วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ศิลปะการต่อสู้ และศิลปะป้องกันตัว


ศิลปะการต่อสู้ และศิลปะป้องกันตัว

หลายคนคงเข้าใจว่า
ศิลปะการต่อสู้ และศิลปะป้องกันตัว คือ วิชาที่โหดร้าย ใช้ความรุนแรง
ฝึกแต่การต่อสู้ เหมาะสำหรับคนที่แข็งแรงเท่านั้น
แต่ความคิดเหล่านี้ถูกต้องหรือไม่
และศิลปะเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างไรถึงมีคนกล่าวว่า ประเทศชาติบางประเทศสามารถเป็นเอกราชได้เพราะมีศิลปะการต่อสู้ของชาติ

ศิลปะการต่อสู้ และศิลปะป้องกันตัว
เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ที่เป็นศาสตร์ คือ เป็นวิชาที่ได้รับการพัฒนา
และสืบทอดต่อ ๆกันมา เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันตัว ปกป้องคนที่รัก
หรือปกป้องประเทศชาติ และเป็นศิลป์ คือ
ต้องนำศาสตร์ความรู้ที่ได้รับมาประยุกต์ใช้พลิกแพลงให้เข้ากับสถานการณ์
ทั้งในการต่อสู้ และการดำเนินชีวิต ดังนั้น ศิลปะการต่อสู้
และศิลปะป้องกันตัวจึงเป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์
                ศิลปะการต่อสู้
ส่วนใหญ่จะถูกออกแบบมาให้ใช้ต่อสู้ แข่งขันกันเพื่อชิงความเป็นหนึ่ง การเอาตัวรอด
การทหาร หรือเพื่อความบันเทิงในสมัยโบราณ ดังเช่น การฝึกศิลปะการต่อสู้ประจำกองทัพ
หรือกีฬามวยปล้ำ และชกมวย ซึ่งมีการจัดแข่งขันกันตั้งแต่สมัยกรีก
ในการแข่งขันโอลิมปัส ซึ่งกีฬาเหล่านี้ล้วนแต่ใช้เทคนิคการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง บวกกับสมรรถภาพทางร่างกายที่แข็งแรงเป็นปัจจัยสำคัญในการชิงชัย
โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ชนะเลิศมักจะเป็นผู้ที่แข็งแกร่งมาก ชนะคนที่แข่งแกร่งน้อยกว่า
ดังคำที่ว่า ปลาใหญ่กินปลาเล็ก และส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาเพื่อแข่งขันชิงเงินรางวัล
หรือศิลปะการต่อสู้แบบทหาร ตำรวจ หรือหน่วยต่อสู้ต่างๆ เพื่อหวังทำร้ายให้ถึงแก่ชีวิต

                ศิลปะป้องกันตัว
แต่เดิมมาจากศิลปะการต่อสู้ต่างๆ
แต่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวที่แท้จริง
ซึ่งศิลปะป้องกันตัวจะถือหลักสำคัญที่ว่า เล็กชนะใหญ่ อ่อนชนะแข็ง ซึ่งหมายถึง
คนที่อ่อนแอกว่าสามารถชนะผู้ที่แข็งแรงกว่าได้ โดยพัฒนามาจากศิลปะการต่อสู้ และศึกษาเน้นความเข้าใจถึงโครงสร้างของร่างกาย
และจิตใจ กระบวนท่าเทคนิค การใช้ประโยชน์จากร่างกายให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
โดยพึ่งพากำลังจากกล้ามเนื้อให้น้อยที่สุดด้วย เพราะถ้ายังคงใช้กล้ามเนื้อเป็นหลัก
คนที่มีกล้ามเนื้อร่างกายที่แข็งแรงกว่าก็ยังคงเป็นผู้ชนะต่อไป
                ศิลปะป้องกันตัว จะเน้นฝึกฝนจิตใจ
ร่างกาย เทคนิค เป็นหลัก โดยการฝึกร่างกายมิได้หมายถึงฝึกฝนร่างกายให้มีความคงทนที่แข็งแกร่ง
และมีพละกำลังที่ดีเลิศ แต่หมายถึงการฝึกฝนร่างกายให้เคลื่อนไหวควบคู่กับเทคนิคต่างๆ
ได้อย่างเป็นธรรมชาติ และการฝึกจิตใจหมายถึง มนุษยธรรม
(仁จิน คุณธรรม(儀งิ มารยาท(礼เรย์ ปัญญาธรรม(智จิ และซื่อสัตย์(信ชิน ซึ่งเป็นคุณธรรม 5
ประการ ซึ่งถูกนำมาใช้เป็น คุณธรรม 5 ประการของนักรบ จีน และญี่ปุ่น เพื่อมิให้
ผู้ที่ได้รับการฝึกฝนนำวิชาไปใช้ในทางที่ผิด
 เนื่องจากผลที่ได้จากศิลปะป้องกันตัวนั้นรุนแรงมากถ้าถูกใช้ไปในทางที่ไม่ควร
นอกจาก คุณธรรม 5 ประการนี้ ส่วนใหญ่ในศิลปะป้องกันตัวจะสอดแทรกเนื้อหาของปรัชญา
และศาสนา ไว้เพื่อขัดเกลาจิตใจด้วย
                ในปัจจุบันมีศิลปะป้องกันตัว
และศิลปะการต่อสู้มากมายหลากหลายชนิด เช่น มวยไทย คาราเต้ มวยเส้าหลิน มวยไทเก็ก
ยูโด เทควันโด คาโปเอร่า และอื่นๆ มากมายหลากหลาย
เนื่องจากศิลปะเหล่านี้ถูกคิดค้นจากมนุษย์
และคนเรานั้นต่างอยู่อาศัยในสถานที่ต่างกัน วัฒนธรรม การเลี้ยงดู
ภูมิประเทศที่ต่างกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้คนที่อยู่ต่างสถานที่กัน มีความถนัด
ความสามารถ ความคิด และจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันด้วย เช่น มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้
และป้องกันตัวที่เรียบง่าย และรุนแรง เหมาะที่จะใช้ในการสู้รบ
จัดทัพศึกเพื่อปกป้องประเทศชาติ   คาโปเอร่า
ศิลปะป้องกันตัวด้วยเท้าของบลาซิล ที่เกิดขึ้นเนื่องจากสมัยที่เป็นทาสต้องปกปิดการฝึกฝนไว้จึงนำท่วงท่ามาประกอบเสียงเพลง   มวยเส้าหลิน มวยจีนที่ถือกำเนิดจากพระ
เพื่อใช้ป้องกันตัวจากเหล่าสัตว์ป่าดุร้าย   มวยไทเก็ก มวยจีนที่เกิดจากนักพรตเต๋า
แสวงหาความสงบในความเคลื่อนไหว อ่อนชนะแข็ง  คาราเต้ วิชาจากโอกินาว่า ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างมวยเส้าหลิน
กับมวยพื้นเมือง และวิชาดาบสายจิเก็นริว
เพื่อตัดสินชิงชัยด้วยการโจมตีเพียงครั้งเดียว
                ดังนั้นในศิลปะป้องกันตัว
และศิลปะการต่อสู้ จึงไม่ใช่วิชาที่รุนแรง หากแต่เป็นศาสตร์ และศิลป์ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
และมีประวัติสืบทอดกันมายาวนาน ประเทศชาติบางประเทศสามารถเป็นเอกราชได้เพราะมีศิลปะการต่อสู้ของชาติ
แต่ที่พวกเราติดภาพความรุนแรงของศิลปะการต่อสู้มา
เพราะการแสดงออกของบุคคลต่างๆที่อาจใช้ไปในทางที่ผิด
เช่นข่าวที่ว่านักกีฬาต่อสู้ชนิดหนึ่งทำร้ายภรรยาจนถึงแก่ชีวิต
และอดีตแชมป์ต่อสู้เป็นผู้ค้ายาเสพติด หรือเกิดจากการแสดงต่างๆ เช่นการทำลายข้าวของ
สับอิฐ ผ่าไม้ ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของศิลปะการต่อสู้
และป้องกันตัวเท่านั้น ซึ่งแทบจะไม่มีความจำเป็นในการฝึกเลย  และหาใช่ตัวตนที่แท้จริงของศิลปะไม่
                ในการที่จะเลือกฝึกศิลปะป้องกันตัว
หรือ ศิลปะการต่อสู้นั้น ควรจะเลือกให้ถูกกับ ลักษณะนิสัย จุดมุ่งหมาย
ความชอบของตนเอง มากกว่าที่จะเลือกฝึกเพราะตามค่านิยม หรือตามเพื่อนไปฝึก

