วันอังคารที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2559

คนพุทธกับความเข้าใจเรื่องภาวนาและการบรรลุมรรคผล

คนพุทธกับความเข้าใจเรื่องภาวนาและการบรรลุมรรคผล
ในพระพุทธศาสนานั้นสิ่งที่คนโดยทั่วไปไม่เข้าใจมากที่สุดนั้นคือคำว่า “สมาธิ” และมักจะคิดกันไปเองว่าการจะเข้าถึงพุทธศาสนานั้นต้องนั่งสมาธิได้นานๆ เป็นชั่วโมงๆโดยที่ไม่ขยับกายเลย และมักจะคิดกันต่อไปว่า สมาธิจะสามารถทำให้บรรลุมรรคผลเป็นอริยะบุคคลได้ดั่งพุทธประวัติ หรือเกจิอาจารย์ต่างๆ แต่นั่นเป็นสิ่งที่เกิดจากความเข้าใจผิด และไม่เข้าใจในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น
สมาธิคืออะไร สมาธิคือการที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยธรรมชาติของจิตมนุษย์นั้นย่อมสอดส่ายไม่อยู่กับที่ เนื่องจากปัจจัยปรุงแต่งจากภายนอกและภายในร่างกายทำให้เกิดความคิดที่ฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยเปื่อย ใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเท่าที่ควร จนเป็นบ่อเกิดของความประมาท ดังนั้นการฝึกสมาธิจึงเป็นการฝึกเพื่อให้ความนึกคิด จิตใจของเรานั้นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เมื่อจิตของเราเกิดความนิ่ง เกิดความมั่นคงแล้ว ย่อมเกิดเป็นกำลังของสมาธิกำลังของจิตที่เข้มแข็ง สามารถทำให้ลงลึกในรายละเอียดของการกระทำที่เราจะทำต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปรียบเทียบยกตัวอย่างง่ายๆก็เหมือนกับการอ่านหนังสือ หากเราอ่านหนังสือไปดูทีวีไป คุยกับเพื่อนไปด้วย การอ่านหนังสือของเรานั้นย่อมไม่สามารถที่จะจับใจความอะไรได้มาก การเรียนก็เช่นกัน หากเรียนไปคุยไป จิตใจไม่ได้จดจ่ออยู่กับการเรียนการอ่านหนังสือ ความรู้ในหนังสือสิ่งที่ได้รับจากการเรียนย่อมไม่สัมฤทธิ์ผลดีนัก นั่นคือเรียนไม่รู้เรื่องอ่านหนังสือไม่รู้เรื่อง แต่หากเราตั้งจิตตั้งใจมีสมาธิแน่วแน่กับการอ่านหนังสือกับการเรียน นั่นย่อมส่งผลให้เราสามารถจดจำ และเข้าใจในการเรียนการอ่านหนังสือนั้นได้ง่าย
สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยในการฝึกสมาธิคือ “สติ” แปลว่า ”ความระลึกได้” พูดง่ายๆก็คือการรู้ตัวในสิ่งที่กำลังกระทำอยู่ ดังนั้นทั้งสติ และสมาธินี้จะควบคู่ไปด้วยกันเสมอๆ เพราะการทำสมาธิก็คือการใช้สติในการจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง แต่สิ่งที่ผู้คนไม่เข้าใจกันเลยก็คือ “คิดว่าการทำสมาธินั้นไม่สามารถมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน” ยกตัวอย่างเช่น นายเอเพื่อความไม่ประมาทในการเดิน จึงทำสมาธิไปด้วยเดินไปด้วย จนไม่ทันระวังด้านข้างโดนรถชน ถามว่าสมาธินั้นไม่สามารถใช้ได้กระนั้นหรือ หรือว่านายเอไม่มีสติ หรือว่าไม่มีสมาธิ ไม่เลย นายเอนั้นมีสติ มีสมาธิ แต่นำมาใช้ไม่ถูก สติสมาธิของนายเอขณะเดินนั้นอยู่ที่ลมหายใจ อยู่ที่การย่างเท้า นั่นย่อมทำให้ใจจดจ่ออยู่ตรงนั้นทำให้สิ่งที่อยู่รอบตัวนั้นถูกตัดหายไปจากการรับรู้ของจิต