิดมามีสมาธิดีตั้งแต่เด็ก บางคนเกิดมาเป็นคนสมาธิสั้นตั้งแต่เด็ก หรือต่อให้เกิดมาการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ของพ่อแม่คนในครอบครัวและการเรียนรู้ในโรงเรียนย่อมส่งผลต่อการมีสมาธิของแต่ละบุคคล ดังนั้นการจะนำตัวเองมาเปรียบกับคนอื่นนั้นจึงเป็นสิ่งที่เปรียบกันไม่ได้ นั่นจึงเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของกรรมฐานที่มีมากมายหลายแนวทางในการสร้างสมาธิให้เกิดความมั่นคง ที่เรียกว่า “สมถกรรมฐาน” และการนำสมาธิที่มั่นคงมาพิจารณารู้ทันการเคลื่อนไหวของกาย(กาย) การรับรู้(เวทนา) จิต(อารมณ์) และความจริงของโลก(ธรรม) หรือที่เรียกว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” ในแนวทางของ“สติปัฎฐานสี่”
จากตัวอย่างที่กล่าวมาสองเรื่องนี้ คงเพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างของการนำเรื่องของสติ และสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คนที่มักจะกล่าวว่าการฝึกสมาธิไม่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่จริงของผู้ที่ไม่เข้าใจสัจธรรมเลย แต่กระนั้นก็ใช้ว่าจะไม่มีเหตุผลเสมอไป แนวคิดที่ปฏิเสธการนั่งสมาธินี้เกิดมาจาก พุทธมหายานนิกายเซน และแพร่หลายกันมากในตะวันออกเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เซนนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะถือว่า ทุกสิ่งนั้นเปี่ยมไปด้วย “ธรรม” หรือ”พุทธะ” การกระทำทุกอิริยาบถนั้นถือเป็นการฝึกจิต เป็นการบำเพ็ญได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ตัวเราจะเข้าถึง ดังนั้นชีวิตประจำวันของ ศิษย์สายเซนนั้นจึงมีแต่ชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากคนปรกติมากนัก นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้ไม่รู้มักจะเลียนแบบคำสอนของเซน และปฏิเสธการฝึกสมาธิ และใช้ชีวิตประจำวันแบบปรกติซึ่งเต็มไปด้วยความประมาท และความหลงอยู่ในความคิดที่คิดว่าตัวเองนั้นไม่ประมาณ หรือมีสติพร้อมสมบูรณ์ สิ่งที่แตกต่างกันเลยจริงๆ โดยที่คนทั่วไปไม่รู้นั้นคือ เซนนั้นนอกจากจะใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไปแล้ว ยังลงลึกไปในรายละเอียดของการกระทำด้วยสมาธิจิตที่มั่นคงด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่การกระทำแบบลอยๆไม่ได้ตั้งใจเหมือนคนทั่วไป การกระทำที่ลงลึกไปในรายละเอียด ลงลึกไปในสมาธินั้นย่อมส่งผลทำให้เข้าถึงหลักธรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน เข้าถึงจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในธรรมชาติของสิ่งต่างๆ
พุทธศาสนาสายเซนจึงได้ถือกำเนิดศิลปะมากมายทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่น ศิลปะการชงชา จัดดอกไม้ เขียนพู่กัน วาดรูป การร่ายรำ ดนตรี รวมถึงศิลปะการต่อสู้หลากหลายเช่นมวยเส้าหลิน และคาราเต้ เป็นต้น ศิลปะเหล่านี้เต็มไปด้วยกำลังของสมาธิที่นำมาใช้พิจารณาการเคลื่อนไหวตามแนวทาง “วิปัสสนากรรมฐาน” และ”สติปัฏฐานสี่” การพิจารณากายนั้นต้องลงลึกในรายละเอียดของกายที่เป็นหลักใหญ่ๆเช่นมือเท้าเข่าศอกการนั่งการเดินการยืน หลักย่อยๆที่ละเอียดลงมาคือการหายใจ การเคลื่อนไหวของข้อต่อ เส้นเอ็นเล็กๆ การพิจารณาการรับรู้ต้องอาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจในการรับรู้สัมผัสต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น การเห็น ฟัง ชิม ดม สัมผัส การพิจารณาถึงอารมณ์ที่มากระทบกายจากการรับรู้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจเช่น เจ็บปวด เศร้าหมอง ดีใจ เสียใจ ยินดี ไม่ยินดี ดีเลวต่างๆ และการนำสิ่งที่รับรู้สัมผัสได้ทั้งหมดนั้นมาพิจารณาตามความเป็นจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตประจำวัน เช่นตัดดอกไม้ตัดต้นไม้ ก็ได้แต่ตัดให้มันสั้นๆไม่รกหูรกตา เดินข้ามถนนก็แค่เดินมองซ้ายขวาหน้าหลังให้ปลอดภัยแล้วก็เดิน กวาดพื้นก็แค่กวาดๆให้สะอาด ชงชาก็ได้แค่ชงให้มีรสมีกลิ่นหน่อย ดังนั้นการที่เราจะเลียนแบบวิถีชีวิตแบบเซนโดยไม่ผ่านการฝึกที่ละเอียดในด้านหลักธรรมและสมาธิจิตนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถึงอย่างไรก็ตามความเข้าใจผิดเหล่านี้ก็มักจะมีอยู่มากเป็นวงกว้าง และขยายออกไปเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้ที่เข้าใจผิด หรือกลุ่มผู้ที่ขี้เกียจ และรักความสบายกลัวลำบากที่จะศึกษาจริงจังในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว
กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวทางกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นก็คือ การสร้างกำลังของจิตที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน และการใช้สติไตร่ตรองพิจารณาที่เรียกว่า วิปัสสนา นั่นเอง ดังนั้นการฝึกสมาธิ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่งๆดูลมหายใจเสมอไป แต่อาจจะเป็นการใช้สติพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจดจ่อแน่วแน่ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน ซึ่งแต่ละบุคคลก็ย่อมมีการฝึกในเรื่องของสมาธิและสติที่แตกต่างกันเพราะเกิดมามีภาวะทางจิตใจ ทางการเติบโตการเลี้ยงดู และภาวะทางสังคมที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะให้มาปฏิบัติในแนวทางเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผลเหมือนๆกัน และในแต่ละบุคคลก็ควรที่จะต้องค้นหาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับจริตนิสัยของตนเองด้วยตนเอง
“การภาวนา หรือการฝึกสมาธินั้น ให้ผลอย่างไรในการบรรลุมรรคผล” นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันมาอยู่แล้ว การบรรลุธรรมเข้าถึงมรรคผลนิพพานนั้น ไม่ได้เกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องอะไรกับอำนาจจิต หรืออิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะของจิต” พูดง่ายๆก็คือ อารมณ์จิตใจที่เป็นธรรมชาติของเรานั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นคนที่มีความเมตตาความรักอยู่ในตัว ย่อมกระทำสิ่งต่างๆด้วยความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น เอาใจเขาใส่ใจเราเพราะเกรงว่าผู้อื่นจะลำบาก คอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เป็นประจำ โดยไม่คิดถึงความลำบากของตนและกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยความสุขความเต็มใจ คนเหล่านี้อาจจะเห็นได้น้อยในสังคมที่เต็มไปด้วยความเอารัดเอาเปรียบ แต่มันไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย คนเหล่านี้ย่อมได้ชื่อว่ามีอารมณ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา โดยที่กระทำออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของนิสัยเขา และเขาเหล่านั้นย่อมมั่นคงต่อความรู้สึกการกระทำในแนวทางของเราอย่างมาก นั่นคือการเจริญเมตตาภาวนา เป็นหนึ่งในหลักการทำสมาธิด้วยการเจริญ “เมตตาพรหมวิหาร” ตัวอย่างเดียวกันนี้ มันจะแตกต่างจากผู้ที่ฝืนกระทำ หรือกระทำด้วยความไม่ตั้งใจ หรือถูกบังคับให้ทำ ถึงแม้การกระทำนั้นได้ชื่อว่ามีเมตตา แต่จิตใจนั้นอาจจะแอบแฝงไปด้วยความรังเกียจอิจฉาริษยาหรือโทสะโมหะอยู่ก็ได้ บุคคลที่มีเมตตาเป็นธรรมของนิสัยนั้น หากตายไปด้วยอารมณ์ความดีของเมตตานั้นย่อมส่งผลให้ไปบังเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งคุณสมบัติของพระพรหมนั้นย่อมประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา รวมสี่อย่างเป็น ”พรหมวิหารสี่” หรือการเจริญสมาธิในระดับฌาณย่อมสามารถมาบังเกิดเป็นพรหมได้เช่นกัน
จากตัวอย่างในเรื่องของผู้ที่มีความเมตตาอยู่ในจิตใจนั้น จิตใจเขาย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยความแน่วแน่มั่นคงความยึดมั่นทรงอารมณ์ในความเมตตาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงระดับของสมาธิที่มั่นคง ในการบรรลุธรรมนั้นเองย่อมเกี่ยวเนื่องกับการทรงอารมณ์ให้เป็นปรกติ การทำจิตใจให้เป็นธรรมชาติในแนวทางของคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั่นเอง ซึ่งมรรคผลนิพพานที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน โดยการเข้าสู่พระนิพพานนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแบ่งเป็นสี่ประเภท หรือที่เรียกกันว่า “อริยบุคคล” ประกอบไปด้วย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ การจะเป็นพระอริยบุคคลนั้นจะกล่าวในย่อหน้าต่อไป ซึ่งเกี่ยวกับการทรงอารมณ์ให้เป็นธรรมชาติ การทรงอารมณ์นั้นไม่ใช่แค่เข้าใจในหลักธรรมผ่านสมองหรือการท่องจำ แต่ต้องน้อมนำคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้ความรู้สึกนั้นมั่นคงลงในจิตใจไม่เสื่อมคลาย