เนื่องจาก แต่ละศาสตร์นั้นจะมีจุดมุ่งหมายในการฝึกฝน ทัศนคติทางการต่อสู้ไม่เหมือนกัน
ดังเช่น คนที่มีนิสัยชอบชกต่อย ถ้าจะเลือกเรียนไอคิโด ก็คงไม่เหมาะเพราะไอคิโด
เป็นวิชาที่เน้นการผสานแรง รับ และเบี่ยงแรงคู่ต่อสู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์  หรือให้คนที่ชอบหลีกเลี่ยงการต่อสู้
ชอบสันติวิธีมาฝึกมวยสากล ก็คงไม่เหมาะสมกันเท่าไหร่นัก และถึงแม้ว่าจะเป็นวิชาเดียวกันนั้น
แต่ว่าแต่ละคนนั้นย่อมมีจริตที่จะแสวงหาการต่อสู้ที่ไม่เหมือนกัน
บางคนจึงอาจจะฝึกวิชาไว้เพื่อป้องกันตัว แสวงหาความสงบในชีวิต
แต่บางคนกลับแสวงหาการต่อสู้ เพื่อไว้ใช้ในการต่อสู้แข่งขัน หรือเพื่อเป็นอาชีพ
ดังนั้นการจะเรียกกล่าวว่าวิชานั้นเป็นศิลปะการป้องกันตัว
หรือศิลปะการต่อสู้นั้นย่อมขึ้นกับใจของผู้ฝึกเอง
โดย  โชคินโฮ
張錦鋒(チョウキンホウ

(บทความเก่าปี 2008)

ลมหายใจแห่งชีวิต ความสำคัญของลมหายใจกับการต่อสู้

คิไอ
คิเม๊ะ และลมหายใจ นั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร

"หายใจ และเปล่งเสียงด้วยท้อง"
คำที่ได้ยินบ่อยๆจากปากอาจารย์นั้นคืออะไร

気ki ลมปราณ พลัง
合ai รวม ผสาน
ตาม
ความหมายของพจนานุกรมแล้ว คิไอ หมายถึงการโห่ร้อง ลมหายใจ พลังใจ
และความตั้งใจ แต่ในความหมายของ คิไอ ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแล้ว คิไอ
หมายถึง การรวบรวมลมหายใจ
และระเบิดลมหายใจจากทั้งร่างกายออกมาในครั้งเดียว ซึ่งโดยมากจะใช้ พร้อมๆ
กับ คิเม๊ะ

決め ki-me คิเม๊ะ หมายถึง ข้อตกลง หรือ การโฟกัส
ซึ่งใน คาราเต้เรา หมายถึงการโฟกัสจุดของพลัง
ซึ่งเราใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างมีระบบที่ถูกต้อง แรงจากส่วนต่างๆ
ของร่างกายจะถูกชักนำไปยังจุดที่เรา คิเม๊ะ ไว้ เช่น หมัด เท้า เข่า ศอก
เป็นต้น

คิเม๊ะ เป็นการ โฟกัส
ของพลังซึ่งส่วนใหญ่แล้วทุกคนมักจะทำได้เพียงแค่
โฟกัสของพลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อ
น้อยคนที่จะสามารถโฟกัสพลังที่เกิดจากเส้นเอ็นได้
ซึ่งการใช้เส้นเอ็นนั้นเกิดจากการผ่อนคลายร่างกายระหว่างการชกให้เป็น
ธรรมชาติไม่ฝืนเกร็งซึ่งเป็นเทคนิคระดับสูงของคาราเต้
 คิเม๊ะถ้าใช้คู่กับการคิไอ ด้วย ประสิทธิผลของการโจมตี จะเพิ่มมากขึ้น
 จริงๆ การ คิไอ เป็นการควบคุมการหายใจพร้อมกับการโจมตี
เพื่อระเบิดพลังจาก ภายในร่างกายขึ้นมา ซึ่งพลังภายในนั้น
ถูกเก็บอยู่ที่ 丹田 tanden ทันเด็น หรือ ท้องน้อย

การโจมตี
ควบคู่การหายใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการต่อสู้ เพราะจะเป็นการชักนำ
พลังจากทั้งภายในร่างกาย และภายนอกร่างกาย ให้มารวมกัน
ซึ่งเสียงของการคิไอนั้น จะดังมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
พลังที่ส่งออกไปว่า มากหรือน้อยเท่าไหร่ และการโจมตีนั้น
การหายใจจะต้องหายใจออกซึ่งการหายใจออกจะทำให้ร่างกายเราผ่อนคลาย
เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ใช้กำลังได้มากขึ้น
และพลังที่เราส่งออกไปนั้นไม่ติดขัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
เหมือนเวลาที่จะยกของอะไรที่หนักๆ คนเรามักจะส่งเสียง
พร้อมกับออกแรงยกของสิ่งนั้น
ซึ่งการทำอย่างนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว
เราไม่สามารถที่จะยกของหนักๆ พร้อมกับหายใจเข้า หรือชกออกไปแรงๆ
พร้อมกับหายใจเข้าได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น ร่างกายจะเกิดอาการเกร็ง
และถ้าชกแรงมากๆ อาจถึงขึ้นจุก สำลักลมหายใจ หรือแม้กระทั่งช้ำในได้ 
ซึ่งการฝึกการโจมตี หรือการป้องกัน พร้อมกับการหายใจที่ถูกนั้น
ก็เหมือนกับ การหายใจเข้าลึกๆ และชูแขนขึ้นสูงๆ และผ่อนร่างกาย
และลมหายใจปล่อยทิ้งลงมาตรงๆ โดยที่ไม่เกร็งกล้ามเนื้อเลย
ซึ่งถ้าลองเอามามือ หรือเป้าชกมารับมือที่ถูกทิ้งผ่อนลงมา
การผ่อนทิ้งลงมาจะแรงกว่าการที่เราจงใจใช้กล้ามเนื้อฟาดมือลงมามากมายนัก 
ดังนั้นการฝึกการโจมตี หรือป้องกัน ควบคู่กับการผ่อนคลาย
การหายใจให้เกิดความเคยชิน
และเป็นธรรมชาติให้ได้นั้นจึงสำคัญมากสำหรับการฝึกการต่อสู้

ส่วน
気 คิ (ชี่) หรือ พลังลมปราณนั้นมาจากไหน คิ นั้นเป็นลมหายใจ
แต่ในความหมายของ วิชาลมปราณ ศาสนาเต๋า แพทย์แผนจีน
และยังรวมศิลปะป้องกันตัวด้วยแล้ว คิ
หมายถึงพลังภายในที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย
และมีจุดศูนย์กลางในการเก็บรักษา คิ อยู่ที่丹田 tanden ทันเด็น หรือ
ท้องน้อย  ซึ่ง คิ อาจจะหมายถึง พลังชีวิต ก็เป็นได้
เพราะถ้าร่างกายเราปราศจาก คิ แล้วก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดย คิ
จะติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด จนถึงอายุ 16 ปี และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนหมด
ซึ่งก็คือ ตาย  การหายใจที่ถูกต้องนั้น สามารถที่จะสะสม คิ ได้
ซึ่งผลจากการสะสม คิ คือ ทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง
แม้ยามแก่เฒ่าก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรง

丹田 tanden ทันเด็น
หรือ ท้องน้อย ตามทัศนะของแพทย์แผนจีน และวิชาลมปราณของศาสนาเต๋าแล้ว
ทันเด็น เปรียบเสมือน จุดศูนย์รวมของร่างกายมนุษย์
ซึ่งเป็นจุดที่เก็บสะสมลมปราณแล้ว ยังเป็นจุดอันตรายอีกด้วย
เนื่องจากเป็นจุดที่เก็บสะสม คิ ถ้าทันเด็นถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก
จะส่งผลกระทบให้การไหลเวียนของ คิ เกิดการอุดตัน
ซึ่งอาจจะทำเกิดการบาดเจ็บถึงขั้นสาหัสได้ และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
ดังนั้น ในวิชาการต่อสู้นั้น
จึงมักมีข้อห้ามที่จะห้ามไม่ให้โจมตีจุดท้องน้อย   ซึ่งการหายใจ
และการคิไอ นั้น เรามักจะได้ยินอาจารย์เน้นย้ำ และสอนว่า
 “ให้หายใจด้วยท้อง เปล่งเสียงจากท้อง ไม่ใช่ลำคอ” ซึ่งก็คือ การหายใจด้วย
ทันเด็น โดยให้กำหนด หรือจินตนาการว่า ตอนที่เราหายใจ หรือคิไอ มีลม
หรือพลังบางอย่างพุ่งตรงจาก ทันเด็น เคลื่อนมาสู่จุดที่เราโจมตีนั่นเอง

ใน
วิชาการต่อสู้ของจีน และญี่ปุ่นนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
ตามแหล่งกำเนิดของศาสนา ได้ คือ พุทธ และเต๋า โดย ทั้งสองศาสนา
นี้จะมีวิธีฝึกลมหายใจไม่เหมือนกันคือ สายพุทธ-เข้าท้องป่อง ออก-ท้องยุบ
สายเต๋า-เข้าท้องยุบ ออก-ท้องป่อง ซึ่งสายพุทธนั้นเป็นการหายใจแบบธรรมชาติ
คือการปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืน เหมือนกับปล่อยวางทุกสิ่งไปตามกรรม
และหลักทางสายกลาง คือไม่ผ่อน ไม่ตึง  ส่วนสายเต๋านั้น
ถึงแม้นว่าจะสอนให้ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ
แต่จุดที่สูงที่สุดของเต๋าคือการย้อนกลับไปหาจุดก่อนกำเนิดแห่งธรรมชาติ
(เต๋า) หรือที่เรียกว่าสภาวะอู๋จี๋ ซึ่งก็คือ ความว่างเปล่า
ดังนั้นการหายใจในวิธีฝึกนั้น จะหายใจแบบฝืนธรรมชาติ
คือการหายใจย้อนทวนทิศ หายใจเข้าท้องยุบ ออกท้องป่อง   คาราเต้
ได้รับอิทธิพลจากวิชาการต่อสู้ของ เส้าหลิน เป็นส่วนมาก
ซึ่งเส้าหลินเป็นวิชาสายพุทธ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาลมปราณผ่านทาง
พระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของอินเดีย หรือ พระโพธิธรรม(ตั๊กม๊อ) นั่นเอง
ดังนั้น การฝึกหายใจของคาราเต้ จึงเป็นฝึกการหายใจแบบสายพุทธ   (หมายเหตุ
การแบ่งกลุ่มวิชาการต่อสู้นั้น สามารถแบ่งได้หลายวิธี เช่น ปรัชญา
และศาสนา แหล่งกำเนิด วิธีฝึกฝน และอื่นๆ
ซึ่งในบทความนี้จะแบ่งกลุ่มออกโดยใช้ วิธีฝึก วิปัสสนา
และแนวคิดปรัชญาของศาสนาเข้ามาเป็นหลักในการแบ่งกลุ่ม)

ใน
คาราเต้แต่ละสำนัก จะมีวิธีฝึกการหายใจ ไม่เหมือนกัน และวิธีการหายใจนั้น
มักจะแฝงอยู่ใน คาตะ ที่เราร่ายรำทั้งสิ้น อย่างของโชโตกัน ก็คือ
ฮันเกทสึ-คาตะ ซึ่ง คาตะ นี้จะมีทั้งการ หายใจ เข้า-ช้า ออก-ช้า 
เข้า-เร็ว ออก-เร็ว   เข้า-ช้า ออก-เร็ว และ การระเบิดลมหายใจ หรือคิไอ 
ส่วนของสำนักโกจูริว ก็จะมีคาตะ ซันชิน และเทนโช ซึ่งเป็นคาตะที่ไว้ฝึก
การหายใจ หรือที่เรียกกันว่าอิบูกิ ซึ่งการหายใจของโกจูริวจะมีหลักๆ อยู่
สองชนิดคือ การหายใจแบบ อินอิบูกิ หรือการหายใจแบบผ่อน ช้าและลึกยาว
ส่วนโยอิบูกิ จะเป็นการหายใจแบบ ใช้การเกร็งท้องช่วยในการเค้นลมหายใจออก
ซึ่งการหายใจต้องช้า และลึกเหมือนกัน

ซึ่งจริงๆ
แล้วไม่เพียงแต่เฉพาะคาตะ พิเศษอย่างเช่น ซันชิน เทนโช หรือฮันเกทสึ
เท่านั้นที่จะสามารถฝึกการหายใจได้ ทุกท่วงท่าของคาราเต้
สามารถที่จะนำมาฝึกลมหายใจได้หมด อย่างเช่น ท่าไทเกียวกุ หรือท่า
เฮอันโชดัน หรือแม้แต่ท่าพื้นฐานธรรมดา เราก็สามารถนำมาฝึกได้
เช่นการทำท่าพื้นฐานช้าๆ ประกอบกับการหายใจเข้าออกให้สัมพันธ์กัน
การรำคาตะ ช้าๆ โดยไม่ใส่กำลัง แต่เน้นไปที่การควบคุมลมหายใจ
หรือแม้กระทั่งการดำรงชีวิตประจำวันของเรา
เราก็สามารถที่จะฝึกการหายใจเข้าออกให้ลึกยาว สม่ำเสมอ
ฝึกการจัดโครงสร้างร่างกายให้ตัวตรงตลอดเวลา การเดินที่มีสมดุลย์
การผ่อนคลายในทุกอิริยาบท ความไม่ประมาทในทุกฝีก้าว และการทำงาน
ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่นำคาราเต้มาประยุกต์ใช้ได้
ดั่งเช่นคำสอนของท่านปรมาจารย์ กิชิน ฟุนาโคชิ ว่า
"อย่าคิดว่าท่านจะเรียนคาราเต้แต่ในสถานฝึกซ้อม" – ฝึกฝนร่างกาย
และจิตใจตลอดเวลา และ "พยามทำทุกสิ่งให้เป็นคาราเต้" –
การใช้วิถีแห่งคาราเต้ ในการดำเนินชีวิต
(บทความเก่าปี 2008)

ตุ๊กตา ดารุมะ

ตุ๊กตา ดารุมะ

วันนี้จะมาเล่าสู่กันฟังนะครับว่าทำไม พระโพธิธรรม หนึ่งในเทพเจ้าแห่งการต่อสู้ของญี่ปุ่น(และจีน)ที่นักศิลปะป้องกันตัวของญี่ปุ่น(และมวยจีนเส้าหลิน) ให้ความเคารพกันมากมายเมื่ออยู่ที่ญี่ปุ่น ได้กลายสภาพเป็น ตุ๊กตาล้มลุก และอุปกรณ์ในการขอพร จากเทพเจ้าซะงั้น

ต้องทำความเข้าใจครับ

พระโพธิธรรม ในตำนานว่าไว้ท่านสำเร็จธรรม ถึงขั้นอรหันตผล
พระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของพระพุทธศาสนา ฝ่ายมหายาน(เซน) ต่อมาจากพระพุทธเจ้า
ซึ่งเมื่อมาถึงประเทศจีน พระโพธิธรรมได้ถูกยกย่องให้เป็น พระสังฆปรินายกองค์ที่ 1
ของจีน และคำสอนของท่านก็ได้ไปถึงญี่ปุ่น จนเป็นลัทธิเซน อันโด่งดัง แต่จริงๆ
ลัทธิเซน ได้มีมานานแล้ว วันเส้าหลิน จริงๆ ก็เป็นวัดในลัทธิเซน เช่นกัน
วัดเหล่งเหน่ยหยี่ ในไทยของเราก็เป็นวัดเซน เช่นกัน ไม่ได้มีแต่เฉพาะในญี่ปุ่น ที่จะมีวัดเซน