นั่นทำให้ถูกรถชน แต่การประยุกต์ใช้สมาธินั้น ควรจะต้องใช้สมาธิ ใช้สติจดจ่อกับการรับรู้ภายนอกร่างกายด้วยตา หู และกายสัมผัส การเดินนั้นถึงจะตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่าจริงๆแล้ว สติและสมาธินั้นไม่ได้ยากอะไรเลย สามารถฝึกได้จากชีวิตประจำวัน นั่นคือการมีสติรับรู้สิ่งที่เรากำลังกระทำ และรับรู้สิ่งที่มากระทบกับตัวเราไม่ว่าจะด้วยการมองเห็น การฟัง การรับรู้กลิ่น รู้รส การสัมผัส และอารมณ์ที่มากระทบกับจิตใจ แต่อย่างไรก็ดี มีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสนใจจะมายกตัวอย่างให้พิจารณา นายบีเดินอยู่บนท้องถนน ขณะนั้นนายบีเห็นรถที่กำลังพุ่งมาทางตน เห็นมาแต่ไกลแล้วว่ารถกำลังพุ่งเข้ามาชน แต่กลับไม่สามารถที่จะวิ่งหนี หรือหลบหลีกไปได้เลย กลับยืนแข็งทื่อให้รถชน จากเหตุการณ์นี้ นายบีไม่มีสติไม่มีสมาธิในการเดินอย่างนั้นหรือ เปล่าเลย บีนั้นมีสติสมาธิในการเดิน เมื่อเห็นรถพุ่งมาชนก็รับรู้ได้ว่ามีรถพุ่งเข้ามา รู้ว่าเกิดอันตราย แต่ถึงอย่างนั้น การทำงานของร่างกายคือจิต และกายนั้นมันไม่สามารถรวมเป็นหนึ่งสั่งการทำงานให้ร่างกายหลบหลีกจากอันตรายได้ เพราะอะไรถึงเป็นอย่างนั้น นั่นเพราะนายบีอาจจะมีอาจจะมีสติแต่ไม่มีกำลังสมาธิมากพอที่จะรู้อารมณ์ ควบคุมสติและพิจารณาสถานการณ์ได้ มันถึงได้กลายเป็นคำที่ได้ยินกันประจำว่า “ตกใจแต่ทำอะไรไม่ถูก”
ตัวอย่างของนายบีนั้น หลายคนอาจจะกล่าวว่า นั่นเป็นเรื่องง่ายๆ ก็แค่หัดได้จากการมีสติอย่างทั่วๆไปนั่นแหล่ะ ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิอะไรเลย แต่ความเห็นในลักษณะนี้ มักจะเป็นการนำตัวเองมายึดถือ โดยไม่ได้นึกถึงผู้อื่นว่า ผู้อื่นนั้นไม่เหมือนตน ภาวะจิตใจ กำลังของสมาธิ กำลังของจิตนั้นมันใช่ว่าจะมีเท่าๆกันทุกคนเสมอไป บางคนเกิดมามีสมาธิดีตั้งแต่เด็ก บางคนเกิดมาเป็นคนสมาธิสั้นตั้งแต่เด็ก หรือต่อให้เกิดมาการเลี้ยงดู การเอาใจใส่ของพ่อแม่คนในครอบครัวและการเรียนรู้ในโรงเรียนย่อมส่งผลต่อการมีสมาธิของแต่ละบุคคล ดังนั้นการจะนำตัวเองมาเปรียบกับคนอื่นนั้นจึงเป็นสิ่งที่เปรียบกันไม่ได้ นั่นจึงเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของกรรมฐานที่มีมากมายหลายแนวทางในการสร้างสมาธิให้เกิดความมั่นคง ที่เรียกว่า “สมถกรรมฐาน” และการนำสมาธิที่มั่นคงมาพิจารณารู้ทันการเคลื่อนไหวของกาย(กาย) การรับรู้(เวทนา) จิต(อารมณ์) และความจริงของโลก(ธรรม) หรือที่เรียกว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” ในแนวทางของ“สติปัฎฐานสี่”
