วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พุทธบริษัทเป็นอย่างไร

พุทธบริษัทเป็นอย่างไร
สิ่งที่เป็นเรื่องน่าคิดสำหรับปัจจุบันเราคือเรื่องการนับถือศาสนา มักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องงมงาย หลอกลวง เป็นเรื่องความเชื่อของคนโบราณ ไม่ทันสมัย พิสูจน์ไม่ได้จริง และเป็นเรื่องของจิตวิทยาเพื่อควบคุมฝูงชน โดยปัจจุบันความสำคัญของศาสนานั้นถูกลดทอนลงไป จากแนวทางในการดำเนินชีวิต จุดมุ่งหมายของชีวิต คำสอนกรอบแห่งศีลธรรมอันดี เรื่องประวัติ ข้อบัญญัติต่างๆ กลับถูกมองว่าสามารถลดหย่อนลงได้ ไม่มีความจำเป็น ไม่ต้องซีเรียสกับมัน จนกลายเป็นความหย่อนหยานในศีลธรรม ความไร้มนุษยธรรม จรรยาบรรณอันดีในสังคม ทั้งๆที่การนับถือศาสนานั้น จริงๆแล้วใครจะเลือกนับถืออะไรก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อเลือกแล้ว ก็ควรจะศรัทธาที่จะทำตามกรอบบัญญัติคำสอนของศาสนานั้นให้ได้เต็มที่ ไม่ใช่อยากจะนับถือแพะ อีกวันนับถือแกะ เอาแพะมาชนแกะ เอาวัวมาผสมกระบือ หรือจะทำตามใจฉัน เอาที่ตัวเองสบายใจโดยแหกกฎ แหกระเบียบ แหกคำสอนให้มันแหวกแนวจากที่มีมาแต่เดิม
ยกตัวอย่างเช่นพุทธศาสนา หากใครจะนับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าจะนิกายไหน มหายานหรือเถรวาท หรือวัชรยานก็มีแนวทางเหมือนๆกันคือ ควรจะต้องมีสรณะสูงสุดคือพระรัตนตรัย ดำเนินชีวิตให้มีจุดมุ่งหมายตามความสำเร็จที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้คือ พระนิพพาน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องดำรงไว้ซึ่งความดี ตามแนวทางหัวใจพระพุทธศาสนา ละชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หรือในภาษาพระที่ว่ากันว่า ทานศีลภาวนา นี่ถึงจะเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นว่า คนที่นับถือพุทธ เป็นพุทธบริษัทที่ดีกลับถูกมองว่าเป็นผู้งมงาย เคร่งเครียด ตึงเกินไป ไม่ได้เดินตามทางสายกลางของพระพุทธเจ้า ทั้งที่ทางสายกลางที่คนทั่วไปคิดนั้นมันเป็นหนทางปรนเปรอความสบายของตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ทางสายกลางในการปฏิบัติให้ถึงมรรคผลการหลุดพ้นเลย ในปัจจุบันกลายเป็นว่ามีคนนับถือพุทธมากมายหลากหลายแบบ ซึ่งมักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “พุทธทะเบียนบ้าน” ซึ่งในพุทธทะเบียนบ้านนั้นยังมีอีกหลายแบบให้น่าศึกษากันต่อไป
“พุทธไม่ซีเรียส” พวกนี้มักอ้างตัวว่าเป็นพุทธ ทั้งๆที่บางคนไหว้ผี ไหว้พราหมณ์ ไหว้เทพตามศาสนาอื่นๆอย่างไร้เหตุผล ไหว้ตามๆกันบูชาศรัทธาตามๆกันโดยไร้เหตุผลประกอบ เพียงแค่ไหว้บูชาไปตามที่เขาพูดกันว่า “ดี” หรือ “ศักดิสิทธิ์” โดยไร้จุดยืนของตัวเอง พวกนี้มีทั้งถือศีลเคร่ง และไม่เคร่ง ทำตัวเหมือนเป็นพุทธบริษัทที่ดี แต่ก็งมงายขาดปัญญาไปหน่อย  