หลักคำสอนของเซน
ก็เหมือนกับพุทธศาสนา นิกายทั่วไปไม่แตกต่างครับ คือ อริยสัจสี่ และ
ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่เน้นการรู้แจ้งด้วย ปัญญาญาณ หรือการชี้ธรรมแบบปิ๊งแว๊บโดยฉับพลัน
(^ ^)  หรือ การจุดประกายธรรม ให้เกิดการบรรลุโดยฉับพลัน เซน จริงๆ จะไม่เน้นคำสอนให้มากความ
เพราะคำสอนและพระวินัยเป็นเพียง หนทางในการทำให้เราเข้าใจ พระธรรม เท่านั้น
แต่หาใช่พระธรรมที่เที่ยงแท้ไม่ ซึ่งในการสอนธรรมให้แต่ละคนนั้นจะไม่เหมือนกัน
แล้วแต่ระดับปัญญาของแต่ละคนที่ศึกษาธรรม

เหตุที่ ตุ๊กตาดารุมะ กลายเป็น ตุ๊กตาล้มลุก ก็คือแฝงด้วยปรัชญา เมื่อล้มแล้ว
ก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ในทันที ก็หมายถึง การสู้โดยไม่ย่อท้อ ไม่มีการผลัดวันประกันพรุ่ง เมื่อล้มก็ต้องลุกต่อไป ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ไม่ว่าจะล้มสักกี่ครั้ง ก็ต้องลุกขึ้นมา ความผิดพลาดเป็นหนทางแห่งความสำเร็จ
เมื่อล้มบ่อยๆ ก็ย่อมรู้ถึงจุดผิดพลาด และทางแก้ไข อ้างอิงได้กับหลัก อริยะสัจสี่
  ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เราจะเปรียบ ตุ๊กตาล้มลุก กับอริยสัจสี่นะครับ
การล้มคือทุกข์ เมื่อล้มแล้วก็ต้องหาสาเหตุของการล้มว่าเกิดเพราะเหตุใดนั่นคือสมุทัย พบว่าการล้มเกิดจากฐานไม่มีความสมดุลย์จึงล้ม
เมื่อรู้สาเหตุของการล้มหรือสมุทัย ก็ต้องหาการพ้นจากความทุกข์ ก็คือนิโรธ นั่นคือการถ่วงฐานให้หนักให้แน่น เพื่อจะได้ไม่ล้ม ต่อให้ล้มก็จะได้ลุกขึ้นมาได้เอง
ซึ่งการจะเข้าถึงนิโรธได้ก็ต้องอาศัยมรรค ที่เป็นทางแห่งการพ้นทุกข์ ก็คือการปฏิบัตินำของหนักมาถ่วงที่ฐานของตุ๊กตานั่นเอง



ดังนั้น ตุ๊กตาดารุมะ จึงเป็น
ตุ๊กตาที่แฝงถึงหลักธรรมคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างดีเยี่ยม
และเป็นที่นิยมยกย่องของชาวอาทิตย์อุทัย ว่า ตุ๊กตาดารุมะ
เป็นเครื่องรางที่จะให้เกิดความสำเร็จ


โดยการขอพรจากตุ๊กตาดารุมะ
จะต้อง อธิฐานขอพร และวาดตาดำ ลงในลูกตาของ ตุ๊กตาดารุมะ และเมื่อสำเร็จผลแล้ว
ค่อยวาดตาขวาลงไปให้ครบคู่ของดวงตา และเมื่อท้ายปี จะมีพิธีเผาตุ๊กตาดารุมะ
เพื่อเป็นการส่งท้ายปีเก่า และเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ด้วย
โดยปีใหม่ก็จะซื้อตุ๊กตาดารุมะ ตัวใหม่ด้วย



ซึ่งตุ๊กตาดารุมะ
จะเป็นตัวผลักดันให้เรา พยายามให้ถึงที่สุด โดยไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
ควรจะวางตุ๊กตาดารุมะ ไว้ในที่ที่มองเห็นได้ตลอด เมื่อเรามองเห็นตุ๊กตาตัวนี้
เราก็จะเกิดกำลังใจ พยายามต่อสู้กับสิ่งต่างๆ จนเกิดผลสำเร็จ
ใช่ว่าจะขอพร แล้วก็นอนรอ
พระพรจากเทพเจ้า หรือพระเจ้าอยู่ในบ้าน เหมือนคนไทย ที่ขอพร แล้วก็รอให้เป็นจริง
โดยที่ตัวเองก็ไม่พยายามทำให้เต็มที่ พอไม่ได้ผลอย่างที่ขอ ก็บอกว่า
พระท่านไม่ศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าไม่มีจริง -*-
 


ครูเปรียบเหมือนดั่งคนเจียรไนเพชร

คนเป็นครูก็เหมือนคนเจียรไนเพชร แม้ว่าเพชรจะมีค่าในตัวมันเอง แต่หากไม่มีคนเจียรไน ใครจะไปเห็นค่าของมัน มันก็แค่หินก้อนหนึ่ง และหากเจียรไนไม่ดีแล้ว เพชรมันย่อมไร้ประกายที่สดใสสวยงาม
หากเราเจียรไนไม่ดี เท่ากับว่าเพชรเม็ดนั้นจะหมดโอกาสเปล่งประกายตลอดไป
ดังนั้นคนเจียรไนต้องทุ่มเท ต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อเพชรก้อนนั้นจะได้เปล่งประกายต่อไป อนาคตของนักเรียนคนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับครู ว่าจะสอนสั่งเด็กๆให้เรียนรู้วิชา เป็นคนดี และเปล่งประกายอยู่ในวงการ อยู่ในสังคมได้มากขนาดไหน
การเจียรไนเพชร เพชรทุกเม็ดย่อมไม่เหมือนกัน การเจียรไนนอกจากพื้นฐานต้องดีแล้ว ย่อมต้องอาศัยการประยุกต์พลิกแพลงให้ถูกต้อง เพื่อให้เพชรเม็ดนั้นเปล่งประกายมากสุด ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
การสอนก็เหมือนกัน นอกจากสอนตามพื้นฐานแล้ว การสอนควรจะต้องประยุกต์เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน หามุมหาเหลี่ยมให้เจอ เจาะประเด็นให้ถูก เพื่อดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด 
ไม่ใช่สอน20คนเหมือนกันหมดทุกคน ใครไม่เข้าใจก็ให้ทำวิธีเดิมๆไปเรื่อยๆงมโข่งอยู่อย่างนั้น
และสิ่งสำคัญที่สุดคือ คนมีชีวิตจิตใจ ไม่เหมือนเพชรที่มีแค่คุณค่าแต่ไร้จิตใจ หากเราเจียรไนเพชรไม่ดี เพชรเม็ดนั้นก็แค่เสียไป แต่คนนั้นชีวิตอาจเสียทั้งชีวิต 
หากใครรู้ตัวว่าอยู่ในฐานะที่ต้องสอนผู้อื่น กรุณารับผิดชอบด้วยนะครับ อนาคตของเขาเหล่านั้นอยู่ในมือคุณ ไม่ว่าคุณจะสอนวิชาใดก็ตาม ความรู้ทุกแขนงที่มอบให้เขาเหล่านั้น มันสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตเขาได้ ไม่มากก็น้อย
ที่สำคัญอีกอย่างครูหรือนักเจียรไนเพชร ต้องหมั่นศึกษาเพิ่มเติมตลอด ไม่ควรหยุดนิ่ง อยู่กับที่ เพราะโลกเรามันหมุนอยู่ตลอด อย่าปล่อยความรู้ให้มันจมอยู่ในอดีต

(ปล. บทความเก่าปี 2013)

พี่คนนึง

พี่ชาย เป็นสถานะของคน2คนหรือมากกว่า
โดยที่พี่ชายเป็นคนที่อายุมากที่สุด มีวุฒิภาวะมากที่สุด
ในกลุ่มโดยความเป็นพี่น้องจะเป็นทางสายเลือด หรือทางจิตใจก็ได้ โดยความผูกพันธ์ฉันท์พี่น้องจะต้องรักใครกลมเกลียว สมานสามัคคี ปรองดอง
มีความเป็นห่วงเป็นใยต่อกัน เสียสละซึ่งกันและกัน
                พี่ชาย
ทำหน้าที่เหมือนพ่อคนที่สอง ในบางกลุ่มอาจจะทำหน้าที่พ่อแท้ๆ
เพื่อคอยดูแลสอนสั่งน้องๆไม่ให้เดินไปในทางที่ผิด
คอยประคับประคองให้เติบโตเป็นคนดี และก้าวไปสู่สังคมที่ดีๆ