จากตัวอย่างที่กล่าวมาสองเรื่องนี้ คงเพียงพอที่จะเป็นตัวอย่างของการนำเรื่องของสติ และสมาธิมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี คนที่มักจะกล่าวว่าการฝึกสมาธิไม่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันนั้น เป็นคำกล่าวที่ไม่จริงของผู้ที่ไม่เข้าใจสัจธรรมเลย แต่กระนั้นก็ใช้ว่าจะไม่มีเหตุผลเสมอไป แนวคิดที่ปฏิเสธการนั่งสมาธินี้เกิดมาจาก พุทธมหายานนิกายเซน และแพร่หลายกันมากในตะวันออกเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม เซนนั้นให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะถือว่า ทุกสิ่งนั้นเปี่ยมไปด้วย “ธรรม” หรือ”พุทธะ” การกระทำทุกอิริยาบถนั้นถือเป็นการฝึกจิต เป็นการบำเพ็ญได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ตัวเราจะเข้าถึง ดังนั้นชีวิตประจำวันของ ศิษย์สายเซนนั้นจึงมีแต่ชีวิตประจำวันทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษแตกต่างไปจากคนปรกติมากนัก นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้ไม่รู้มักจะเลียนแบบคำสอนของเซน และปฏิเสธการฝึกสมาธิ และใช้ชีวิตประจำวันแบบปรกติซึ่งเต็มไปด้วยความประมาท และความหลงอยู่ในความคิดที่คิดว่าตัวเองนั้นไม่ประมาณ หรือมีสติพร้อมสมบูรณ์ สิ่งที่แตกต่างกันเลยจริงๆ โดยที่คนทั่วไปไม่รู้นั้นคือ เซนนั้นนอกจากจะใช้ชีวิตประจำวันเหมือนคนทั่วไปแล้ว ยังลงลึกไปในรายละเอียดของการกระทำด้วยสมาธิจิตที่มั่นคงด้วยความตั้งใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่การกระทำแบบลอยๆไม่ได้ตั้งใจเหมือนคนทั่วไป การกระทำที่ลงลึกไปในรายละเอียด ลงลึกไปในสมาธินั้นย่อมส่งผลทำให้เข้าถึงหลักธรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวัน เข้าถึงจิตวิญญาณที่แฝงอยู่ในธรรมชาติของสิ่งต่างๆ
พุทธศาสนาสายเซนจึงได้ถือกำเนิดศิลปะมากมายทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่น ศิลปะการชงชา จัดดอกไม้ เขียนพู่กัน วาดรูป การร่ายรำ ดนตรี รวมถึงศิลปะการต่อสู้หลากหลายเช่นมวยเส้าหลิน และคาราเต้ เป็นต้น ศิลปะเหล่านี้เต็มไปด้วยกำลังของสมาธิที่นำมาใช้พิจารณาการเคลื่อนไหวตามแนวทาง “วิปัสสนากรรมฐาน” และ”สติปัฏฐานสี่” การพิจารณากายนั้นต้องลงลึกในรายละเอียดของกายที่เป็นหลักใหญ่ๆเช่นมือเท้าเข่าศอกการนั่งการเดินการยืน หลักย่อยๆที่ละเอียดลงมาคือการหายใจ การเคลื่อนไหวของข้อต่อ เส้นเอ็นเล็กๆ การพิจารณาการรับรู้ต้องอาศัยตาหูจมูกลิ้นกายใจในการรับรู้สัมผัสต่างๆที่เกิดขึ้นเช่น การเห็น ฟัง ชิม ดม สัมผัส การพิจารณาถึงอารมณ์ที่มากระทบกายจากการรับรู้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจเช่น เจ็บปวด เศร้าหมอง ดีใจ เสียใจ ยินดี ไม่ยินดี ดีเลวต่างๆ และการนำสิ่งที่รับรู้สัมผัสได้ทั้งหมดนั้นมาพิจารณาตามความเป็นจริงอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งแตกต่างจากคนทั่วไปที่ใช้ชีวิตประจำวัน เช่นตัดดอกไม้ตัดต้นไม้ ก็ได้แต่ตัดให้มันสั้นๆไม่รกหูรกตา เดินข้ามถนนก็แค่เดินมองซ้ายขวาหน้าหลังให้ปลอดภัยแล้วก็เดิน กวาดพื้นก็แค่กวาดๆให้สะอาด ชงชาก็ได้แค่ชงให้มีรสมีกลิ่นหน่อย ดังนั้นการที่เราจะเลียนแบบวิถีชีวิตแบบเซนโดยไม่ผ่านการฝึกที่ละเอียดในด้านหลักธรรมและสมาธิจิตนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เลย แต่ถึงอย่างไรก็ตามความเข้าใจผิดเหล่านี้ก็มักจะมีอยู่มากเป็นวงกว้าง และขยายออกไปเรื่อยๆ โดยกลุ่มผู้ที่เข้าใจผิด หรือกลุ่มผู้ที่ขี้เกียจ และรักความสบายกลัวลำบากที่จะศึกษาจริงจังในพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว
กล่าวโดยสรุปก็คือ แนวทางกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นก็คือ การสร้างกำลังของจิตที่เรียกว่า สมถกรรมฐาน และการใช้สติไตร่ตรองพิจารณาที่เรียกว่า วิปัสสนา นั่นเอง ดังนั้นการฝึกสมาธิ ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องนั่งนิ่งๆดูลมหายใจเสมอไป แต่อาจจะเป็นการใช้สติพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างจดจ่อแน่วแน่ไม่วอกแวกฟุ้งซ่าน ซึ่งแต่ละบุคคลก็ย่อมมีการฝึกในเรื่องของสมาธิและสติที่แตกต่างกันเพราะเกิดมามีภาวะทางจิตใจ ทางการเติบโตการเลี้ยงดู และภาวะทางสังคมที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการจะให้มาปฏิบัติในแนวทางเดียวกันย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะให้ผลเหมือนๆกัน และในแต่ละบุคคลก็ควรที่จะต้องค้นหาแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับจริตนิสัยของตนเองด้วยตนเอง
“การภาวนา หรือการฝึกสมาธินั้น ให้ผลอย่างไรในการบรรลุมรรคผล” นั่นย่อมเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันมาอยู่แล้ว การบรรลุธรรมเข้าถึงมรรคผลนิพพานนั้น ไม่ได้เกี่ยวเนื่องเกี่ยวข้องอะไรกับอำนาจจิต หรืออิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่เกี่ยวข้องกับ “ภาวะของจิต” พูดง่ายๆก็คือ อารมณ์จิตใจที่เป็นธรรมชาติของเรานั่นเอง ยกตัวอย่างเช่นคนที่มีความเมตตาความรักอยู่ในตัว ย่อมกระทำสิ่งต่างๆด้วยความเอาใจใส่ต่อผู้อื่น เอาใจเขาใส่ใจเราเพราะเกรงว่าผู้อื่นจะลำบาก คอยช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เป็นประจำ โดยไม่คิดถึงความลำบากของตนและกระทำสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วยความสุขความเต็มใจ คนเหล่านี้อาจจะเห็นได้น้อยในสังคมที่เต็มไปด้วยความเอารัดเอาเปรียบ แต่มันไม่ใช่ว่าจะไม่มีเลย คนเหล่านี้ย่อมได้ชื่อว่ามีอารมณ์เต็มเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตา โดยที่กระทำออกมาอย่างเป็นธรรมชาติของนิสัยเขา และเขาเหล่านั้นย่อมมั่นคงต่อความรู้สึกการกระทำในแนวทางของเราอย่างมาก นั่นคือการเจริญเมตตาภาวนา เป็นหนึ่งในหลักการทำสมาธิด้วยการเจริญ “เมตตาพรหมวิหาร” ตัวอย่างเดียวกันนี้ มันจะแตกต่างจากผู้ที่ฝืนกระทำ หรือกระทำด้วยความไม่ตั้งใจ หรือถูกบังคับให้ทำ ถึงแม้การกระทำนั้นได้ชื่อว่ามีเมตตา แต่จิตใจนั้นอาจจะแอบแฝงไปด้วยความรังเกียจอิจฉาริษยาหรือโทสะโมหะอยู่ก็ได้ บุคคลที่มีเมตตาเป็นธรรมของนิสัยนั้น หากตายไปด้วยอารมณ์ความดีของเมตตานั้นย่อมส่งผลให้ไปบังเกิดอยู่ในสวรรค์ชั้นพรหม ซึ่งคุณสมบัติของพระพรหมนั้นย่อมประกอบไปด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา รวมสี่อย่างเป็น ”พรหมวิหารสี่” หรือการเจริญสมาธิในระดับฌาณย่อมสามารถมาบังเกิดเป็นพรหมได้เช่นกัน