“พุทธแท้จอมปลอม” เป็นพวกยึดติดในตำรา คลั่งใคล้ศาสนามากเกินไปจนไร้เหตุผล พวกเหล่านี้มักจะหลงตัวเองว่าดีเลิศประเสริฐศรีกว่าผู้อื่น เพราะตนเองท่องพระสูตรเป็นเล่มๆ รักษาศีลไม่ด่างพร้อย ปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง โดยไม่รู้ตัวเองเลยว่าตัวเองนั้นที่ทำไปทั้งหมดก็เพียงเพื่อต้องการได้รับความยกยอสรรเสริญจากคนอื่น เพื่อเอาไปใช้ยกให้ตัวเองดูดีขึ้น ทั้งๆที่ตัวเองก็ทำตัวเป็น”มือถือสากปากถือศีล” ชอบยกคำสอนพระพุทธเจ้ามาเพื่อทำลายคนอื่นโดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้สอน โดยที่พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เข้าใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย พวกเหล่านี้คือพวก “พุทธแท้จอมปลอม” ซึ่งมีมากมายหลากหลายตามจริตที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ในกรรมฐาน จะเห็นได้ง่ายๆจาก “สมถะบ้าอำนาจ วิปัสสนาขี้โกรธ สันโดษขี้ขอ อุเบกขาบ้ายอ อภิธรรมขี้คุย”
“พุทธหนีความจริง” พวกนี้เป็นพวกหลงตัวเองว่ามีความเป็นพุทธจากความรู้ซึ่งไม่รู้ว่าจะถูกหรือจะผิด แต่ชอบสอน และแดกดันคนอื่นที่อยู่ในศีลอยู่ในกรอบ ชอบอ้างว่าพระพุทธเจ้าสอนทางสายกลาง ก็เลยถือศีลแบบครึ่งๆกลางๆ รู้ธรรมแบบงูๆปลาๆไปด้วย อ้างว่าอุเบกขา ทั้งที่กำลังหนีความจริงหนีปัญหา ไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง อย่างเช่น การลบหลู่พระพุทธรูป ที่ไม่ควรลบหลู่ก็เพราะมันเป็นศรัทธาของคน ไม่ควรจะมาเหยียบย่ำ การเตือนหรือการรณรงค์ก็ดีก็เป็นการปรับความเห็นให้ตรงกันเพื่อการอยู่ร่วมกันที่ดี แต่คนกลุ่มนี้มักชอบอ้างว่า “อุเบกขา” แล้วก็ปล่อยให้คนอื่นลบหลู่พระพุทธเจ้าต่อไป พอใครออกมาพูดแย้งหน่อยก็หาว่าอีกฝ่ายเป็นพวกงมงายแบบ”พุทโธเลี่ยน” ทั้งๆที่ตนเองนั้นไม่ได้อยากจะไปรับผิดชอบ หรือลำบาก หรืออะไรเลย กลุ่มคนเหล่านี้เมื่อโดนแย้งกลับจนเถียงไม่ได้ ก็มักจะอ้างว่า “เป็นคนธรรมดา ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ผมยังมีกิเลสอยู่”และอื่นๆ
“พุทธขี้กลัว” คนเหล่านี้จะนับถือศาสนาอะไรก็ได้ แต่ที่มานับถือพุทธ อาจจะเป็นเพราะกลัว เกรงใจคนรอบข้าง ถูกบังคับตามครอบครัว ประเพณี และจะมีความเกรงกลัวต่อบาปมาก กลัวตกนรก กลัวสิ่งที่มองไม่เห็น วันใดก็ตามที่คนเหล่านี้ถูกสอนให้เชื่อในสิ่งใด ก็จะเชื่อโดยทันทีเพราะเกรงกลัวต่อบาป และตกนรก โดยเฉพาะคำสอนจากศาสนาอื่นๆ หรือกลุ่มลัทธิศาสนาแอบแฝง
คนเหล่านี้บางประเภทที่ยกตัวอย่างไปแล้ว บางจำพวกนั้นไม่สมควรจะเรียกตนเองว่าเป็น  “พุทธศาสนิกชน” เลยด้วยซ้ำไป ส่วนในการจะเป็น พุทธบริษัทที่ดีนั้น ก็ขอเพียงแค่ใช้สติพิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะสูงสุด ซึ่งจริงๆก็ไม่ได้ห้ามนับถือเทพจากศาสนาอื่นๆ แต่เพียงแค่ว่าต้องนับถือในความดีที่เทพเหล่านั้นได้กระทำ คือพิจารณาด้วยปัญญาก่อนจะนับถือ ไม่ใช่ว่าใครว่าศักดิสิทธิ์ก็ไหว้บูชากันหมด หรือยึดถือเทพเป็นทางพ้นทุกข์ ต่อมาคือการรักษาศีล ศีลเป็นกรอบแห่งความดี ซึ่งพื้นฐานมีห้าข้อ เรื่องของศีลนี้ขอเพียงทำให้ได้มากที่สุดด้วยความตั้งใจจริง ใครทำห้าไม่ได้ก็ทำสี่ ใครทำสี่ไม่ได้ก็ทำสาม ไม่ได้สักข้อก็ขอให้ทำให้ได้สักข้อก็ยังดีกว่าไม่มีศีลอะไรเลย ขอเพียงแค่เริ่มทำสักข้อก็จะค่อยๆนำพาไปสู่กรอบของความดีอื่นๆเอง เมื่อมีทั้งไตรสรณะ และศีลแล้ว ก็ยังเหลือความเข้าใจในแก่นหลักของพระพุทธศาสนา คือ ทาน ศีล ภาวนา หรือพูดง่ายๆก็คือ ทำดี ละชั่ว ทำจิตให้ผ่องใส โดยเข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดขึ้นมาแต่กรรม มีเหตุปัจจัยส่งผล และทุกสิ่งไม่ยั่งยืน