พระโสดาบันนั้น คือการทรงอารมณ์ให้อยู่ในหลักความเข้าใจสามอย่าง ที่ภาษาพระเรียกว่า “ตัดสังโยชน์”  การละหรือตัดซึ่งสังโยชน์สามอันประกอบไปด้วย
“สักกายทิฏฐิ” การทรงอารมณ์ทำความเข้าใจให้ได้ว่า ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ของเรา ต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา (เพื่อลดความเห็นแก่ตัวของตัวเอง)
“วิจิกิจฉา” ความมั่นคงต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างไม่ลังเลสงสัยในพระรัตนะทั้งสาม
“สีลัพพตปรามาส” การไม่หลงเชื่อถือไม่ศรัทธาถือปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมตามคำสอนโดยไม่พิจารณา ไม่ถือเชื่อตามๆกันเพียงเพราะงมงายว่าได้ยินได้ฟังมาว่าสิ่งนั้นดี
ผู้ที่พยายามทรงอารมณ์ให้ได้สามอย่างนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชื่อว่าเป็น พระโสดาบัน แต่ก็ยังถือว่าได้เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน ได้เข้ามาอยู่ในหนทางแห่งพระโสดาบัน หรือ “โสดาปฏิมรรค”แล้ว
พระสกิทาคามี คือผู้ที่ทรงอารมณ์ของพระโสดาบันได้ และพยายามที่จะทรงอารมณ์เพิ่มขึ้นอีกสองข้อ จากพระโสดาบันคือ การละซึ่ง
“กามราคะ” การละซึ่งความติดใจในกามคุณ
“ปฏิฆะ” คือมีการกระทบกระทั่งในจิตใจ(ความโกรธรุนแรง หลงอยู่ในโกรธ)
พูดให้เข้าใจคือ พระสกิทาคามี จะเป็นผู้ที่สามารถตัดความพึงพอใจความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส(กามไม่ใช่แค่ความอยากในอารมณ์ทางเพศ แต่กามหมายถึงความต้องการทั้งหมด) และการละซึ่งความโกรธที่รุนแรง ไม่ได้หมายถึงความไม่มีโกรธ แต่ความโกรธยังมีอยู่ แต่จะมีสติรู้ตัวทันและหยุดความโกรธได้ก่อนที่จะหลงไปในความโกรธจนกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดี ประมาณว่าอยู่ดีๆเดี๋ยวๆก็โกรธ สบถด่า อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย
พระอนาคามีนั้นคือการละ หรือตัดสังโยชน์ทั้งห้าที่ได้กล่าวไปแล้วในพระโสดาบัน และพระสกิทาคามีโดยสิ้นเชิง
และในระดับสูงสุดคือ พระอรหันต์ ผู้ที่เป็นอรหันต์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถตัดหรือละสังโยชน์ทั้งสิบประการได้ โดยห้าข้อที่เหลือยู่นั้นประกอบไปด้วย
รูปราคะ มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน
อรูปราคะ มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย
มานะ มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน
อุทธัจจะ มีความฟุ้งซ่าน
อวิชชา มีความไม่รู้จริง
ก่อนที่จะทำความเข้าใจในสังโยชน์ที่เหลือนี้ อยากให้ลองอ่านศึกษาส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกเสียก่อน
“ตัณหา(ความอยาก)ที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่าฉันทะ(พึงพอใจ) ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้. แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่าราคะ(กำหนัดยินดี) ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้. ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถ เพื่อจะถือท่อนไม้เป็นต้นได้ ชื่อว่าโทสะ. ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่าปฏิฆะ. ส่วนความไม่รู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความหลงและความงมงาย ชื่อว่าโมหะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น” (อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔ อรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙ )
จะเห็นได้ว่า ราคะนั้นแปลว่าความกำหนัดยินดี กามราคะนั้นจึงหมายถึง ความยินดี ความกำหนัดในรูป ซึ่งกามราคะนี้ปราศจากความต้องการทางเพศ เป็นการติดอยู่ในรูป เช่นผู้ที่ชื่นชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ อย่างภาพวาด ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง คือการหลงใหลรักชอบอยู่ในสิ่งที่เป็นรูปจับต้องได้ ในส่วนของคำว่า อรูปราคะ ย่อมหมายถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่นชื่อเสียง อำนาจ บุญกุศล คนที่ยังติดอยู่ในอรูปราคะนี้มักจะทำใจไม่ได้เมื่อสูญเสียสิ่งเหล่านี้ การจะละซึ่ง รูปราคะและอรูปราคะนั้นก็คือการละความยึดติดยินดีในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั่นเอง แต่การละนั้นไม่ใช่เพียงแค่การพยายามตั้งใจที่จะกระทำ เหมือนดั่งที่อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า การจะบรรลุนั้นต้องอาศัยการทรงอารมณ์จนเป็นภาวะปรกติของจิตใจ ดังนั้นการทรงภาวะของจิตใจในส่วนของ รูปอรูปราคะนี้ จึงเป็นการพิจารณาการรับรู้ต่างๆแต่ไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง
ในคำว่า มานะ นั้นเป็นการยึดติดในตัวตนของตน ไม่ว่าจะดีกว่าตน เสมอตน หรือเลวกว่าตน ไม่ว่าจะอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเกิดขึ้นแล้วย่อมนำพาไปสู่ความทุกข์ของจิตใจ เมื่อดีกว่าเขาก็พึงพอใจจำอวดยกตนให้สูงกว่าคนอื่น เสมอตนก็ไม่พึงพอใจที่มีคนมาเทียบเคียงระแวงว่าเขาจะแซงหน้าตน เลวกว่าเขาก็น้อยใจตนต้องดิ้นทุรนทุรายพยายามผลักดันให้ตัวเองแซงหน้าเขา การจะละซึ่งมานะให้ได้นั้นย่อมต้องตัดความรู้สึกการมีอยู่ของตัวเองทิ้งไปเสีย ให้พิจารณาประหนึ่งว่าร่างกายนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นเรา ร่างกายเราเป็นแค่สิ่งที่ประกอบด้วยขันธ์ห้า
อุทธัจจะ นั้นคือสามารถสรุปง่ายๆว่าคือจิตฟุ้งซ่าน ความไม่สงบของจิต ความหวั่นไหวของจิต การละซึ่งอุทธัจจะนั้นย่อมหมายความว่า อารมณ์ใดๆย่อมไม่สามารถมากระทบจิตใจได้แล้ว ปราศจากกิเลส ความยินดียินร้าย พึงพอใจไม่พอใจ อันเนื่องมาจากการกระทบของจิต แต่การละซึ่งอุทธัจจะไม่ใช่การเพิกเฉยตายด้านในความรู้สึก ความรู้สึกยังรับรู้ได้ แต่ไม่มากระทบจนเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ
และในส่วนสุดท้ายเลยที่จะนำพาเข้าสู่การเป็นพระอรหันต์ และยังไปสู่การจุติในพระนิพพาน ก็คือ อวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่รู้ในหนทางการดับทุกข์ให้สิ้นเชิง การตัดอวิชชาก็คือ การรู้อริยสัจสี่ ประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ นิโรธความพ้นทุกข์ และมรรคหนทางดับทุกข์ ซึ่งทางดับทุกข์นั้นประกอบไปด้วยแปดอย่างเรียกว่า มรรคแปดคือ
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง ความเชื่อ ความรู้ ปัญญา หรือมุมมอง ที่ถูกต้องตรงกับความจริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดที่ถูกต้อง หมายถึง ความคิดที่ต้องละเว้นจากความพอใจ ความพยาบาท และการเบียดเบียน
สัมมาวาจา คือ เจรจาที่ถูกต้อง หมายถึง การพูดที่ต้องละเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ คือ การปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง หมายถึง การกระทำที่ต้องละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง หมายถึง การทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการทุจริต และเอาเปรียบผู้อื่น
สัมมาวายามะ คือ ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง หมายถึง ความอุตสาหะ หรือความพยายามที่อยู่ในวิถีทางที่ดีงาม ละบาปอกุศลทางใจ และเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สัมมาสติ คือ การมีสติที่ถูกต้องในสิ่งที่ควร หมายถึง การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา โดยกำจัดความฟุ้งซ่าน รำคาญ หดหู่ ง่วงซึม สงสัย และลังเล คือการพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เช่นการเจริญอานาปานสติสมาธิ มีสติรู้ลมหายใจ
สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิในทางที่ถูกต้อง หมายถึง การฝึกจิตฝึกสติให้เกิดความนิ่งจดจ่ออยู่แต่ในสิ่งที่เป็นกุศลหนทางความถูกต้อง
การเป็นพระอริยะบุคคลของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การมีอิทธิปาฏิหาริย์สูงส่งอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน พระอรหันต์ก็คือคนธรรมดาที่มีสภาพของความคิดอารมณ์ที่ยกระดับขึ้นไม่เหมือนปุถุชนคนธรรมดาเท่านั้นเอง พระโสดาบันก็ยังมีความต้องการทางเพศ มีอาชีพมีชีวิตเหมือนคนปรกติ เพียงแค่มีความคิดที่ถูกต้องในแนวทางโสดามรรค พระสกิทาคามี ก็มีเรื่องทางเพศเหมือนคนทั่วไปแต่มีน้อย มีฉุนเฉียวจากโทสะบ้างเล็กน้อย พระอนาคามีคือผู้ที่ละแล้วซึ่งความต้องการทางเพศ การควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดีแต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์ใดๆเลยแต่มีอารมณ์เกิดขึ้นและหยุดดับอารมณ์นั้นได้เร็ว และพระอรหันต์คือผู้ซึ่งปราศจากกิเลสความต้องการต่างๆ ความยึดถือเป็นตัวตน การไม่มีเกิดอารมณ์ใดๆจากการกระทบของร่างกายและจิตใจ และเป็นผู้เข้าใจในความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน นี่ถึงจะเรียกว่าเป็นพระอริยะบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นจะเห็นว่าในขั้นแรกของพระอริยะคือพระโสดาบันนั้น มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถึงระดับนั้น การเป็นพระโสดาบัน หลายคนมักเข้าใจว่าต้องศึกษาธรรมมากมาย ท่องพระสูตร ถกอภิธรรม จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหล การเป็นพระโสดาบันนั้นแม้แต่เด็กผู้หญิงเจ็ดขวบก็สามารถที่จะทำได้ ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระพุทธประวัติ ชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายในตลาดก็สามารถเป็นได้ ดังนั้นขอเพียงแค่มีความเข้าใจในการปฏิบัติก็สามารถที่จะเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่ายดาย
ในการจะถึงมรรคถึงผลในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมถึงด้วยกำลังการปฏิบัติของตนเองทั้งสิ้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสไว้ว่า “อกฺขาตาโร ตถาคตา เพราะพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกอย่างเดียว“ แม้พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนสอนเอง แต่หากเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ไม่สามารถไปถึงหนทางของนิพพานนั้นได้เลย เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถช่วยเหลือฉุดใครขึ้นมาจากนรก หรือฉุดใครเข้านิพพานได้ ดังนั้นในหลากหลายคำสอนที่มาจากลัทธิแอบแฝงว่าเป็นพระพุทธศาสนานั้น มักจะกล่าวอ้างถึงความสะดวกสบายในการเข้าสู่มรรคผลว่าไม่ต้องทำสมาธิ เพียงแค่มีสติตั้งใจ ฟังทำตามคำสอนของลัทธินั้นๆ เข้าพิธีกรรมฝากตัวเป็นศิษย์ของลัทธินั้นๆก็จะรอดพ้นจากนรก เพราะมีพระโพธิสัตว์ มีพระพุทธเจ้าคอยฉุดดึงไว้ คอยช่วยเหลือนั้นจึงเป็นความเห็นที่ผิดไปจากพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่คำสอนหรือการปฏิบัติของลัทธินั้นๆจะเป็นเรื่องของความดี เป็นเรื่องของบุญ เป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ก็ตาม
จึงฝากแนวทางในการทำความเข้าใจ พิจารณา และปฏิบัติทั้งหลายข้างต้นนี้ให้แก่ผู้ที่มีความตั้งใจในการเป็นพุทธบริษัทที่ดีได้ทำความเข้าใจ ปฏิบัติให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาต่อไป และห่างไกลจากคำลวงต่างๆจากการพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองเทอญ





วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พุทธบริษัทเป็นอย่างไร

พุทธบริษัทเป็นอย่างไร
สิ่งที่เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับปัจจุบันเราคือเรื่องการนับถือศาสนา มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หลอกลวง เป็นเรื่องความเชื่อของคนโบราณ ไม่ทันสมัย พิสูจน์ไม่ได้จริง และเป็นเรื่องของจิตวิทยาเพื่อควบคุมฝูงชน โดยปัจจุบันความสำคัญของศาสนานั้นถูกลดทอนลงไป จากแนวทางในการดำเนินชีวิต จุดมุ่งหมายของชีวิต คำสอนกรอบแห่งศีลธรรมอันดี เรื่องประวัติ ข้อบัญญัติต่างๆ กลับถูกมองว่าสามารถลดหย่อนลงได้ ไม่มีความจำเป็น ไม่ต้องซีเรียสกับมัน จนกลายเป็นความหย่อนหยานในศีลธรรม ความไร้มนุษยธรรม จรรยาบรรณอันดีในสังคม ทั้งๆที่การนับถือศาสนานั้น จริงๆแล้วใครจะเลือกนับถืออะไรก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อเลือกแล้ว ก็ควรจะศรัทธาที่จะทำตามกรอบบัญญัติคำสอนของศาสนานั้นให้ได้เต็มที่ ไม่ใช่อยากจะนับถือแพะ อีกวันนับถือแกะ เอาแพะมาชนแกะ เอาวัวมาผสมกระบือ หรือจะทำตามใจฉัน เอาที่ตัวเองสบายใจโดยแหกกฎ แหกระเบียบ แหกคำสอนให้มันแหวกแนวจากที่มีมาแต่เดิม
ยกตัวอย่างเช่นพุทธศาสนา หากใครจะนับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนิกายไหน มหายานหรือเถรวาท หรือวัชรยานก็มีแนวทางเหมือนๆกันคือ ควรจะต้องมีสรณะสูงสุดคือพระรัตนตรัย ดำเนินชีวิตให้มีจุดมุ่งหมายตามความสำเร็จที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้คือ พระนิพพาน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องดำรงไว้ซึ่งความดี ตามแนวทางหัวใจพระพุทธศาสนา ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หรือในภาษาพระที่ว่ากันว่า ทานศีลภาวนา นี่ถึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่า คนที่นับถือพุทธ เป็นพุทธบริษัทที่ดีกลับถูกมองว่าเป็นผู้งมงาย เคร่งเครียด ตึงเกินไป ไม่ได้เดินตามทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ทั้งที่ทางสายกลางที่คนทั่วไปคิดนั้นมันเป็นหนทางปรนเปรอความสบายของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ทางสายกลางในการปฏิบัติให้ถึงมรรคผลการหลุดพ้นเลย ในปัจจุบันกลายเป็นว่ามีคนนับถือพุทธมากมายหลากหลายแบบ ซึ่งมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “พุทธทะเบียนบ้าน” ซึ่งในพุทธทะเบียนบ้านนั้นยังมีอีกหลายแบบให้น่าศึกษากันต่อไป
“พุทธไม่ซีเรียส” พวกนี้มักอ้างตัวว่าเป็นพุทธ ทั้งๆที่บางคนไหว้ผี ไหว้พราหมณ์ ไหว้เทพตามศาสนาอื่นๆอย่างไร้เหตุผล ไหว้ตามๆกันบูชาศรัทธาตามๆกันโดยไร้เหตุผลประกอบ เพียงแค่ไหว้บูชาไปตามที่เขาพูดกันว่า “ดี” หรือ “ศักดิสิทธิ์” โดยไร้จุดยืนของตัวเอง พวกนี้มีทั้งถือศีลเคร่ง และไม่เคร่ง ทำตัวเหมือนเป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็งมงายขาดปัญญาไปหน่อย  
“พุทธแท้จอมปลอม” เป็นพวกยึดติดในตำรา คลั่งใคล้ศาสนามากเกินไปจนไร้เหตุผล พวกเหล่านี้มักจะหลงตัวเองว่าดีเลิศประเสริฐศรีกว่าผู้อื่น เพราะตนเองท่องพระสูตรเป็นเล่มๆ รักษาศีลไม่ด่างพร้อย ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้ตัวเองเลยว่าตัวเองนั้นที่ทำไปทั้งหมดก็เพียงเพื่อต้องการได้รับความยกยอสรรเสริญจากคนอื่น เพื่อเอาไปใช้ยกให้ตัวเองดูดีขึ้น ทั้งๆที่ตัวเองก็ทำตัวเป็น”มือถือสากปากถือศีล” ชอบยกคำสอนพระพุทธเจ้ามาเพื่อทำลายคนอื่นโดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย พวกเหล่านี้คือพวก “พุทธแท้จอมปลอม” ซึ่งมีมากมายหลากหลายตามจริตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในกรรมฐาน จะเห็นได้ง่ายๆจาก “สมถะบ้าอำนาจ วิปัสสนาขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ อุเบกขาบ้ายอ อภิธรรมขี้คุย”
“พุทธหนีความจริง” พวกนี้เป็นพวกหลงตัวเองว่ามีความเป็นพุทธจากความรู้ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกหรือจะผิด แต่ชอบสอน และแดกดันคนอื่นที่อยู่ในศีลอยู่ในกรอบ ชอบอ้างว่าพระพุทธเจ้าสอนทางสายกลาง ก็เลยถือศีลแบบครึ่งๆกลางๆ รู้ธรรมแบบงูๆปลาๆไปด้วย อ้างว่าอุเบกขา ทั้งที่กำลังหนีความจริงหนีปัญหา ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง อย่างเช่น การลบหลู่พระพุทธรูป ที่ไม่ควรลบหลู่ก็เพราะมันเป็นศรัทธาของคน ไม่ควรจะมาเหยียบย่ำ การเตือนหรือการรณรงค์ก็ดีก็เป็นการปรับความเห็นให้ตรงกันเพื่อการอยู่ร่วมกันที่ดี แต่คนกลุ่มนี้มักชอบอ้างว่า “อุเบกขา” แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นลบหลู่พระพุทธเจ้าต่อไป พอใครออกมาพูดแย้งหน่อยก็หาว่าอีกฝ่ายเป็นพวกงมงายแบบ”พุทโธเลี่ยน” ทั้งๆที่ตนเองนั้นไม่ได้อยากจะไปรับผิดชอบ หรือลำบาก หรืออะไรเลย กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อโดนแย้งกลับจนเถียงไม่ได้ ก็มักจะอ้างว่า “เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ผมยังมีกิเลสอยู่”และอื่นๆ