จากตัวอย่างในเรื่องของผู้ที่มีความเมตตาอยู่ในจิตใจนั้น จิตใจเขาย่อมเต็มเปี่ยมไปด้วยความแน่วแน่มั่นคงความยึดมั่นทรงอารมณ์ในความเมตตาอย่างไม่เปลี่ยนแปลง นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงระดับของสมาธิที่มั่นคง ในการบรรลุธรรมนั้นเองย่อมเกี่ยวเนื่องกับการทรงอารมณ์ให้เป็นปรกติ การทำจิตใจให้เป็นธรรมชาติในแนวทางของคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั่นเอง ซึ่งมรรคผลนิพพานที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนนั้น มีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือ พระนิพพาน โดยการเข้าสู่พระนิพพานนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติแบ่งเป็นสี่ประเภท หรือที่เรียกกันว่า “อริยบุคคล” ประกอบไปด้วย พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ การจะเป็นพระอริยบุคคลนั้นจะกล่าวในย่อหน้าต่อไป ซึ่งเกี่ยวกับการทรงอารมณ์ให้เป็นธรรมชาติ การทรงอารมณ์นั้นไม่ใช่แค่เข้าใจในหลักธรรมผ่านสมองหรือการท่องจำ แต่ต้องน้อมนำคำสอนนั้นมาปฏิบัติให้ความรู้สึกนั้นมั่นคงลงในจิตใจไม่เสื่อมคลาย
พระโสดาบันนั้น คือการทรงอารมณ์ให้อยู่ในหลักความเข้าใจสามอย่าง ที่ภาษาพระเรียกว่า “ตัดสังโยชน์”  การละหรือตัดซึ่งสังโยชน์สามอันประกอบไปด้วย
“สักกายทิฏฐิ” การทรงอารมณ์ทำความเข้าใจให้ได้ว่า ร่างกายของเรานี้ไม่ใช่ของเรา ต้องเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา (เพื่อลดความเห็นแก่ตัวของตัวเอง)
“วิจิกิจฉา” ความมั่นคงต่อพระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อย่างไม่ลังเลสงสัยในพระรัตนะทั้งสาม
“สีลัพพตปรามาส” การไม่หลงเชื่อถือไม่ศรัทธาถือปฏิบัติศีลปฏิบัติธรรมตามคำสอนโดยไม่พิจารณา ไม่ถือเชื่อตามๆกันเพียงเพราะงมงายว่าได้ยินได้ฟังมาว่าสิ่งนั้นดี
ผู้ที่พยายามทรงอารมณ์ให้ได้สามอย่างนี้ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชื่อว่าเป็น พระโสดาบัน แต่ก็ยังถือว่าได้เข้าสู่กระแสแห่งพระนิพพาน ได้เข้ามาอยู่ในหนทางแห่งพระโสดาบัน หรือ “โสดาปฏิมรรค”แล้ว
พระสกิทาคามี คือผู้ที่ทรงอารมณ์ของพระโสดาบันได้ และพยายามที่จะทรงอารมณ์เพิ่มขึ้นอีกสองข้อ จากพระโสดาบันคือ การละซึ่ง
“กามราคะ” การละซึ่งความติดใจในกามคุณ
“ปฏิฆะ” คือมีการกระทบกระทั่งในจิตใจ(ความโกรธรุนแรง หลงอยู่ในโกรธ)
พูดให้เข้าใจคือ พระสกิทาคามี จะเป็นผู้ที่สามารถตัดความพึงพอใจความยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง และการสัมผัส(กามไม่ใช่แค่ความอยากในอารมณ์ทางเพศ แต่กามหมายถึงความต้องการทั้งหมด) และการละซึ่งความโกรธที่รุนแรง ไม่ได้หมายถึงความไม่มีโกรธ แต่ความโกรธยังมีอยู่ แต่จะมีสติรู้ตัวทันและหยุดความโกรธได้ก่อนที่จะหลงไปในความโกรธจนกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรมอันดี ประมาณว่าอยู่ดีๆเดี๋ยวๆก็โกรธ สบถด่า อารมณ์ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่าย