                เป็นพี่ชายนี่เมื่อน้องอยากได้สิ่งใด
ก็ต้องให้น้องได้สมใจหวัง เพื่อน้องที่รักยิ่งจะได้มีความสุข
ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นของรักของหวงของพี่มากขนาดไหนก็ตาม ต้องอดทนอดกลั้นฝืนใจกลั้นน้ำตาตนเสียสละเพื่อน้อง   แต่การให้คงไม่อาจให้โดยง่าย เพราะมิฉะนั้น
น้องก็จะไม่เห็นคุณค่าของสิ่งที่พี่ได้ให้ไป การที่จะให้สิ่งใดแก่น้อง
ก็จะดูความพยายามว่าใส่ใจในสิ่งนั้นๆ หรือไม่ให้ความสำคัญมากขนาดไหน ความสนใจ
ความอดทนอดกลั้นของน้อง และเหตุผลที่ปรารถนา มิใช่อยากได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว
ได้ใหม่ลืมเก่า เพราะสิ่งใดได้มาง่ายก็ย่อมจากไปอย่างง่ายดาย
แต่คนที่เสียใจที่สุดก็ไม่พ้นพี่ที่สู้ทนเสียสละให้น้อง แต่น้องกลับไม่เห็นคุณค่า
และความเสียสละของพี่ที่พี่ได้ให้ไป ครั้นจะแสดงความเป็นเจ้าของ อ้างสิทธิของพี่
ก็ทำไม่ได้ เพราะเรามีหน้าที่แค่คอยประคับประคอง ไม่ใช่บังคับน้อง  ถึงน้องจะส่งคืนให้พี่
แต่ของสิ่งนั้นก็ไม่อาจคงคุณค่าทางจิตใจให้เหมือนดั่งเดิมได้
ถึงแม้ว่าจะรักสิ่งนั้นมากเพียงใดก็คงต้องใช้เวลาอันยาวนานกว่าจะซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิมได้มากที่สุดทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า
อย่างไรก็ไม่อาจกลับมาเป็นอย่างเดิมได้ ได้แต่เริ่มต้นใหม่เท่านั้น
 และในฐานะพี่ ก็คงต้องมีการสอนสั่งน้อง ให้รู้สำนึกเสียบ้าง
เพื่อที่จะได้ไม่ทำผิดซ้ำสอง
                พี่มักจะเลี้ยงน้องให้เติบโตและเข้มแข็งกว่าเสมอ
มอบให้ทั้งความรัก ความเอ็นดู เอาใจใส่ เสียสละให้ มอบทุกสิ่งทุกอย่างให้
เพื่อให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง พร้อมที่จะเผชิญโลกภายนอก ในสายตาพี่ที่เป็นผู้ใหญ่ก็มักจะมองน้องว่าเป็นเด็กเสมอ
คอยสอนสั่งอยู่ตลอดเวลา
แต่น้องเมื่อโตเต็มวัยกลับคิดว่าสิ่งที่พี่สอนสั่งนั้นน่ารำคาญเสีย
หรือไร้ประโยชน์ อีกทั้งยังปีกกล้าขาแข็งต่อต้านพี่
ทำตัวเป็นเสือร้ายที่จะครองทุกสิ่งที่พี่มี แม้แต่ถ้ำเพื่อไว้อยู่เพียงผู้เดียว
โดยไม่เห็นถึงความผูกพันธ์เก่าก่อนที่เคยมีมา
                การจะสอนความเป็นพี่ให้แก่น้องได้นั้น
ก็คงไม่อาจทำได้ เพราะน้องก็ยังคงเป็นน้องในความคิดของพี่
แต่น้องของพี่จะเรียนรู้ได้เองเมื่อมีน้อง หรือ รุ่นน้อง มาพึ่งพาอาศัย
และจะเรียนรู้การเป็นพี่ที่ดีได้ เมื่อมีความรัก และเอ็นดูในตัวน้อง
โชคินโฮ(เทมมี่จาง)
(ปล บทความเก่าเมื่อประมาณปี2009 ปัจจุบันปี 2015 มาอ่านเจอรู้สึกเหมือนกับตัวเองทำนายอนาคตยังไงก็ไม่รู้)

วัตถุมงคลของไทย กับการภาวนาอมิตาพุทธของจีน

การภาวนาของชาวมหายาน ว่า 南无阿弥陀佛 (นะโมอามิตพุทธ นะโมอามีทัวฟอ นำมออานีท้อฮุก) 南无观世音菩萨 (นะโมกวนซื่ออินผู่สะ นำมอกวงสี่อิมผู่สัก) หรือคำภาวนาอื่นที่เป็นการเอ่ยชื่อพระนามของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า นั้นสามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่ภาวนาพ้นทุกข์แคล้วคลาดพ้นภัยจากสิ่งอันตรายต่างๆนานาได้จริงอย่างความเชื่อหรือ และการภาวนานั้นจะส่งผลให้เมื่อตายละสังขารจากความเป็นมนุษย์แล้วจะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดี อันเป็นพุทธเกษตรที่พระอมิตาภพุทธเจ้าประทับอยู่
การภาวนาของมหายานที่เชื่อกันถึงความศักดิสิทธิ์ที่ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย ก็คงจะไม่ต่างไปจากความเชื่อในพุทธคุณของพระเครื่องรางวัตถุมงคลต่างๆของไทยซึ่งนับถือฝ่ายเถรวาท
คลิ๊กดู เรื่องราวของการภาวนาถึงพระโพธิสัตว์กวนอิม

เหตุที่ว่าไม่ต่างกันนั้นเพราะแต่เดิม วัตถุมงคลมีไว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้สอดส่าย ไม่ให้สั่นไหว สั่นคลอนหลงไหลไปในอบายมุขอันเป็นเครื่องแห่งความเสื่อม เป็นทางแห่งความพินาศ ดังนั้นวัตถุมงคลจึงเป็นเครื่องยึดที่ทำให้ผู้ศรัทธาครอบครองมีความ “เหนียว” มั่นคงในพระศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อให้หนังเหนียวตีรันฟันแทงไม่เข้าอย่างที่เข้าใจ
เพราะเหตุใดวัตถุมงคลถึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ เพราะการบูชาวัตถุมงคลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ห้อยคอ คาดเอว แล้วพุทธะจะคุ้มครองเสมอไป แต่การจะให้พุทธคุณคุ้มครองได้อย่างเต็มที่นั้นจะต้องมีข้อห้าม ข้อบังคับต่างๆ เช่นข้อห้ามทำร้ายสัตว์ ห้ามเตะหมาแมว ห้ามลักทรัพย์ ห้ามเข้าสถานที่อโคจร ห้ามด่าว่าบุพการีทั้งตนเองและผู้อื่น ห้ามดื่มสุรา ห้ามใช้คำสบถ หรืออื่นๆมากมาย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นศีลเป็นกรอบของการละชั่วขั้นพื้นฐาน หรือเบญจศีลศีลห้านั่นเอง ส่วนข้อบังคับนั้น คือการภาวนาตามพระคาถา และการทำบุญตักบาตรทุกวันพระเป็นอย่างน้อย หรือทุกวันได้ยิ่งดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำภาวนานั้น ครูบาอาจารย์ได้กล่าวเป็นนัยๆกันว่า ภาวนาได้ตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่ก็ภาวนา ภาวนายิ่งมากยิ่งดี
(ภาพแดนสุขาวดี)


ในบุญกริยา10 กล่าวถึง ภาวนามัย ซึ่งคือบุญที่ได้จากการภาวนา ปฏิบัติสมาธิ ซึ่งเป็นบุญที่ได้มากที่สุด มากกว่าสังฆทาน เพราะการภาวนาสร้างปัญญา สร้างสมาธิให้ค่อยๆกัดกร่อนกะเทาะกิเลสนั้น จะนำพาไปสู่มรรคผลนิพพานได้ในที่สุด กล่าวกันว่าเพียงแค่ภาวนาปฏิบัติสมาธิจนเกิดสมาธิเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ได้บุญมหาศาลแล้ว