“พุทธขี้กลัว” คนเหล่านี้จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ แต่ที่มานับถือพุทธ อาจจะเป็นเพราะกลัว เกรงใจคนรอบข้าง ถูกบังคับตามครอบครัว ประเพณี และจะมีความเกรงกลัวต่อบาปมาก กลัวตกนรก กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น วันใดก็ตามที่คนเหล่านี้ถูกสอนให้เชื่อในสิ่งใด ก็จะเชื่อโดยทันทีเพราะเกรงกลัวต่อบาป และตกนรก โดยเฉพาะคำสอนจากศาสนาอื่นๆ หรือกลุ่มลัทธิศาสนาแอบแฝง
คนเหล่านี้บางประเภทที่ยกตัวอย่างไปแล้ว บางจำพวกนั้นไม่สมควรจะเรียกตนเองว่าเป็น  “พุทธศาสนิกชน” เลยด้วยซ้ำไป ส่วนในการจะเป็น พุทธบริษัทที่ดีนั้น ก็ขอเพียงแค่ใช้สติพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้ห้ามนับถือเทพจากศาสนาอื่นๆ แต่เพียงแค่ว่าต้องนับถือในความดีที่เทพเหล่านั้นได้กระทำ คือพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจะนับถือ ไม่ใช่ว่าใครว่าศักดิสิทธิ์ก็ไหว้บูชากันหมด หรือยึดถือเทพเป็นทางพ้นทุกข์ ต่อมาคือการรักษาศีล ศีลเป็นกรอบแห่งความดี ซึ่งพื้นฐานมีห้าข้อ เรื่องของศีลนี้ขอเพียงทำให้ได้มากที่สุดด้วยความตั้งใจจริง ใครทำห้าไม่ได้ก็ทำสี่ ใครทำสี่ไม่ได้ก็ทำสาม ไม่ได้สักข้อก็ขอให้ทำให้ได้สักข้อก็ยังดีกว่าไม่มีศีลอะไรเลย ขอเพียงแค่เริ่มทำสักข้อก็จะค่อยๆนำพาไปสู่กรอบของความดีอื่นๆเอง เมื่อมีทั้งไตรสรณะ และศีลแล้ว ก็ยังเหลือความเข้าใจในแก่นหลักของพระพุทธศาสนา คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือพูดง่ายๆก็คือ ทำดี ละชั่ว ทำจิตให้ผ่องใส โดยเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นมาแต่กรรม มีเหตุปัจจัยส่งผล และทุกสิ่งไม่ยั่งยืน
“ทาน” นั้นคือการทำดี คือการจุนเจือเมตตาต่อผู้อื่น ต่อสัตว์ร่วมโลก โดยหวังจะให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ พ้นจากความลำบาก ไม่ว่าจะจุนเจือช่วยเหลือด้วยกาย วาจา หรือใจ ล้วนเป็นทานทั้งสิ้น โดยทานยังสามารถลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดตัวตนความอยากความเห็นแก่ตัวได้ด้วย ซึ่งผลของทานยังทำให้เป็นที่รักแก่ผู้คนอีกด้วย
“ศีล” นั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หากทำไม่ได้จริงๆก็ขอเพียงสักข้อสองข้อก็พอ แต่อย่าในข้อสองข้อนั้นอย่าได้ขาด ควรจะถือให้มั่นคง โดยการรักษาศีลนั้นจะเป็นกรอบของการกระทำให้ตั้งอยู่ในความดี เมื่อเราอยู่ในศีล ศีลย่อมรักษาเราจากความชั่ว ภัยอุปสรรคใดๆที่จะมาจากความชั่วนั้นก็จักไม่ย่างกรายเข้ามา หรือต่อให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นน้อย โดยศีลนั้นยังนำมาซึ่งความสุข ทำให้เราเป็นที่น่าคบหานำมาซึ่งโภคทรัพย์ และยังเป็นอริยทรัพย์นำพาไปสู่พระนิพพาน
“ภาวนา” นั้นคือการทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การภาวนานั้นโดยทั่วไปคิดว่าคือการท่องบ่นบริกรรมพรรณาถึงเทพเจ้า พระเจ้า หรือพระพุทธเจ้า หรือการนั่งสมาธินานๆไม่ลุกไปไหน หรือการนั่งสมาธิจนเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ในความเป็นจริง ภาวนา คือการมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมั่นคงแน่วแน่ เมื่อสติแน่วแน่ย่อมเกิดเป็นสมาธิ สติที่พร้อมด้วยสมาธิย่อมส่งผลให้เกิดปัญญาการมองเห็นถึงความเป็นไปทางโลกที่ชัดเจนขึ้น และจะทำให้เข้าใจความหมายของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้นด้วย การภาวนานั้นควรจะต้องดำรงอยู่ในสี่แนวทาง คือใช้สติตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ใช้สติตามรู้การรับรู้ของร่างกาย ใช้สติตามรับรู้สิ่งที่มากระทบจิตใจของเรา และใช้สติพิจารณาข้อความจริงในข้อธรรม ซึ่งนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยทั้งสี่อย่างนี้เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ ประกอบไปด้วย กายเวทนาจิตธรรม สรุปให้เข้าใจง่ายๆสำหรับการภาวนาก็คือ การทำจิตให้ผ่องใส มีสติพร้อม หากเรารู้ตัวว่ากำลังโลภโกรธหลงอยู่ในสิ่งใด ก็ขอให้พยายามรู้ตัวและขจัดความโลภโกรธหลงให้ได้เร็วที่สุดเท่านั้นเอง ทีนี้การจะรู้ตัวได้เร็วขนาดไหนก็ขึ้นกับการฝึกฝนของแต่ละคน
การจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องศึกษามาก แต่ขอให้ศึกษาในสิ่งที่เข้ากับจริตนิสัยตนเอง และปฏิบัติให้เข้าถึง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นมีมากถึง 84000พระธรรมขันธ์ ที่มีมากก็เพื่อเอาไว้รองรับการสอนให้กับผู้คนที่มีนิสัยจริตต่างกัน มีสภาวะปรุงแต่งต่างกัน ถิ่นที่อยู่ต่างกันเป็นต้น คำสอนจึงมีมากมาย แต่สิ่งที่ทรงสอนนั้นหากเปรียบกับสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้มา ก็เปรียบได้ดั่งแค่ใบไม้ในกำมือ กับใบไม้ในป่าใหญ่ แต่ทุกคำสอนนั้นมุ่งเน้นเพื่อการหลุดพ้นเหมือนกันทั้งนั้น มันอาจจะมีคนที่สามารถจดจำพระธรรมในพระไตรปิฎกได้หมด แต่มันก็ไม่ได้ยืนยันความเข้าใจว่าคนๆนั้นจะเข้าใจธรรมที่พระองค์ทรงสอน คนที่ท่องพระสูตรอะไรไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกัน คนบางคนที่มีความเมตตาต่อสัตว์ต่อเพื่อนบ้าน มองโลกในแง่ดี ไม่เคยโกรธใครนานๆ ไม่เคยยึดถือสิ่งใดมาเป็นอารมณ์ให้ขุ่นเคืองว้าวุ่นใจ คนเหล่านี้อาจจะไม่สามารถท่องพระสูตรคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เลย แต่กลับเข้าถึงเมตตาพรหมวิหารที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเน้นย้ำได้เป็นอย่างดี
การจะเข้าถึงพระพุทธศาสนานั้น เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน ดั่งคำว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” ดังนั้นในบางครั้งหากสนทนากันเพื่อเทียบความเข้าใจ มันอาจจะไม่มีใครเข้าใจอย่างเราก็ได้ หากเขายังไม่มีปัญญา หรือภูมิธรรมเช่นเรา ดังนั้นข้อธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาจำอวดกัน แข่งกันพูดเรื่องธรรมให้มากๆจะได้กลายเป็นคนมีภูมิธรรมสูง ใครพูดได้น้อยก็จะกลายเป็นคนโง่ หากมันเป็นกันเช่นนี้ ก็ขอเป็น “คนโง่ที่เดินตามมิจฉาทิฏฐิความเห็นอันถูกต้องตามแนวทางพระพุทธเจ้า ดีกว่าเป็นคนฉลาดที่หลงไปในมิจฉาทิฏฐิทางแห่งความเห็นที่ผิด”
มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน หรือไม่ว่าจะทุกยุคทุกสมัย ที่มักจะมีคนชอบอวดภูมิ อวดรู้ และมักจะดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจากศาสนิกชนจากศาสนาอื่นๆ หรือเป็นพุทธบริษัทด้วยกันเอง หรือจะเป็นคนไร้ศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ในทุกสังคม และในสังคมชาวพุทธด้วยกันเองก็ย่อมที่จะมีคนเหล่านี้อยู่มาก นั่นคือพวกหลงตัวเอง อวดภูมิ อวดรู้ แดกดันส่อเสียดดูถูกเหยียบหยามผู้อื่น โดยที่มักจะอ้างถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่ตนอยู่มานานกว่า รู้มากกว่า ท่องได้มากกว่า มีฐานะดีกว่า พูดจาสวยหรูมากกว่า คนนับถือมากกว่า ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าคนอื่น ทั้งๆที่เป็นพวก”เอาชั่วใส่เขา เอาดีเข้าตัว”

ดังนั้นผู้ที่เป็นพุทธบริษัท เป็นศาสนิกชนที่ดี ก็ไม่ควรจะหลงไปในคำเท็จคำลวงเหล่านั้น ขอให้มีจิตใจมั่นคงอยู่ใน พระรัตนตรัย อยู่ในกรอบของ ทานศีลภาวนา มีสติรู้ตัวห่างไกลจากโลภโกรธหลงให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ระลึกถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่าหลงเชื่อตามบุคคลอื่นเพียงแค่เขาบอกว่าดี(โดยไร้เหตุผล) เพียงเท่านี้ความเป็นพระอริยะแห่งพระนิพพานในขั้นต้น อันได้แก่แนวทางแห่งการเป็นพระโสดาบันย่อมบังเกิดแก่สาธุชนทั้งหลายดังนี้ 

ลัทธินอกศาสนาที่ต้องระวังใน ศาสนาพุทธมหายาน

ลัทธินอกศาสนา ลัทธิแอบแฝงพระพุทธศาสนา 
ผมไม่ได้ต้องการที่จะขัดแย้งอะไรกับใคร แต่ที่ผมต้องการจะสื่อคือ ควรใช้ปัญญาในการคิดพินิจพิจารณาสิ่งต่างๆ ส่วนการเลือกที่จะศรัทธานับถือในศาสนา ลัทธิใดๆ ผมไม่ขอยุ่ง เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งที่ผมจะพูดแน่นอนว่ามันอาจจะไม่ถูกใจใครหลายคนที่นับถือในลัทธินั้นๆ เพราะมันอาจจะเป็นการโจมตีโดยตรง และทางนั้นก็อาจจะหาเหตุผลข้างๆคูๆมาแย้งว่าผมไม่รู้จริง หรือเป็นพวกทำลายความสงบสุขในวงการศาสนา