พระอนาคามีนั้นคือการละ หรือตัดสังโยชน์ทั้งห้าที่ได้กล่าวไปแล้วในพระโสดาบัน และพระสกิทาคามีโดยสิ้นเชิง
และในระดับสูงสุดคือ พระอรหันต์ ผู้ที่เป็นอรหันต์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่สามารถตัดหรือละสังโยชน์ทั้งสิบประการได้ โดยห้าข้อที่เหลือยู่นั้นประกอบไปด้วย
รูปราคะ มีความติดใจในวัตถุหรือรูปฌาน
อรูปราคะ มีความติดใจในอรูปฌานหรือความพอใจในนามธรรมทั้งหลาย
มานะ มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนหรือคุณสมบัติของตน
อุทธัจจะ มีความฟุ้งซ่าน
อวิชชา มีความไม่รู้จริง
ก่อนที่จะทำความเข้าใจในสังโยชน์ที่เหลือนี้ อยากให้ลองอ่านศึกษาส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎกเสียก่อน
“ตัณหา(ความอยาก)ที่มีกำลังอ่อนแรกเกิด ชื่อว่าฉันทะ(พึงพอใจ) ฉันทะนั้นไม่สามารถเพื่อให้กำหนัดได้. แต่ตัณหาที่มีกำลัง เมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ จึงชื่อว่าราคะ(กำหนัดยินดี) ราคะนั้นสามารถทำให้กำหนัดยินดีได้. ความโกรธที่มีกำลังน้อย แรกเกิดไม่สามารถ เพื่อจะถือท่อนไม้เป็นต้นได้ ชื่อว่าโทสะ. ส่วนความโกรธที่มีกำลังมาก เกิดขึ้นติดต่อกันมา สามารถจะทำการเหล่านั้นได้ ชื่อว่าปฏิฆะ. ส่วนความไม่รู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งความหลงและความงมงาย ชื่อว่าโมหะ. เมื่อเป็นเช่นนั้น” (อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔ อรรถกถาวีณาสูตรที่ ๙ )
จะเห็นได้ว่า ราคะนั้นแปลว่าความกำหนัดยินดี กามราคะนั้นจึงหมายถึง ความยินดี ความกำหนัดในรูป ซึ่งกามราคะนี้ปราศจากความต้องการทางเพศ เป็นการติดอยู่ในรูป เช่นผู้ที่ชื่นชอบสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ อย่างภาพวาด ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง คือการหลงใหลรักชอบอยู่ในสิ่งที่เป็นรูปจับต้องได้ ในส่วนของคำว่า อรูปราคะ ย่อมหมายถึงสิ่งที่ไม่สามารถจับต้องได้ เช่นชื่อเสียง อำนาจ บุญกุศล คนที่ยังติดอยู่ในอรูปราคะนี้มักจะทำใจไม่ได้เมื่อสูญเสียสิ่งเหล่านี้ การจะละซึ่ง รูปราคะและอรูปราคะนั้นก็คือการละความยึดติดยินดีในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั่นเอง แต่การละนั้นไม่ใช่เพียงแค่การพยายามตั้งใจที่จะกระทำ เหมือนดั่งที่อธิบายไปแล้วข้างต้นว่า การจะบรรลุนั้นต้องอาศัยการทรงอารมณ์จนเป็นภาวะปรกติของจิตใจ ดังนั้นการทรงภาวะของจิตใจในส่วนของ รูปอรูปราคะนี้ จึงเป็นการพิจารณาการรับรู้ต่างๆแต่ไม่ยึดติดในสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง
ในคำว่า มานะ นั้นเป็นการยึดติดในตัวตนของตน ไม่ว่าจะดีกว่าตน เสมอตน หรือเลวกว่าตน ไม่ว่าจะอย่างใดอย่างหนึ่ง หากเกิดขึ้นแล้วย่อมนำพาไปสู่ความทุกข์ของจิตใจ เมื่อดีกว่าเขาก็พึงพอใจจำอวดยกตนให้สูงกว่าคนอื่น เสมอตนก็ไม่พึงพอใจที่มีคนมาเทียบเคียงระแวงว่าเขาจะแซงหน้าตน เลวกว่าเขาก็น้อยใจตนต้องดิ้นทุรนทุรายพยายามผลักดันให้ตัวเองแซงหน้าเขา การจะละซึ่งมานะให้ได้นั้นย่อมต้องตัดความรู้สึกการมีอยู่ของตัวเองทิ้งไปเสีย ให้พิจารณาประหนึ่งว่าร่างกายนั้นก็ไม่มีอะไรเป็นเรา ร่างกายเราเป็นแค่สิ่งที่ประกอบด้วยขันธ์ห้า
อุทธัจจะ นั้นคือสามารถสรุปง่ายๆว่าคือจิตฟุ้งซ่าน ความไม่สงบของจิต ความหวั่นไหวของจิต การละซึ่งอุทธัจจะนั้นย่อมหมายความว่า อารมณ์ใดๆย่อมไม่สามารถมากระทบจิตใจได้แล้ว ปราศจากกิเลส ความยินดียินร้าย พึงพอใจไม่พอใจ อันเนื่องมาจากการกระทบของจิต แต่การละซึ่งอุทธัจจะไม่ใช่การเพิกเฉยตายด้านในความรู้สึก ความรู้สึกยังรับรู้ได้ แต่ไม่มากระทบจนเกิดเป็นอารมณ์ต่างๆ
และในส่วนสุดท้ายเลยที่จะนำพาเข้าสู่การเป็นพระอรหันต์ และยังไปสู่การจุติในพระนิพพาน ก็คือ อวิชชา หรือความไม่รู้ ไม่รู้ในหนทางการดับทุกข์ให้สิ้นเชิง การตัดอวิชชาก็คือ การรู้อริยสัจสี่ ประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ นิโรธความพ้นทุกข์ และมรรคหนทางดับทุกข์ ซึ่งทางดับทุกข์นั้นประกอบไปด้วยแปดอย่างเรียกว่า มรรคแปดคือ
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง หมายถึง ความเชื่อ ความรู้ ปัญญา หรือมุมมอง ที่ถูกต้องตรงกับความจริง ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
สัมมาสังกัปปะ คือ ความคิดที่ถูกต้อง หมายถึง ความคิดที่ต้องละเว้นจากความพอใจ ความพยาบาท และการเบียดเบียน
สัมมาวาจา คือ เจรจาที่ถูกต้อง หมายถึง การพูดที่ต้องละเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ
สัมมากัมมันตะ คือ การปฏิบัติในทางที่ถูกต้อง หมายถึง การกระทำที่ต้องละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม
สัมมาอาชีวะ คือ การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง หมายถึง การทำมาหากินอย่างซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการทุจริต และเอาเปรียบผู้อื่น
สัมมาวายามะ คือ ความเพียรพยายามที่ถูกต้อง หมายถึง ความอุตสาหะ หรือความพยายามที่อยู่ในวิถีทางที่ดีงาม ละบาปอกุศลทางใจ และเจริญกุศลให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
สัมมาสติ คือ การมีสติที่ถูกต้องในสิ่งที่ควร หมายถึง การระลึกรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา โดยกำจัดความฟุ้งซ่าน รำคาญ หดหู่ ง่วงซึม สงสัย และลังเล คือการพิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เช่นการเจริญอานาปานสติสมาธิ มีสติรู้ลมหายใจ
สัมมาสมาธิ คือ การมีสมาธิในทางที่ถูกต้อง หมายถึง การฝึกจิตฝึกสติให้เกิดความนิ่งจดจ่ออยู่แต่ในสิ่งที่เป็นกุศลหนทางความถูกต้อง
การเป็นพระอริยะบุคคลของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่การมีอิทธิปาฏิหาริย์สูงส่งอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน พระอรหันต์ก็คือคนธรรมดาที่มีสภาพของความคิดอารมณ์ที่ยกระดับขึ้นไม่เหมือนปุถุชนคนธรรมดาเท่านั้นเอง พระโสดาบันก็ยังมีความต้องการทางเพศ มีอาชีพมีชีวิตเหมือนคนปรกติ เพียงแค่มีความคิดที่ถูกต้องในแนวทางโสดามรรค พระสกิทาคามี ก็มีเรื่องทางเพศเหมือนคนทั่วไปแต่มีน้อย มีฉุนเฉียวจากโทสะบ้างเล็กน้อย พระอนาคามีคือผู้ที่ละแล้วซึ่งความต้องการทางเพศ การควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดีแต่ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์ใดๆเลยแต่มีอารมณ์เกิดขึ้นและหยุดดับอารมณ์นั้นได้เร็ว และพระอรหันต์คือผู้ซึ่งปราศจากกิเลสความต้องการต่างๆ ความยึดถือเป็นตัวตน การไม่มีเกิดอารมณ์ใดๆจากการกระทบของร่างกายและจิตใจ และเป็นผู้เข้าใจในความเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน นี่ถึงจะเรียกว่าเป็นพระอริยะบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นจะเห็นว่าในขั้นแรกของพระอริยะคือพระโสดาบันนั้น มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะทำความเข้าใจและปฏิบัติให้ถึงระดับนั้น การเป็นพระโสดาบัน หลายคนมักเข้าใจว่าต้องศึกษาธรรมมากมาย ท่องพระสูตร ถกอภิธรรม จึงเป็นเรื่องที่เหลวไหล การเป็นพระโสดาบันนั้นแม้แต่เด็กผู้หญิงเจ็ดขวบก็สามารถที่จะทำได้ ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระพุทธประวัติ ชาวบ้านพ่อค้าแม่ขายในตลาดก็สามารถเป็นได้ ดังนั้นขอเพียงแค่มีความเข้าใจในการปฏิบัติก็สามารถที่จะเข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างง่ายดาย
ในการจะถึงมรรคถึงผลในพระพุทธศาสนานั้น ย่อมถึงด้วยกำลังการปฏิบัติของตนเองทั้งสิ้น เพราะพระพุทธเจ้าท่านก็ทรงตรัสไว้ว่า “อกฺขาตาโร ตถาคตา เพราะพระตถาคตทั้งหลายเป็นแต่ผู้บอกอย่างเดียว“ แม้พระพุทธเจ้าท่านเป็นคนสอนเอง แต่หากเราไม่ปฏิบัติตามเราก็ไม่สามารถไปถึงหนทางของนิพพานนั้นได้เลย เพราะพระพุทธเจ้าก็ไม่สามารถช่วยเหลือฉุดใครขึ้นมาจากนรก หรือฉุดใครเข้านิพพานได้ ดังนั้นในหลากหลายคำสอนที่มาจากลัทธิแอบแฝงว่าเป็นพระพุทธศาสนานั้น มักจะกล่าวอ้างถึงความสะดวกสบายในการเข้าสู่มรรคผลว่าไม่ต้องทำสมาธิ เพียงแค่มีสติตั้งใจ ฟังทำตามคำสอนของลัทธินั้นๆ เข้าพิธีกรรมฝากตัวเป็นศิษย์ของลัทธินั้นๆก็จะรอดพ้นจากนรก เพราะมีพระโพธิสัตว์ มีพระพุทธเจ้าคอยฉุดดึงไว้ คอยช่วยเหลือนั้นจึงเป็นความเห็นที่ผิดไปจากพระพุทธศาสนา เป็นมิจฉาทิฏฐิทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่คำสอนหรือการปฏิบัติของลัทธินั้นๆจะเป็นเรื่องของความดี เป็นเรื่องของบุญ เป็นเรื่องของสาธารณะประโยชน์ก็ตาม
จึงฝากแนวทางในการทำความเข้าใจ พิจารณา และปฏิบัติทั้งหลายข้างต้นนี้ให้แก่ผู้ที่มีความตั้งใจในการเป็นพุทธบริษัทที่ดีได้ทำความเข้าใจ ปฏิบัติให้เข้าถึงพระพุทธศาสนาต่อไป และห่างไกลจากคำลวงต่างๆจากการพิจารณาด้วยปัญญาของตนเองเทอญ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น