และเมื่อเราปฏิบัติตามครูบาอาจารย์กำชับมาแล้ว นั่นคือเราย่อมได้บุญจาก ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย เมื่อมีบุญสั่งสมย่อมเป็นที่รักของบรรดาสัตว์ มนุษย์ และเทพเทวดา เทพเทวดาคอยรักษา บุญรักษา ศีลรักษา ธรรมรักษา ย่อมเกิดอานิสงค์แคล้วคลาดจากภัยอันตราย หากไม่เกินกว่ากฎแห่งกรรม
เมื่อภาวนาจนเกิดความเคยชิน จนเกิดฌานในเบื้องต้น คือภาวนาพุทโธ จนพุทโธนั้นอยู่ในใจเราตลอดเวลา คือมีพุทธานุสสติกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา นั่นจึงไม่ต้องอาศัยวัตถุมงคลใดๆแล้ว เพราะความมงคลทั้งปวงได้อยู่ในใจอยู่ในกายเราแล้ว พุทธานุภาพย่อมสถิตย์อยู่กับเรา  

ในจุดนี้เองที่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนกันคือ การเน้นเรื่องอานิสงค์ของการภาวนา แต่แตกต่างกันตรงจุดเริ่มต้น วัตถุมงคลของไทยเราอาจจะเหมาะกับผู้ที่ยังไร้ศรัทธา กำลังใจยังไม่แข็งพอ เพราะฝ่ายเถรวาทไม่เน้นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่สามารถเป็นที่พึ่งของฝูงชน แต่ฝ่ายมหายานนั้นเน้นคำสอนเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์มาแต่โบราณ ผู้คนจึงมีศรัทธาในพุทธานุภาพมากกว่า จึงไม่ต้องสร้างศรัทธาผ่านวัตถุมงคล

ส่วนความเชื่อเรื่องแดนสุขาวดี หลังจากได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดีพุทธเกษตรนั้น ชาวมหายานไม่ได้ต้องการที่จะไปพระนิพพานหรือ ถึงได้เน้นที่จะภาวนา อมิตาพุทธ เพื่อจะได้ไปสุขาวดี ก็ต้องย้อนมาทำความเข้าใจในเรื่องคำสอนของมหายานก่อน ในพระสูตรอมิตาภสูตรกล่าวว่า สุขาวดีเป็นดินแดนที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบารมีของพระอมิตาภพุทธะ ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอดีตย้อนไปก่อนหน้าพระโคตมพุทธเจ้าไป 10 กัป ที่ได้ชื่อว่าสุขาวดีก็เพราะผู้อยู่ในดินแดนนี้ย่อมไม่มีความทุกข์เลย แต่เสวยสุขอยู่เสมอ สุขาวดีเป็นดินแดนที่สวยงามและสุขสบาย กล่าวคือ มีล้อมรอบด้วยภูเขาแก้ว กำแพงแก้ว มีสระโบกขรณีที่ประดับด้วยแก้วมณี มีดนตรีทิพย์บรรเลงอยู่เสมอ มีนกร้องออกมาเป็นเสียงธรรมเทศนา บรรยากาศต่าง ๆ นี้ทำให้ผู้อาศัยเกิดพุทธาสุสติ ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ และตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพานในดินแดนแห่งนี้

ที่ว่าบรรลุนิพพานในดินแดนนี้ ก็เพราะอายุขัยของผู้ที่เกิดในแดนนี้ยาวนานมากจนแทบจะลืมตาย มีมากพอที่จะภาวนาปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลได้ในชาติเดียว ซึ่งกล่าวว่าการเกิดในสุขาวดีนั้นเป็นชาติสุดท้ายนั่นเอง ซึ่งนี่เองที่กล่าวว่ามหายานนั้นเป็นยานลำใหญ่ เป็นทางลัดที่จะนำสัตว์โลกไปให้พ้นฝั่งได้เร็วที่สุด

ซึ่งจุดนี้เองจะแตกต่างจากเถรวาท ที่ไม่มีบันทึกเรื่องพระอมิตาภพุทธเจ้ากับแดนสุขาวดี แต่ก็อาจจะเทียบได้ว่า แดนสุขาวดีนั้นก็คือสวรรค์ชั้นหนึ่งนั่นเอง และที่เหมือนกันอีกก็คือ คติหลังความตาย ที่เชื่อกันว่า จิตของผู้ตายจะไปตามสภาพอารมณ์ขณะตาย หากจิตขุ่นมัวก็จะไปอบายภูมิ จิตแจ่มใสนึ่งถึงแต่กุศลผลบุญก็จะได้ไปใช้บุญเป็นเทพเทวดาในสวรรค์ หากจิตเป็นฌาณด้วยผลการภาวนาก็จะได้ไปเกิดเป็นพรหมในสวรรค์ชั้นพรหม


ทีนี้คงจะเข้าใจกันแล้วว่า ทำไมคนจีนที่นับถือพุทธมหายานถึงได้ชอบภาวนาว่า อมิตาพุทธ หรือ กวนซื่ออินผู่สะ 

คาราเต้ และมวยจีน

คาราเต้ และมวยจีน
ความเป็นมวยจีนที่ยังหลงเหลืออยู่ในวิชาคาราเต้ปัจจุบัน โดยเฉพาะมวยสายเส้าหลินใต้(南少林拳)คงหลีกหนีไม่พ้นเอกลักษณ์ของมวยเส้าหลินใต้ ซึ่งก็คือท่ายืน ท่ายืนหนีบแกะ หรือท่ายืนอักขระเลขแปด” (骑羊步ฉีหยังปู้ ขี่เอี๊ยโป่ว หรือ 八字步ปาจื้อปู้ โป๊ยหยี่โป่ว) ที่คาราเต้รับเข้ามาเป็นท่ายืนพื้นฐานในการฝึกโดยเฉพาะในคาราเต้สายนาฮาเต้(那覇手) เช่นสำนัก โกจูริว(剛柔流)ริวเอริว(劉衛流)อุเอจิริว(上地流) และชิโตริว(糸東流)รวมถึงคาราเต้ในสายของชูริเต้(首里手)ด้วยเช่นสำนัก โชโตกันริว(松濤館流)วาโดริว(和道流)โชรินริว(小林流 โคบายาชิโชรินริว และ松林小林流มัทสุมุระโชรินริวโชรินริว(昭林流)เป็นต้น

ปล. วัดเส้าหลินในประเทศจีนมีอยู่สามแห่ง โดยวัดที่มีความโดดเด่นทางด้านหมัดมวยจะมีอยู่สองที่คือ วัดเส้าหลินที่ภูเขาซงซัน เหอหนัน(河南嵩山少林寺) เรียกว่าเส้าหลินเหนือ(北少林) และวัดเส้าหลินที่เขตฉวนโจว เมืองฟุเจี้ยน(ฮกเกี้ยน)(福建泉州南少林寺) เรียกว่า เส้าหลินใต้(南少林) โดยวิชาหมัดมวยในแถบภาคใต้ของจีนจะได้รับอิทธิพลมาจากวิชาของเส้าหลินใต้เกือบทั้งหมด เรียกรวมๆว่า หนันเฉวียน(南拳) หรือ หนันเส้าหลินเฉวียน(南少林拳)

ท่ายืน(立ち)
โดยคาราเต้ท่ายืนหนีบแกะจะมีดังนี้ อุจิฮาชิจิดาจิ(内八字立ち)ซันชินดาจิ(三戦立ち) เซชันดาจิ(十三立ち)และฮันเกทสึดาจิ(半月立ち)ซึ่งท่ายืนเหล่านี้ดัดแปลงมาจากการยืนหนีบแกะในมวยจีน จะมีลักษณะหันปลายเท้าข้อสู่ด้านในเพื่อใช้กล้ามเนื้อด้านในขา และกล้ามเนื้อหลังขาล๊อคสะโพกให้ตรง เพื่อรักษาสมดุลย์ให้มั่นคง อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการเตะฝ่าหมากอีกวิธีหนึ่งด้วย
ไม่เพียงแต่ในมวยสายฮกเกี้ยนเท่านั้นที่มีท่าหนีบแกะ ทางมวยสายนักพรตเต๋าบางสายของจีน (โดยเฉพาะท่าในชุดฝึกชี่กงของเต๋าบางสำนัก) จะมีท่ายืนหนีบด้วย แต่ไม่เรียกว่า หนีบแกะ แต่เรียกว่า หนีบกระเรียน หรือนั่งกระเรียน(骑鹤步ฉีเฮ่อปู้ เพราะนักพรตเต๋าขี่กระเรียนขึ้นสวรรค์ ในชุดฝึกมวย หรือชี่กงของเต๋า ก็จะมีท่าเหล่านี้อยู่