ผมเป็น “พุทธศาสนิกชน” เป็น “พุทธบริษัท” ซึ่งต่างจากคนในปัจจุบันที่อ้างกันว่า นับถือศาสนาพุทธ แต่แทบจะไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับพุทธ ผมย่อมต้องปกป้องศาสนาที่ผมเคารพนับถือและศรัทธา ดังนั้นถ้าดูจากเหตุผลที่อ้างมานี้ มันย่อมแสดงว่าผมไม่ได้เป็นคนเริ่มขัดแย้งก่อน แต่ผมออกมาสร้างความเข้าใจในการนับถือศาสนา โดยให้ข้อเท็จจริงที่ควรทราบเท่านั้น
การจะอ้างว่าเป็น “พุทธ” แต่ไม่ปกป้องพุทธ และอ้างว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม และไม่ยุ่งเรื่องคนอื่น สนใจแต่ตัวเอง อันนี้ผมขอกล่าวว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบ และปัดจิตสำนักของความเป็นศาสนิกชนไป มันเป็นเพียงแค่ความไม่อยากไปยุ่งเรื่องคนอื่น ไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนเข้าตัว เท่านั้น คือทำตามแต่ที่ตนสบายใจ
บางคนอาจจะมองว่าผมเป็นพวกหัวโบราณ เป็น “ติ่งพุทธ” ศาสนาเป็นเรื่องงมงาย หลอกลวง หรือจะอะไรก็แล้วแต่ มันก็เป็นสิทธิของคุณในการมองตัวผม ผมก็มีสิทธิของผมที่จะนับถือและเชื่อในสิ่งเหล่านี้
บางคนไม่ซีเรียสเรื่องการนับถือศาสนา อ้างว่า ทุกศาสนาก็สอนให้เป็นคนดีหมด ดังนั้นก็ขอให้เป็นคนดีก็พอ จะนับถืออะไรก็ไม่สำคัญ ดังนั้นคนเหล่านี้จะนับถือ จะไหว้ได้หมด เคารพได้หมด สิ่งเหล่านี้ผมถือว่าดีครับ แต่ก็ควรที่จะมีกรอบของตัวเองบ้าง มีเหตุผลในการนับถือบ้าง มีแก่นสำคัญในการศรัทธาบ้าง และไม่ใช่เพียงแค่ นับถือตามเขา เชื่อตามเขาพูด ศรัทธาตามฝูงชน หรือจะอะไรก็แล้วแต่ซึ่งมันไม่ได้แสดงถึงปัญญา ต้องมีจุดยืนให้แน่ชัด มีสรณะที่มั่นคงสูงสุด ส่วนจะแน่ชัดแล้วมีการผ่อนปรน มีการเปิดใจกว้างต่อศาสนาอื่นก็เป็นอีกเรื่อง  ไม่อย่างนั้นแล้วมันก็ไม่สมควรที่จะเรียกว่าตัวเองเป็น “ศาสนิกชน” ของศาสนานั้นๆ ควรจะเรียกตัวเองว่า “ไม่มีศาสนา” จะดีกว่า เพราะไม่ได้นับถืออะไรจริงจัง
ไอ้การนับถือจริงจังเนี่ย จริงจังหรือไม่จริงจังเป็นเรื่องส่วนบุคคล มันอาจจะใช้ได้ หรือใช้ไม่ได้ในชีวิตประจำวันของคนบางคน ซึ่งมันก็แล้วแต่จริตความชอบความเห็นส่วนบุคคล ผมไม่อยากสร้างประเด็นขัดแย้งอะไรมากนัก เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร แต่ที่มันจะเสียหายคือ พวกที่ชอบอ้างว่า “พุทธแท้” “เป็นพุทธ” โดยที่ตัวเองทำตัวไม่ซีเรียสเรื่องศาสนา เป็นคนไม่เข้าใจหลักศาสนาใดๆเลย ขอเอาแค่ความเห็นตัวว่าสบายใจก็พอ แล้วก็ไปขัดแย้งกับคนอื่น หาว่าคนที่รณรงค์เรื่องศาสนาดั้งเดิมแบบพวกผมเป็นพวกหัวโบราณไม่ทำตามคำสอนพระพุทธเจ้า คนเหล่านี้อาจจะไม่รู้ตัวว่ากำลังทำให้ศาสนาพุทธนั้นสูญหายไปจากประเทศไทยโดยไม่รู้ตัว เหมือนที่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในหลายๆประเทศที่มีประวัติศาสตร์ว่าเป็นดินแดนแห่งพุทธ
----------------------
ส่วนสิ่งที่ผมทำนั้น ผมไม่ได้อะไรมากมาย ผมแค่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในฝ่ายของศาสนาดั้งเดิม กับข้อเท็จจริงทางวิชาการต่างๆ ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อ จะนำไปวิเคราะห์ต่อ หรือจะด่าผม อันนี้ก็แล้วแต่บุคคล ผมไม่ได้สนใจอะไร ผมถือว่าผมทำตามหน้าที่ ใครเข้าใจดีก็ดีไป ใครเข้าใจไม่ดี ผมก็ถือว่าปล่อยวาง อุเบกขาไป ไม่ได้ยึดมาเป็นอารมณ์อะไรอยู่แล้ว เพราะมันเป็นวาสนาของพวกคุณ เป็นกรรมของพวกคุณที่ผูกพันสร้างกันมาให้ตามกันมาเป็นศิษย์อาจารย์ เป็นผู้นำลัทธิกับสาวกลัทธิ ต่อให้พระพุทธเจ้าทรงมาชี้แนะเอง หากไม่เคยสร้างบารมีมากับพระพุทธเจ้า ก็คงไม่เข้าใจสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอน เปรียบได้เหมือนเหล่าศิษย์เทวทัต ทั้งที่เป็นพุทธสาวกในพุทธกาลแท้ๆ ยังกลับไปเชื่อถือคำของพระเทวทัต คนเหล่านี้ต้องใช้กรรม ต้องถึงเวลาอันเหมาะสมที่กรรมดีจะส่งผล มันถึงจะมีวาสนาได้ค้นพบความจริง ซึ่งใครก็แทรกแซงหน้าที่และเวลาของกรรมไม่ได้ จะมีแต่กรรมด้วยกันเท่านั้นที่จะเปลี่ยนแปลงกรรมได้
----------------------
ทีนี้มาเข้าประเด็นสักทีนะครับ............ศาสนาพุทธ หากพูดเรื่องความดั้งเดิม และหลักธรรมคำสอน จารีต โดยเทียบจากประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกกันต่อๆมา สืบทอดกันต่อๆมารุ่นสู่รุ่น นั่นคือ “พุทธเถรวาท” ในประเทศไทย ที่เป็นสาย “ลังกาวงศ์” ลังกาวงศ์นั้นสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ผ่านการสังคายนามาเรื่อยๆจนมี “พระไตรปิฎก” มีการเรียนบาลี เพื่อสืบทอดภาษาดั้งเดิมของ “พุทธวจนะ” ซึ่งเป็นภาษาพูดของชาวมคธ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงใช้ในการสอน ดังนั้นความผิดเพี้ยนในการบันทึก ในการสอน ย่อมมีความผิดพลาดน้อยถึงน้อยมากในพระไตรปิฎกฉบับบาลี ส่วนการตีความแปลบาลีให้เป็นภาษาต่างๆนั้นก็ขึ้นกับความรู้ความเข้าใจในบาลี จนทำให้เกิดความแตกต่างกันของการปฏิบัติจนกลายเป็น เถรวาทแบบ มหานิกาย และธรรมยุต ในประเทศไทย ซึ่งทั้งสองสายนี้ก็แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขอให้เข้าใจไว้ก่อนว่า “เถรวาท” นั้นยึดตามจารีตประเพณี คำสอน วินัยต่างๆแบบดั้งเดิมโดยแทบจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อวัตรปฏิบัติใดๆเลย ถึงจะมีอนุโลมเป็นบ้างข้อในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคำสอน หรือข้อวินัยในพระไตรปิฎก เพราะยังคงรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังให้เห็นสืบทอดกันต่อไป หากเปลี่ยนในพระไตรปิฎก เปลี่ยนในข้อวัตร มันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆจนไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้ชนรุ่นหลังศึกษา
ในประเด็นเรื่อง “มหายาน” หรือนิกายต่างๆที่แยกมาจากมหายานนั้นเนื่องจาก พระพุทธเจ้าทรงรับสั่งว่า ข้อวินัยเล็กๆน้อยๆนั้นสามารถปรับเปลี่ยนได้ให้ทัน และเหมาะสมกับกาลสมัย ดังนั้นนี่จึงเป็นหนึ่งในที่มาของการแยกตัวออกมาเป็น มหายาน ในอีกประเด็นหนึ่งคือ การไม่ยอมรับการสังคายนา จึงได้แยกตัวออกไปทำการสังคายนาด้วยตนเอง จนกลายเป็นกลุ่มนิกายย่อยๆลงไป ซึ่งในอดีตมีเกือบถึง 20นิกายของพุทธศาสนา
กล่าวง่ายๆก็คือ คำสอน ประวัติของมหายานนั้น เรียกได้ว่าถูกเพิ่มเติม แต่งเพิ่มเข้าไปในภายหลังนั่นเอง ซึ่งก็ถูกเพิ่มเติมจนแตกต่างไปจาก พุทธดั้งเดิมหรือเถรวาทไปบ้าง แต่หลักการส่วนใหญ่ เหตุการณ์สำคัญนั้นๆก็ไม่แตกต่างกันมากนัก และทุกนิกายก็ยอมรับอยู่ในใจกันหมดว่า ดั้งเดิมสุด สืบทอดมาจากพระโคตรมะศากยมุนีพุทธเจ้าโดยตรงนั้นคือ “เถรวาท” หรือที่เรียกกันว่า “หินยาน” แม้แต่ท่าน “ทาไลลามะ” องค์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังฆราชปกครองสงฆ์ในสายวัชรยานในทิเบต ท่านก็ยังยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้ พระสงฆ์มหายานในโลกก็ยอมรับข้อเท็จจริงข้อนี้
เพียงแต่ฝ่ายมหายานต่างๆนี้ ท่านมีความเห็นแตกต่างกันตรงเรื่อง สิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนในเถรวาทนั้น เป็นธรรมที่เหมาะแก่การหลุดพ้นจากทุกข์ มุ่งสู่พระนิพพานโดยตรง รวดเร็ว แต่นั่นไม่ใช่แนวทางของมหายาน มหายานต้องการที่จะมุ่งตรงต่อ “พุทธภูมิ” เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่ไปนิพพานในฐานะสาวกของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธเจ้านั้นสามารถสอนไวไนยสัตว์ได้ครั้งละจำนวนมากกว่าผู้ที่เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จึงเรียกแนวทางของตนว่าเป็น มหายาน ยานที่นับสัตว์ไปได้มากกว่าใหญ่กว่า ในส่วนของคำสอนมหายานนั้น มีความเชื่อกันว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เถรวาทนั้น เป็นใบไม้ในกำมือที่พระพุทธเจ้าทรงกำไว้ แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้นเปรียบได้กับใบไม้ในป่าใหญ่ มหายานจึงสอนสิ่งเหล่านั้นซึ่งไม่มีในเถรวาท
ส่วนประเด็นว่า อ้าว...คณาจารย์ฝ่ายมหายานท่านรู้ได้อย่างไรว่านี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนจริง คณาจารย์ในอดีตท่านนั่งเทียนแต่งคำสอนใหม่กันเองรึเปล่า เรื่องนี้มันก็สามารถมองได้สองประเด็นครับ ขึ้นกับว่าใครจะเชื่ออันไหน ซึ่งขึ้นกับปัญญาพิจารณาของแต่ละบุคคล
1.       มันก็เกิดจากการมโนของคณาจารย์มหายานจริงๆนั่นแหล่ะ จบ....