“ทาน” นั้นคือการทำดี คือการจุนเจือเมตตาต่อผู้อื่น ต่อสัตว์ร่วมโลก โดยหวังจะให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ พ้นจากความลำบาก ไม่ว่าจะจุนเจือช่วยเหลือด้วยกาย วาจา หรือใจ ล้วนเป็นทานทั้งสิ้น โดยทานยังสามารถลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดตัวตนความอยากความเห็นแก่ตัวได้ด้วย ซึ่งผลของทานยังทำให้เป็นที่รักแก่ผู้คนอีกด้วย
“ศีล” นั้นอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หากทำไม่ได้จริงๆก็ขอเพียงสักข้อสองข้อก็พอ แต่อย่าในข้อสองข้อนั้นอย่าได้ขาด ควรจะถือให้มั่นคง โดยการรักษาศีลนั้นจะเป็นกรอบของการกระทำให้ตั้งอยู่ในความดี เมื่อเราอยู่ในศีล ศีลย่อมรักษาเราจากความชั่ว ภัยอุปสรรคใดๆที่จะมาจากความชั่วนั้นก็จักไม่ย่างกรายเข้ามา หรือต่อให้เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นน้อย โดยศีลนั้นยังนำมาซึ่งความสุข ทำให้เราเป็นที่น่าคบหานำมาซึ่งโภคทรัพย์ และยังเป็นอริยทรัพย์นำพาไปสู่พระนิพพาน
“ภาวนา” นั้นคือการทำจิตให้ผ่องใส ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง การภาวนานั้นโดยทั่วไปคิดว่าคือการท่องบ่นบริกรรมพรรณาถึงเทพเจ้า พระเจ้า หรือพระพุทธเจ้า หรือการนั่งสมาธินานๆไม่ลุกไปไหน หรือการนั่งสมาธิจนเกิดอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ แต่ในความเป็นจริง ภาวนา คือการมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมั่นคงแน่วแน่ เมื่อสติแน่วแน่ย่อมเกิดเป็นสมาธิ สติที่พร้อมด้วยสมาธิย่อมส่งผลให้เกิดปัญญาการมองเห็นถึงความเป็นไปทางโลกที่ชัดเจนขึ้น และจะทำให้เข้าใจความหมายของพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่ายขึ้นด้วย การภาวนานั้นควรจะต้องดำรงอยู่ในสี่แนวทาง คือใช้สติตามรู้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ใช้สติตามรู้การรับรู้ของร่างกาย ใช้สติตามรับรู้สิ่งที่มากระทบจิตใจของเรา และใช้สติพิจารณาข้อความจริงในข้อธรรม ซึ่งนำพาไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยทั้งสี่อย่างนี้เรียกว่า สติปัฏฐานสี่ ประกอบไปด้วย กายเวทนาจิตธรรม สรุปให้เข้าใจง่ายๆสำหรับการภาวนาก็คือ การทำจิตให้ผ่องใส มีสติพร้อม หากเรารู้ตัวว่ากำลังโลภโกรธหลงอยู่ในสิ่งใด ก็ขอให้พยายามรู้ตัวและขจัดความโลภโกรธหลงให้ได้เร็วที่สุดเท่านั้นเอง ทีนี้การจะรู้ตัวได้เร็วขนาดไหนก็ขึ้นกับการฝึกฝนของแต่ละคน
การจะเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีนั้น ไม่จำเป็นต้องศึกษามาก แต่ขอให้ศึกษาในสิ่งที่เข้ากับจริตนิสัยตนเอง และปฏิบัติให้เข้าถึง พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนนั้นมีมากถึง 84000พระธรรมขันธ์ ที่มีมากก็เพื่อเอาไว้รองรับการสอนให้กับผู้คนที่มีนิสัยจริตต่างกัน มีสภาวะปรุงแต่งต่างกัน ถิ่นที่อยู่ต่างกันเป็นต้น คำสอนจึงมีมากมาย แต่สิ่งที่ทรงสอนนั้นหากเปรียบกับสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสรู้มา ก็เปรียบได้ดั่งแค่ใบไม้ในกำมือ กับใบไม้ในป่าใหญ่ แต่ทุกคำสอนนั้นมุ่งเน้นเพื่อการหลุดพ้นเหมือนกันทั้งนั้น มันอาจจะมีคนที่สามารถจดจำพระธรรมในพระไตรปิฎกได้หมด แต่มันก็ไม่ได้ยืนยันความเข้าใจว่าคนๆนั้นจะเข้าใจธรรมที่พระองค์ทรงสอน คนที่ท่องพระสูตรอะไรไม่ได้เลย แต่ในทางกลับกัน คนบางคนที่มีความเมตตาต่อสัตว์ต่อเพื่อนบ้าน มองโลกในแง่ดี ไม่เคยโกรธใครนานๆ ไม่เคยยึดถือสิ่งใดมาเป็นอารมณ์ให้ขุ่นเคืองว้าวุ่นใจ คนเหล่านี้อาจจะไม่สามารถท่องพระสูตรคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เลย แต่กลับเข้าถึงเมตตาพรหมวิหารที่พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนเน้นย้ำได้เป็นอย่างดี
การจะเข้าถึงพระพุทธศาสนานั้น เรื่องธรรมเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน ดั่งคำว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ” ดังนั้นในบางครั้งหากสนทนากันเพื่อเทียบความเข้าใจ มันอาจจะไม่มีใครเข้าใจอย่างเราก็ได้ หากเขายังไม่มีปัญญา หรือภูมิธรรมเช่นเรา ดังนั้นข้อธรรมจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะนำมาจำอวดกัน แข่งกันพูดเรื่องธรรมให้มากๆจะได้กลายเป็นคนมีภูมิธรรมสูง ใครพูดได้น้อยก็จะกลายเป็นคนโง่ หากมันเป็นกันเช่นนี้ ก็ขอเป็น “คนโง่ที่เดินตามมิจฉาทิฏฐิความเห็นอันถูกต้องตามแนวทางพระพุทธเจ้า ดีกว่าเป็นคนฉลาดที่หลงไปในมิจฉาทิฏฐิทางแห่งความเห็นที่ผิด”
มันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ในปัจจุบัน หรือไม่ว่าจะทุกยุคทุกสมัย ที่มักจะมีคนชอบอวดภูมิ อวดรู้ และมักจะดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นจากศาสนิกชนจากศาสนาอื่นๆ หรือเป็นพุทธบริษัทด้วยกันเอง หรือจะเป็นคนไร้ศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ในทุกสังคม และในสังคมชาวพุทธด้วยกันเองก็ย่อมที่จะมีคนเหล่านี้อยู่มาก นั่นคือพวกหลงตัวเอง อวดภูมิ อวดรู้ แดกดันส่อเสียดดูถูกเหยียบหยามผู้อื่น โดยที่มักจะอ้างถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงแค่ตนอยู่มานานกว่า รู้มากกว่า ท่องได้มากกว่า มีฐานะดีกว่า พูดจาสวยหรูมากกว่า คนนับถือมากกว่า ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้มีอะไรดีไปกว่าคนอื่น ทั้งๆที่เป็นพวก”เอาชั่วใส่เขา เอาดีเข้าตัว”

ดังนั้นผู้ที่เป็นพุทธบริษัท เป็นศาสนิกชนที่ดี ก็ไม่ควรจะหลงไปในคำเท็จคำลวงเหล่านั้น ขอให้มีจิตใจมั่นคงอยู่ใน พระรัตนตรัย อยู่ในกรอบของ ทานศีลภาวนา มีสติรู้ตัวห่างไกลจากโลภโกรธหลงให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ระลึกถึงความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง ใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่าหลงเชื่อตามบุคคลอื่นเพียงแค่เขาบอกว่าดี(โดยไร้เหตุผล) เพียงเท่านี้ความเป็นพระอริยะแห่งพระนิพพานในขั้นต้น อันได้แก่แนวทางแห่งการเป็นพระโสดาบันย่อมบังเกิดแก่สาธุชนทั้งหลายดังนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น