โคเทะคิทาเอะ(小手鍛え)
ในคาราเต้จะแบ่งการฝึกออกเป็นสามรูปแบบหลักๆ คือการฝึกคิฮน(基本พื้นฐานคาตะ(型ท่ารำ และคุมิเตะ(組み手การฝึกต่อสู้ในการฝึกพื้นฐานนั้นสิ่งที่ยังคงแบบฉบับของมวยเส้าหลินใต้ก็คือ โคเทะคิทาเอะ(小手鍛え)ซึ่งเป็นชุดฝึกพื้นฐานมวยเส้าหลินใต้ โดยการจับคู่สองคนใช้ข้อมือท่อนแขนเหวี่ยงเป็นวงกลมกระแทกกันในท่าต่างๆเรียกว่า ตุ้ยเลี่ยน(对练) ซึ่งคาราเต้ได้นำท่วงท่าต่างๆในการฝึกนี้มาเป็นพื้นฐานในการปัดป้องสี่ท่าพื้นฐาน แทนการปัดป้องต่างๆที่มีมากมายในมวยจีน โดยสี่ท่าพื้นฐานมีดังนี้ โจดันอาเกอุเกะ(上段上げ受け)ชูดันโซโตอุเกะ(中段外受け)ชูดันอุจิอุเกะ(中段内受け) และเกดันบาราย(下段払い)
แต่ในสำนักสายที่ไม่มีการดัดแปลงท่าปัดป้อง ท่วงท่าการปัดก็จะไม่เหมือนคาราเต้สำนักทั่วไป กล่าวคือไม่มีการปัดป้องพื้นฐานสี่ท่าที่สำนักอื่นๆมี แต่การปัดป้องจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของมวยต้นกำเนิดนั้นๆ เช่น สำนักอุเอจิริว ซึ่งตามประวัติกล่าวว่ามาจาก มวยอู๋จู่เฉวียน หู่เฉวียนมวยเสือ(虎拳)เฮ่อเฉวียนมวยกระเรียน และหลงเฉวียนมวยมังกร(龙拳)ของฮกเกี้ยน การปัดป้องทั้งหมด จะเป็นการวาดวงกลมเป็นหลัก และเน้นที่การใช้ ง่ามนิ้ว ข้อมือ ฝ่ามือกระแทก และการคว้าจับ
ท่ารำคาตะ(型)
สิ่งที่เป็นการบ่งบอกว่าคาราเต้นั้นคือมวยเส้าหลินใต้ได้ดีที่สุดนั่นคือ ท่ารำคาตะของคาราเต้ จะเห็นได้จาก คาตะต่างๆดังนี้
ซันจิน(三戦) ในสำนักฝ่ายนาฮาเต้ เช่น โกจูริว ชิโตริว ริวเอริว อุเอจิริว ซึ่งเป็นมวยเส้นชุดหนึ่งของมวยเส้าหลินใต้เรียกว่า ซันจั้น(三战)มวยชุดซันจั้นจะมีฝึกกันเฉพาะในมวยอู๋จู่เฉวียน(五祖拳มวยห้าบรรพบุรุษ ประกอบไปด้วยมวยไท่จู่ไท่จู่เฉวียน太祖拳 มวยกระเรียนเฮ่อเฉวียน鹤拳 มวยลิงโฮวเฉวียน猴拳 มวยอรหันต์หลอฮั่นเฉวียน罗汉拳 และมวยตักม๊อต๋าหมัวเฉวียน达尊拳)ไป๋เฮ่อเฉวียน(白鹤拳) หมิงเฮ่อเฉวียน(鸣鹤拳) ซึ่งเป็นมวยสายฮกเกี้ยนเส้าหลินเท่านั้น
เทนโช(転掌) เทนโชเป็นท่าสำคัญที่สุดรองลงมาจากซันจินในสำนักโกจูริว และริวเอริว เป็นท่าที่ดัดแปลงมาจากมวยหมิงเฮ่อเฉวียนเป็นการใช้ฝ่ามือปัดป้องด้วยการวาดวงกลมไปมา เสมือนปีกนกกระเรียน ดังจะเห็นได้จากสำนักโกจูริว และริวเอริว ที่ผู้ก่อนตั้งทั้งสองคนได้ร่ำเรียนวิชาหมิงเฮ่อเฉวียนมาจากอาจารย์เดียวกันคือปรมาจารย์เซี่ยจงเสียง(谢宗祥)ผู้ก่อตั้งวิชาหมิงเฮ่อเฉวียน นอกจากเทนโชจะถูกดัดแปลงมาจากมวยหมิงเฮ่อแล้ว เทนโชยังมีความคล้ายคลึงกับมวยหย่งชุนในมวยเสี่ยวเนี่ยนโถว(小念头สิ่วหนิมเถ่าซึ่งเป็นมวยชุดเส้นที่หนึ่งของหย่งชุนอีกด้วย เนื่องจากมวยหมิงเฮ่อ และมวยหย่งชุนนั้นต่างมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้ง
เซชัน(十三)หรือฮันเกทสึ(半月)ในสำนักโชโตกันริว วาโดริว โชรินริว โมโทบุริว(本部流) หรือสำนักอื่นๆที่มาจากสายชูริเต้ จะมีคาตะเซชันที่เป็นการฝึกท่าหนีบแกะ และคงท่ามวยซันจั้นอยู่
ฮาคุซุรุ (白鶴)ในสำนักที่มาจากสายนาฮา และที่มาจากสายชูริเต้บางสำนัก ได้นำท่วงท่าจากมวยไป๋เฮ่อ ผสมกับมวยซันจั้น จนเป็นท่าคาตะกระเรียนขาวฮาคุซุรุ ท่ายืนใน ฮาคุซุรุ จะเป็นท่ายืน เนโกะอะชิดาจิ(猫足立ちหรือท่ายืนขาหน้าว่าง虚步ซวีปู้ และซุรุโนะดาจิ(鶴の立ちหรือท่ายืนขาเดียว独立步ตู๋ลี่ปู้เกือบทั้งหมด ท่วงท่าจะเป็นการใช้มือในรูปแบบของ โชเต้(掌手ฝ่ามือไฮชู(背手หลังมือนุคิเตะ(貫き手มือหอกไฮโต(背刀สันมือด้านในชูโต(手刀สันมือด้านนอกวาชิเดะ(鷲でปากไก่คาคุโต้(鶴頭หัวไก่เป็นหลัก และจะไม่มีการชก


คาคิเอะ(カキエ、掛け鍛えคะเคคิทาเอะหรือการผลักมือ พันมือ(推手ทุยโส่ว 黐手ชือโส่วหรือชี้เสา
การผลักมือเป็นเอกลักษณ์ในการฝึกทักษะการฟังแรง ประสาทสัมผัส ปฏิกริยาตอบสนองในการจัดสมดุลย์ และการเคลื่อนไหวเชิงมวยของมวยไท่เก็กคุ้ง(太极拳ไท่จี๋เฉวียนมวยฝ่ามือแปดทิศ(八卦掌ปากั้วจ่างและสายฮกเกี้ยนเช่นมวยหวิ่งชุนควิ่น(咏春拳หย่งชุนเฉวียนมวยอู๋จู่เฉวียนเป็นต้น คาราเต้สายที่ได้รับความเป็นมวยสายฮกเกี้ยนมายิ่งมากเท่าไหร่ การฝึกผลักมือก็ยิ่งหลงเหลืออยู่มากเท่านั้น จะเห็นได้จากสำนักโกจูริว ชิโตริว อุเอจิริว ริวเอริว ซึ่งมีระบบการฝึกผลักมือ แต่การผลักจะไม่ใช่การผลักมือแบบสิ่ทิศตรง สี่ทิศเฉียงเหมือนไท่เก็ก แต่จะเป็นลักษณะการหมุนมือ และในขั้นสูงจะมีการชก กระแทก คล้ายลักษณะการพันมือชือโส่วในหมัดหย่งชุนเสียมากกว่า