2.       มันอาจจะเกิดจากปฏิบัติของคณะจารย์จนท่านได้ ฌานสมาบัติ ได้ญาณอันเป็นวิมุติ และสามารถสัมผัสได้ถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์ต่างๆได้จริง ตามที่มีการบันทึกไว้ในพระสูตร และประวัติของทางมหายาน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มันเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรม ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรมด้วยกันเท่านั้นถึงจะสามารถเห็นตรงกันได้ เพราะพระธรรมนั้นเป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” คือรู้ได้เฉพาะตน (ในส่วนตัวผม ผมเชื่อแบบนี้ )
ในส่วนตัวของผมที่เป็นผู้เขียน ผมเลือกที่จะเชื่อและศรัทธาในแนวคิดประเด็นที่สอง เพราะสิ่งที่มหายานสอนไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องเลือกที่จะศึกษา และพิจารณาถึงแก่นของหลักธรรม และประวัติที่น่าเชื่อถือด้วย ผมเองนั้นในทางพุทธประวัติ ผมจะเชื่อในทางเถรวาท ส่วนพระธรรมของมหายาน ผมเลือกที่จะศึกษา และเท่าที่ศึกษามาก็เป็นเพียงการตีความ การแปล และการอธิบายที่แปลกใหม่ มีการใช้คำนิยาม การเรียกขาน และกุศโลบายในการสอนที่แตกต่างกันเท่านั้น เรื่องของพระญาณของพระพุทธเจ้า หรือพระโพธิสัตว์ต่างๆ ที่ปราฏกเป็นตรีกายแบบมหายานนั้น ก็ขอให้ทุกท่านที่ได้อ่านบทความผม นั่งสมาธิปฏิบัติภาวนากันไปเองเสียดีกว่าที่จะมาหาอ่านจากข้อมูลเชิงวิการ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็น ปัจจัตตัง ได้จากการปฏิบัติ ไม่ใช่ได้จากการอ่าน หรือการเชื่อแบบงมงาย (ในเรื่องนี้ผมไม่ปฏิเสธนะ) แต่ผมก็จะมีจุดยืนของตัวผม หากผมเป็นอุบาสกอุบาสิกา ผมก็จะสามารถกราบไหว้บูชาพระอริยะต่างๆได้อย่างไม่ติดขัด แต่หากผมเป็นพระภิกษุสงฆ์ในทางเถรวาท ผมก็ไม่สามารถที่จะกราบไหว้บูชาพระโพธิสัตว์ได้ เนื่องจากพระโพธิสัตว์ไม่ใช่หนึ่งในสามสรณะสูงสุดของพุทธบริษัท(เถรวาท) เนื่องจากพระสงฆ์เป็นสรณะที่สูง1ใน3 ยกเว้นแต่พระโพธิสัตว์นั้นๆของมหายานจะเป็นในรูปแบบของพระภิกษุสงฆ์
สรุปในประเด็นมหายานนะครับ ถึงจะมีประวัติ และคำสอนที่แตกต่างกันไปตามนิกาย ซึ่งไม่เหมือนกับเถรวาท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก และทุกนิกายยอมรับเหมือนกันหมดว่า คำสอนหลักธรรมของนิกายตนนั้นมีเพิ่มเติมมา และดั้งเดิมสุดคือ เถรวาท ดังนั้นทุกนิกาย จึงชื่อได้ว่าเป็น “พุทธศาสนา”  สิ่งที่ควรสังเกต ถึงแม้ว่าพระพุทธศาสนาจะปรากฏเรื่องของ ภพภูมิต่างๆมากมาย เทพ มหาเทพ พระโพธิสัตว์ต่างๆมากมาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คำสอนของพระพุทธศาสนา จะยึดแต่คำสอนของ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ พระโพธิสัตว์ อุบาสก หรืออุบาสิกา เท่านั้น จะไม่มีคำสอนที่มาจาก บัญชาเทพบนสวรรค์ นักพรต ฤาษี เซียนเต๋า หรือพฤติกรรมแบบร่างทรง เช่น มีพระบัญชา พระธรรมจากพระอรหันต์จี้กงบ้าง เง็กเซียนฮ่องเต้บ้าง พระโพธิสัตว์บ้าง
ในเรื่องของ ลัทธิอนุตรธรรม ซึ่งเป็นศาสนาอันดับสามของประเทศไต้หวัน ที่เป็นศาสนาของกบฏในสมัยราชวงค์ของจีน สืบทอดกันมาหลายร้อยปี และผ่านการพัฒนารูปแบบไปเรื่อย โดยแอบแฝงการเคลื่อนไหวอยู่ในรูปแบบของ ศาสนาหยู(ขงจื้อ) ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธในประเทศจีน ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการระดมพลทางการเมือง โดยใช้ศรัทธาความเชื่อ ความงมงายของประชาชนที่เข้าไม่ถึงศาสนาดั้งเดิมให้เกิดความศรัทธา ด้วยการยำรวมมิตรประวัติศาสดาต่างๆ คณาจารย์ต่างๆ เทพต่างๆ มาเหมารวมเอาไว้เป็นสิ่งศักดิสิทธิ์ของลัทธิ เพื่อซื้อใจ สร้างโปรโมชั่นให้กับประชาชน และยิ่งมีการสร้างรหัสลับ การเปิดจุดทวารที่หน้าผาก เพื่อเป็นการรับธรรม เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงสวรรค์และสิ่งศักดิสิทธิ์ มันยิ่งเป็นการเพิ่มความงมงาย ความเชื่อความศรัทธาให้กับผู้ที่ขาดปัญญาอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายที่จะโน้มน้าวฝูงชน จนกลายเป็นมหาชนที่ผลกระทบต่อการบริหารบ้านเมืองได้
ในสมัยตอนคอมมิวนิสต์ กวาดล้างวัฒนธรรม ลัทธินี้ย่อมโดนกวาดไปด้วย แต่ก็ได้ทำการหนีมาอยู่ไต้หวันเหมือนคนส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ที่มาไต้หวันนี้โดยมากมักเป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือบุคคลสำคัญทางสังคม แน่นอนว่าลัทธินี้เป็นลัทธิที่แอบแฝงทางการเมืองมาโดยตลอดของจีน มีบุคคลสำคัญแฝงในทุกวงการ การจะไปอยู่ไต้หวันและเป็นใหญ่จึงมีมากไปด้วย และกลายเป็นศาสนาอันดับสามของไต้หวันในปัจจุบัน
ทำไมถึงเรียกว่าเป็นศาสนาที่สาม เพราะไต้หวันก็มีผู้นับถือ ศาสนาพุทธ และศาสนาเต๋าตามศาสนาดั้งเดิมของจีนอยู่แล้ว และด้วยการปกป้องประวัติคำสอนของศาสนาดั้งเดิม จึงทำให้ลัทธิอนุตรธรรมนั้น ถูกแยกออกมาชัดเจนจากศาสนาพุทธ และเต๋า แต่ทั้งนี้เนื่องจากการเผยแพร่ธรรมในต่างแดน การใช้ชื่อของ พุทธ และเต๋าในการสอน ก็ยังคงง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ที่ไม่มีความเข้าใจในหลักธรรมของศาสนาดั้งเดิม อย่างเช่นในอดีตจนถึงปัจจุบัน ที่ลัทธินี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็น พุทธศาสนามหายาน ในเมืองไทย หรือเป็นศาสนาเต๋าของคนต่างชาติ
-----------------------------------------------------------------
สิ่งที่ยอมรับไม่ได้สำหรับผมก็คือ การไม่ยอมรับประวัติตามพุทธศาสนา กับตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนที่ทุกนิกายของมหายานยอมรับ แต่นี่ลัทธินี้เล่นเอาประวัติไปผสมผสาน ยำรวมมิตร แต่งคำเท็จมิจฉาทิฏิฐิมากมายผสมลงไปในการสอนธรรม เป็นประวัติและคำสอนที่ไม่สามารถสืบค้นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์
พอใครมาพูดเรื่องหลักธรรม หรือประวัติในเชิงความเป็นจริงของศาสนาดั้งเดิม เพื่อเปรียบเทียบกับลัทธิใหม่ๆ ก็จะถูกตอบกลับมาแบบแถๆ ข้งๆคูๆว่า ไม่รู้จริง เป็นผู้ด้อยปัญญา ไม่เข้าถึงธรรม เป็นผู้มีบุญน้อย ผู้มีใจโลเล เป็นคนบาปหนัก บลาๆๆๆ.... หรือเป็นผู้สร้างความแตกแยกในวงการศาสนา ทั้งๆที่ไม่ได้ดูเลยว่า ลัทธิคุณเองแท้ๆที่สร้างประวัติบิดเบือน คำสอนบิดเบือนหรือแอบอ้างศาสนาอื่นๆเขาก่อน ทำให้เกิดความเสียหายต่อศาสนาดั้งเดิมเขา
เขาทางประมาณว่า แถเอาแต่ใจหลงตัวเองแบบตั๋งโต๊ะ เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบลิโป้ ตัวเองทรยศคนอื่นได้แต่คนอื่นห้ามทรยศข้าแบบโจโฉ คือตัวเองถูกแต่คนอื่นผิด
------------------------------------------------------------------
สรุปเกี่ยวกับ อนุตรธรรม ใครจะว่าเป็นพุทธ หรือเป็นเต๋า ก็แล้วแต่พวกคุณจะไม่ซีเรียสตามสไตล์คนไม่เจาะจงศาสนา หรือแค่ศาสนาทะเบียนบ้าน แต่สำหรับศาสนิกชนของ พุทธ หรือเต๋า หรือคริสต์อิสลามนั้น เขาได้ออกมาปฏิเสธกันตั้งแต่อดีตแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลัทธินี้ คำสอนของลัทธนี้ปลอมแปลงประวัติและคำสอนของศาสนาดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็น พุทธ เต๋า คริสต์ อิสลาม และศิษย์ของลัทธินี้ ย่อมไม่ใช่ศาสนิกชนของศาสนาดั้งเดิมด้วย
ทุกศาสนาล้วนสอนให้เป็นคนดีหมด และจะไม่ก้าวก่ายซึ่งกันและกัน หากคุณจะเป็นสีผสม ไม่ขาว ไม่ดำ เป็นสีเทา ก็อย่าบอกว่าคุณเป็นขาว เป็นดำ แต่คุณต้องบอกว่าคุณเป็นเทา สีย่อมเป็นสี สีย่อมมีคุณประโยชน์ของสีต่างกัน แต่อย่ามาเทียบ และอย่ามาอ้างเป็นสีนั้นสีนี้โดยไม่ยอมรับความจริงในสีของคุณ  
สิ่งที่ผมจะสื่อ ผมไม่ได้ต้องการให้เลิกนับถือศาสนาใด ศาสนาหนึ่ง หรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง แต่ผมแค่ออกมาชี้แจง ให้รู้ว่าอะไรคือ ศาสนาพุทธ อะไรคือสีที่ถูกปนเปื้อน ใครจะนับถืออะไรก็ขอให้ยึดแบบนั้นอย่างมีปัญญา และมีจุดยืน หากคุณจะเป็นอนุตรธรรม ก็ขอให้เป็นอนุตรธรรม บอกไปเลยตรงๆว่า ไม่ใช่พุทธเต๋าคริสต์อิสลาม หรือศาสนาเดิมอื่นๆ ต้องบอกว่าคุณเป็นศาสนาหรือลัทธิอนุตรธรรม ลัทธินี้สอนแบบไหนก็ว่าไป มีความเชื่อไม่เหมือนแบบดั้งเดิม มีประวัติไม่เหมือนดั้งเดิม ไม่ใช่ไปสอนเขาแบบแอบแฝง
ย้ำนะครับ ผมไม่ได้ทำลายลัทธิใดของใครแบบเจาะจง ผมออกมาปกป้องศาสนาพุทธที่เป็นสรณะของผม และศาสนาเต๋าที่ผมเคยเคารพตามจารีตประเพณีจีน ผมออกมาชี้แจงหมดครับไม่ว่าจะเป็น ธรรมกาย พุทธวจน สันติอโศก ลัทธิมูน หรือลัทธิไหนๆที่เป็นลัทธิแอบแฝง และผมก็ไม่ได้พึ่งจะมาตีโพยตีพายเอาตอนไม่กี่วันนี้ ผมทำอย่างนี้มานานหากใครที่ติดตามอ่านบทความผมอยู่ประจำ หรือคุยกับผมประจำจะสามารถรู้ได้ครับ
การจะมาแย้งว่าผมศึกษามาไม่พอ ปฏิบัติมาไม่พอ บำเพ็ญมาไม่พอ เรื่องนี้เป็นปัจจัตตังครับ ผมไม่มีความจำเป็นต้องไปศึกษาหลักธรรมอะไรของลัทธิคุณมากมายถึงขั้นต้องบรรลุในแบบของคุณ ผมแค่ดูประวัติ ดูกิจกรรม ดูคำสอน ดูจรรยา แค่นี้ก็พอตัดสินได้ด้วยปัญญาแล้วครับว่าเป็นอย่างไร
ผมไม่มีอะไรจะพูดมากไปกว่านี้ในประเด็นเหล่านี้ เพราะผมถือว่าพูดจบแล้ว เคลียร์จบแล้ว ใครจะมาแถ มาโจมตีผมก็ขอให้ทราบไว้ด้วยครับว่าผมจะไม่ขอตอบโต้ใดๆ เพราะขี้เกียจ กับป่วยการเปล่าๆ
ผมสอนสหายธรรมผมอยู่เสมอๆ เวลามีผู้มาขอสนทนาธรรมว่า ผมไม่เคยห้ามว่าจะนับถือศาสนาลัทธิไหน แต่หากเป็นพุทธขอให้ศึกษาดูว่า อะไรคือพุทธ อะไรคือคำสอนของพุทธ อะไรคือคำสอนของผู้ที่แต่งแต้มเติมสีเข้าไปใหม่ และอะไรที่สมเหตุสมผล ขนาดพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าอย่าพึ่งเชื่อในสิ่งที่พระองค์ทรงสอน แต่ให้นำมาปฏิบัติพิสูจน์จนเห็นผลประจักษ์ต่อสายตาตนเองว่าสิ่งที่ท่านทรงสอนนั้นเป็นคุณประโยชน์ ถึงจะค่อยเชื่อถือ ไม่ใช่เชื่อถือศรัทธาเพราะฟังๆเขามาแบบไร้ปัญญาพิจารณา ตัวผมเองเป็นพุทธบริษัทที่ห่างจากพระองค์มา2600ปี ผมจะเอาอะไรมาให้คุณเชื่อ เพราะขนาดพระพุทธเจ้าท่านยังไม่ให้เชื่อท่านเลย แล้วผมพูดอะไรไปมันน่าเชื่องั้นหรือ ดังนั้น จึงควรศึกษาเปรียบเทียบ ปฏิบัติ พิจารณาด้วยตนเองดีกว่า ว่าอะไรมันเกิดคุณประโยชน์ที่แท้จริง   
อีกอย่างครับ ถึงผมจะเป็น เถรวาท แต่ผมไม่ได้เป็นพวก “ติ่งพระไตรปิฎก” ที่สุดโต่ง สุดเพี้ยน ตีความเข้าข้างตัวเอง หรือชอบมโนไปว่าตัวเองดำเนินตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ และโจมตีแนวทางกุศโลบายของครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนต่างๆว่าเป็นแนวทาง ไสยศาสตร์
ทุกวันนี้ผมสนทนาธรรม ผมมักจะย้ำเตือนสหายธรรมอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งนั้นมีคุณประโยชน์อยู่ที่เรามอง แต่มันต้องไม่ขัดกับหลักความจริง และไม่สร้างความเดือนร้อนเสียหายให้ใคร ครูบาอาจารย์บางท่านทำไมท่านทำน้ำมนต์ วัตถุมงคล ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอน สิ่งเหล่านี้เป็นอุบายนำพาไปสู่การยังศรัทธาที่ยังไม่เกิด ให้เกิดขึ้น เป็นการอุบายธรรมแฝงไว้ในจารีต ประเพณี และวัตถุ เป็นเพียงเปลือกเป็นเพียงกระพี้ของต้นไม้ แน่นอนว่าสำหรับบางคนไม่สามารถเข้าถึงแก่นได้ในทันที นั่นก็ย่อมต้องอาศัยเปลือกไว้ก่อน ให้จดจำเปลือกให้ได้ก่อนว่านี่คือเปลือกต้นอะไร จะศึกษาอะไรควรจะศึกษาให้ครอบคลุม ลงลึกในหลักการและเหตุผล อะไรที่มันอนุโลมได้ ผ่อนปรนผ่อนผันได้ โดยที่เกิดประโยชน์แล้ว ผมไม่เคยปฏิเสธ เพราะโดยนิสัยผม ผมชอบการประยุกต์ การอธิบายโดยพิสดารอยู่แล้ว (ใครฝึกคาราเต้กับผม จะทราบได้ว่าการสอนผมจะไม่เหมือนชาวบ้านเขา ไม่เหมือนตำรา แต่การสอนนั้นก็มุ่งตรงที่แก่นคือพื้นฐานและการส่งแรงด้วยความถูกต้องของกรอบความเป็นมาตรฐาน)  

หวังว่าสาธุชนทุกท่านจะสามารถเข้าใจ “พระพุทธศาสนา” ได้มากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ สีขาวสีขุ่นได้หมองได้ แต่อย่าไปเป็นสีเทา (ปล. เป็นแค่การเปรียบเทียบนะครับ ไม่ได้หมายความว่าศาสนาอื่นจะเป็นสีดำ ซึ่งมักจะหมายถึงความชั่วร้าย เป็นแค่การเปรียบเทียบศาสนาดั้งเดิมที่สอนๆกันมาเป็นสีขาวบริสุทธิ์ สีดำเป็นสิ่งที่สอนผิดแปลกไปจากดั้งเดิม ความขุ่นความหมองคือหมายถึงการที่อาจจะมีขาดตกบกพร่องในการนับถือนั้นๆบ้าง เช่น ผิดศีล ทำบาปกรรม อกุศลอะไรไปบ้าง แต่ศรัทธาก็ยังคงขาวบริสุทธิ์อยู่ ไม่ใช่สีเทาที่กลายสี กลายพันธุ์ออกไป)

---------------------------------------------------------------------------------
ข้างล่างนี้เป็นกระทู้เก่าที่เคยพิมพ์ไว้ครับ
---------------------------------------------------------------------------------
คนไทย และคนจีน ควรศึกษา
-----------------------------------
ศาสนาพุทธมหายาน ศาสนาเต๋า และลัทธิอนุตรธรรม
----------------------------------
หลายคนที่เป็นคนจีน(ทั้งในจีน และทั้งคนจีนโพ้นทะเล รวมถึงไทย) และคนไทย มักจะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาแบบมหายาน จะรู้ก็รู้เพียงแต่ว่า เคารพพระโพธิสัตว์กวนอิม พระพุทธเจ้าหลายๆองค์ เทพ พระโพธิสัตว์มากมาย รวมถึงพระอรหันต์ต่างๆ และที่ดังที่สุดก็คือ อรหันต์จี้กง
ขอแค่เพียงว่า ที่ไหนมีเทวรูป พุทธรูปเหล่านี้อยู่ ที่นั่นย่อมถือว่าเป็นวัดจีนไปโดยปริยาย และก็หลับหูหลับตาไหว้ บูชากันอย่างงมงาย
คำสอนก็ไม่ได้ศึกษาเอาเลยว่าอันไหนเป็นอย่างไร ขอแค่อ่านดู ฟังดูแล้วรู้สึกว่าสอนดี เป็นธรรม และอ้างชื่อเทพพระโพธิสัตว์พระอรหันต์พระพุทธเจ้า แค่นี้ก็เชื่อถือกันแล้ว
---------------------------------
อย่างแรกที่จะบอกคือ ศาสนาพุทธไม่ว่าจะด้วยนิกายไหนก็ตาม ไม่มีคำสอนที่มาจากร่างทรง ต่อให้จะทรงพระพุทธ ทรงพระโพธิสัตว์ ทรงพระอรหันต์ เหมือนที่ลัทธิบางลัทธิชอบอ้างว่าพระอรหันต์จี้กงทรงบัญชา ทรงชี้นำคำสอน ทรงรับสั่งบลาๆๆๆ.....
---------------------------------
อย่างที่สอง ให้กรุณาสังเกตดีๆ สถานที่ที่ใช้เปิดนั้น จะไม่เป็นมูลนิธิ.....หรือเป็นห้องธรรม สถานธรรม(佛院ฝอเยวี่ยน)
ถ้าสถานที่ไหนใช้ชื่อเป็นมูลนิธิ....หรือชื่อภาษาจีนเป็น ฝอเยวี่ยน(สถานธรรม ห้องธรรม) ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นลัทธิอนุตรธรรม
ถ้าหากบางที่ใช้ชื่อเป็น ฝอถัง(佛堂)(ห้องพระ ตำหนักพระ มันจะแปลคล้ายๆกับ ฝอเยวี่ยน) บางทีอาจจะเป็นพุทธมหายานแท้ หรือลัทธิอนุตรธรรมก็ได้ ให้ใช้วิธีสังเกตดังนี้
การตั้งพระประธานโดยปรกติพุทธมหายานจะไม่ตั้งพระอริยเมตไตรเป็นพระประธาน แต่จะตั้งประธานเป็นสองอย่างหลักๆคือ
แบบนิกายสุขาวดี จะตั้ง พระอมิตภะพุทธเจ้าคู่กับพระโพธิสัตว์สองพระองค์คือพระมหาสถามปราปต์โพธิสัตว์(ไต่ซีจู้ผ่อสัก) พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์(กวนอิมผ่อสัก)
และในนิกายอื่นๆของมหายานส่วนมากจะตั้งประธานเป็นสามองค์คือ พระโคตมพุทธเจ้า(เสกเกียมุนิฮุก) พระอมิตาภพุทธเจ้า(ออนี้ทอฮุก) พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า(เอี้ยซือฮุก) โดยมีพระเวทย์โพธิสัตว์(อุ่ยท้อผ่อสัก)ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามและหันหน้าเข้าหาพระประธาน และหลังอุ่ยท้อผ่อสักจะเป็น พระอริยเมตตรัยโพธิสัตว์(หมีเหล็กผ่อสัก)
หากเห็นการตั้งพระประธานสองแบบนี้ ก็สามารถเชื่อได้ว่าเป็นพุทธมหายานแท้
สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่างคือ การตั้งรูปหล่อของพระจี้กง และใกล้ๆจะมีกวนกง(กวนอู) โดยกวนกงนี้หากใครอ่านภาษาจีนได้ต้องสังเกตว่าเขียนว่าเป็นชื่ออะไร หากเขียนว่าเป็น พระวิหารบาลโพธิสัตว์ หรือพระสังฆารามโพธิสัตว์(แคน้ำผ่อสัก)ก็ถือว่าเป็นพุทธมหายาน เพราะพุทธมหายานรับกวนอูเป็นหนึ่งในโพธิสัตว์ที่คุ้มครองพุทธสถาน แต่ลัทธิอนุตรธรรม จัดกวนกงเป็นเง็กเซียนฮ่องเต้ ดังนั้นชื่อจึงเปลี่ยนไปเป็น กวนเส่งตี่กุง
------------------
ฝอเยวี่ยน จะเป็นสถานที่ที่ใช้ในการสอนก็ได้ ทำศาสนพิธีก็ได้ ซึ่งลัทธิอนุตรธรรมนั้นจะเน้นทั้งสอนเผยแพร่ และทำศาสนพิธีกันในฝอเยวี่ยน หรือที่เรียกภาษาไทยกันในวงการว่า "สถานธรรม"

ฝอถัง จะเป็นสถานที่ที่บ้านเราเรียกว่า "โรงเจ" จะเป็นสถานที่ที่ อุบาสก อุบาสิกาในพุทธศาสนามหายาน ได้รับศีลอุโบสถ มาทำพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งทางมหายานจะมีการประกอบพิธีของทางฆราวาส โดยให้ฆราวาสแต่งกายคล้ายพระสงฆ์ 
โรงเจ บางแห่งต้องดูด้วยว่า เป็นของพุทธ หรือของเต๋า ทั้งสองศาสนาจะไม่เหมือนกัน แต่เชื่อได้ว่าคนจีนในไทยโดยทั่วไปจะไม่สามารถแยกกันออก เนื่องจากขนบธรรมเนียมจารีตของจีนนั้นเชื่อมโยงความศรัทธาทั้งพุทธและเต๋า (แต่ไม่ใช่อนุตรธรรม)
------------------
ทีนี้หลักการที่สามคือ สังเกตสาวกลัทธินี้มักจะพูดว่า ทุกศาสนาสอนเหมือนกันคือความดี เพราะมีรากฐานมาจากแหล่งเดียวกัน ทุกศาสนา ทุกคนบนโลกนี้เป็นพี่น้องกัน ไม่ควรแบ่งแยก บลาๆๆๆๆ......
คือฟังแล้วมันก็มีเหตุผลดี มันก็ถูก แต่ทั้งหมดมันจะโยงเข้าสู่หลักธรรมและประวัติอันบิดเบือนของลัทธินี้ โดยการ จับพุทธผสมเต๋าเสริมขงจื้อ แซมๆด้วยคริสต์กับอิสลาม (ต้องหาอ่านเอง ดราม่าเยอะมาก)
และชอบพูดเกี่ยวกับ อภิปรัชญา ว่าด้วย ความว่าง ความไม่ยึดติด แม้ธรรมก็ไม่สามารถยึดได้ อะไรทำนองนี้ โดยเอาต้นแบบมาจากหลัก อภิปรัชญาของทางมหายานว่าด้วย อสังขตธรรมที่เป็นเหนือกว่านิพพาน (ในนิกายของมหายานบางนิกาย อสังขตธรรมนี้อยู่เหนือนิพพาน แต่บางนิกายถือเหมือนเถรวาทว่า อสังขตธรรมคือนิพพาน) หรือในศาสนาเต๋า ว่าด้วย มรรคา(เต้า) ความว่างก็ยังไม่ว่างเพราะในความว่างก็มีกรอบของความว่าง ต้องไม่มีความคิดว่าว่างา ถึงจะว่าง (งงไหม ภาวะเต้า ของเต๋า กับภาวะ อสังขตธรรมของมหายานบางนิกายจะเหมือนกัน) คือถ้างงเนี่ย ก็จะโดนลัทธินี้ลวงได้ง่ายครับ เพราะฟังแล้วมึนๆก็เลยคิดว่าลึกซึ้ง และสุดท้ายก็จะหลวมตัวไปตามน้ำกับลัทธินี้ได้ง่ายเลย
----------------------
หลักการที่สี่
ลัทธินี้จะไม่มีนักบวช ไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีอุบาสก อุบาสิกาที่ได้รับศิลอุโบสถตามแบบของมหายานในการทำศาสนพิธี
แต่ลัทธินี้จะมี ผู้อาวุโส และผู้บรรยายธรรม และการบำเพ็ญกุศลต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่า ลัทธินี้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบศาสนาไม่ได้ จึงเข้ามาในรูปแบบของ มูลนิธิเพื่อการกุศลต่างๆ ซึ่งก็เหมือนกับมูลนิธิการกุศลทั่วไป แต่ก็จะมีแอบแฝงโดยการสอนธรรมเป็นบางครั้งบางคราวมอมเมาเด็ก และชาวบ้านที่ไม่รู้ธรรม
-----------------------
หลักการที่ห้า
ลัทธินี้จะอ้าง รับธรรมะ รับการชี้แนะ บำเพ็ญแล้วตายไปร่างกายจะผ่องใส มีสีเหลืองทอง ไม่ดำคล้ำ ไม่แข็งกระด้างน่ากลัวเหมือนคนทั่วไป (ลัทธินอกรีตมักจะอ้างแบบนี้ทุกลัทธิ หากินกับศพ) ซึ่งศพที่จะเป็นแบบนี้มันมีเหตุปัจจัยอยู่ ทางการแพทย์มีอธิบายครับ(หาอ่านเอาเอง ในเน็ทมีเยอะ) ถ้าจะอ้างปาฏิหาริย์แบบนี้ ปฏิบัติจนศพขึ้นพระธาตุ ไม่เน่า กระดูกแปรสภาพเป็นแก้ว แบบพระเกจิอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไม่เจ๋งกว่าหรอ
และชอบอ้างว่า รับธรรม อธิษฐานต่อพระโพธิสัตว์ หรือจี้กงแล้วจะหายไข้ หายป่วย บลาๆๆๆๆๆ อย่างเจ้าลัทธินี้ชื่อว่า ผู้อาวุโส......มักจะเล่าประวัติตัวเองว่า ป่วยรักษาไม่หาย พอมารับธรรมะปุ๊บหายปั๊บ อะไรประมาณนั้น(วิธีนี้ใช้กันเยอะเกือบทุกลัทธิ ของคาทอลิคบางประเทศแทบใกล้ๆไทยเราก็มีบาทหลวงผู้ทรงการภาวนา สามารถขอพระพระเยซูให้รักษาโรคร้ายให้หายได้ในพริบตา)
-------------------------
จริงๆมีอีกเยอะครับ ต้องลองศึกษา และหาอ่านต่อไปเองในเน็ท เพราะไม่มีหนังสือขาย
หวังว่าหลักๆที่ผมให้ไป4-5ข้อจะมีประโยชน์สำหรับทุกท่านนะครับ
---------------------
บางทีคนมักจะคิดว่า ก็เขาสอนให้คนทำดี แล้วจะไปขวางทำไม
คือมันก็เป็นการนำประวัติ นำคำสอนของศาสนาอื่นๆมาบิดเบือน แล้วติ๊ต่างไปว่าเป็นของตัวเอง มีการสร้างพระเจ้าขึ้นมาใหม่ และกดขี่ศาสนาเดิมๆลงไป สำหรับผมมันก็คือการโกหกและดิสเครดิตลบหลู่ศาสนาเดิมๆ

ผมจะไม่วุ่นวาย ไม่โจมตีอะไรเลย หากลัทธินี้ไม่เอาชื่อศาสนาเดิมๆ ไม่เอาชื่อครูบาอาจารย์ในศาสนาอื่นๆมาอ้าง คือจะสร้างลัทธิใหม่ก็สร้างใหม่ทั้งพระเจ้า ประวัติ เทพเทวดาอะไรก็สร้างใหม่ไปเลย อย่ามาอ้างกันแบบนี้