โคคิว(呼吸การหายใจ
ในคาราเต้ได้รับทฤษฎีเรื่องการหายใจด้วยท้องน้อย(丹田ตันเถียน ทันเด็นมาจากวิชามวยจีน แต่สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของมวยสายฮกเกี้ยนเส้าหลินใต้ ที่ไม่มีในมวยเหนือนั่นคือ การออกเสียง และการผ่อนเกร็งช่วงท้อง เพื่อช่วยในเรื่องการบริหารอวัยวะภายใน และเค้นกำลังจากร่างกาย ซึ่งการหายใจในลักษณะนี้คาราเต้เรียกว่า อิบุกิ(息吹แปลว่าการพ่นลมหายใจจะมีอยู่ในเฉพาะสำนักโกจูริว และริวเอริว ซึ่งการอิบุกิ จะแบ่งออกเป็นสามลักษณะคือ
อินอิบุกิ(陰息吹)คือการหายใจแบบหยิน หรือแบบผ่อนคลายตามธรรมชาติหายใจเข้าออกช้ายาวลึก หายใจทั่วท้อง
โยอิบุกิ(陽息吹)คือการหายใจแบบหยัง หรือการใช้กล้ามเนื้อช่วยเกร็งบังคับในการไล่ลมออกจากท้อง เพื่อให้เลือดสูบฉีดมากขึ้น
ฮันอินโยอิบุกิ(半陰陽息吹)คือการหายใจแบบผสมผสานระหว่างอ่อนแข็งหยินหยังมีการผ่อนคลาย เกร็งกล้ามเนื้อ และกำลังในการหายใจ
ในขณะที่สำนักอื่นๆจะหายใจเป็นธรรมชาติตามการใช้แรงของกล้ามเนื้อ ให้ท่วงท่าการเคลื่อนไหวเป็นตัวกำหนดการหายใจว่าจะช้า เร็ว ยาว ลึก หรือระเบิดลมหายใจที่เรียกว่า คิไอ(気合)หรือเฮิงฮ่าในภาษาจีน(哼哈)การคิไอจะมีอยู่ในคาราเต้ทุกสำนัก เป็นการหายใจออกอย่างรวดเร็วผสานกับการใช้แรงจากร่างกายในการเคลื่อนไหวท่วงท่า โดยมีความเชื่อว่าการคิไอ จะสามารถช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายในขณะที่ส่งแรง แรงกำลังที่ส่งออกไปไม่ติดขัดที่ร่างกาย และเสริมกำลังในการจู่โจมได้อีกด้วย ในการคิไอนั้น ยิ่งเสียงใสกังวานและดังก้อง โดยที่เสียงไม่สั่นออกมาจากลำคอ ยิ่งดังกังวานเท่าไหร่ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแรงของท้องน้อย ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของร่างกาย ยิ่งท้องน้อยหรือตันเถียนแข็งแรงมากเท่าไหร่ ร่างกายเราก็จะแข็งแรงมากขึ้นเท่านั้น


ประวัติ
ในมวยสายชูริเต้ มีการอ้างถึง มวยสิงอี้เฉวียน(形意拳มวยเหนือสายเหอหนานว่าได้รับการฝึกจากอาจารย์สิงอี้ท่านหนึ่งชื่อ T'ung Gee Hsing (ไม่สามารถค้นหาชื่อในตัวอักษรภาษาจีน และการอ่านออกเสียงที่ถูกต้องได้) ดังนั้นในสำนักสายชูริเต้ สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือการพุ่ง ต่อย หมัดหน้า หรือหมัดหลัง แต่สิ่งที่แตกต่างระหว่าง สิงอี้ และมวยสายชูริคือ การวางน้ำหนักขนะต่อยเสร็จสิ้น คาราเต้จะออกหมัดเมื่อตอนขาหลังส่งแรงเหยียดขาจนสุด พร้อมกับขาหน้าที่เหยียบลงพื้น สมดุลย์น้ำหนักตัวจะค่อนมาด้านหน้า แต่มวยสิงอี้จะวางขาหน้าก่อน จึงค่อยออกหมัดชกพร้อมกับขาหลังที่ตามมา สมดุลย์น้ำหนักตัวจะค่อนมาด้านหลัง แต่ในบางท่วงท่ามวยสิงอี้ และคาราเต้สายชูริเต้จะใช้การพุ่งชกในลักษณะเดียวกันเหมือนกัน ในเรื่องของรูปแบบการต่อสู้ การย่างก้าวที่มีลักษณะเป็นเส้นตรง เข้าออกเดินหน้าถอยหลัง ฉากเบี่ยงซ้ายขวา ถือว่าเป็นเอกลักษณะของมวยสิงอี้เฉวียนที่ คาราเต้สายชูริเต้ รับเข้ามาโดยตรง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากท่ามวยของสิงอี้เฉวียน ชุดสิงอี้อู่สิงเหลียนหวน(形意五行连环หมัดสิงอี้ผสานห้าธาตุ


คาราเต้สายชูริจะถนัดพุ่งต่อย ต่อสู้ในระยะห่าง และระยะกลาง ในขณะที่ทางสายนาฮาจะถนัดรูปแบบการต่อสู้ในระยะประชิด และระยะกลาง เพราะการฝึกผลักมือ หรือพันมือเป็นการฝึกประสาทสัมผัสในการต่อสู้เมื่อคู่ต่อสู้จู่โจมในระยะประชิด
ต้นกำเนิดของคาราเต้สายนาฮากล่าวไว้ว่า ปรมาจารย์คันเรียว ฮิกาชิอนนะ(東恩納 寛量1853-1916 ได้เรียนมวยอรหันต์ของเส้าหลินใต้จากอาจารย์อาราคากิ เซโช(新垣 世璋1840 – 1918และได้เรียนมวยกระเรียนและมวยเส้าหลินใต้อื่นๆจาก อาจารย์เซี่ยจงเสียง(谢宗祥1852 - 1930
เนื่องจากสำเนียงการอ่านอักษรจีนที่ต่างกันของภาษาจีน ริวกิว และญี่ปุ่น การอ่านออกเสียง หรูหรูเกอ如如歌”(ญี่ปุ่นออกเสียงว่า ริวริวโก) ที่เป็นฉายาของท่านเซี่ยจงเสียง จึงเพี้ยนไปกลายเป็นแซ่หลิวชื่อหลง(刘龙)ผู้อาวุโสหลิวหลง(刘龙公)หลิวหลงเจียง(刘龙江)และพี่ชายหรูหรู(如如哥)เป็นต้น(ชื่อที่ภาษาญี่ปุ่นเพี้ยนไป อ่านว่า ริวริวโก เหมือนกันหมดทุกชื่อ)    

คุมิเตะ(組み手)รูปแบบการต่อสู้
แต่เดิมรูปแบบการต่อสู้ของคาราเต้ จะไม่ใช่รูปแบบการแข่งขันกีฬา(Sport Karate) หรือการชกกันบนเวที(Full contact) ที่สามารถรับชมการแข่งขันได้ตามอินเตอร์เน็ท หรือการต่อสู้ในภาพยนต์
ในการต่อสู้ของสายชูริเต้จะนำเอาลักษณะการสืบเท้าของต้นตำรับคือมวยสิงอี้มาใช้กล่าวคือ ปัดป้องจู่โจมเป็นจังหวะรับรุกต่อเนื่องด้วยการสืบเท้าเข้าออกถอยฉากเป็นเส้นตรงในทิศทางต่างๆ ในการถอยปัดนั้นจะถอยให้พ้นระยะจู่โจมในระยะที่พอดีไม่ห่างไปไม่ใกล้ไป ไม่ปักหลักยืนรอปัดป้อง และพุ่งต่อย
ในสายนาฮา จะเป็นลักษณะต่อสู้ระยะประชิดเน้นการปัดป้องอยู่กับที่เป็นหลัก หากจะถอย ก็ถอยเพียงนิดเดียว เน้นหลบหลีก ปัดป้องไม่ปะทะแรงตรงๆ และการปัดป้องพร้อมโจมตี การออกหมัดนิยมออกหมัดสั้น ปัดป้องจู่โจมผัวพันคู่ต่อสู้ในระยะประชิด หรือในระยะกลาง หากได้แตะต้องมือ หรือแขนของคู่ต่อสู้แล้ว จะไม่ปล่อยให้หลุดมือ จะฟังแรงควบคุมแขนของคู่ต่อสู้ไว้ไม่ให้คู่ต่อสู้ออกหมัดได้อย่างใจนึก ซึ่งการต่อสู้นี้คือผลลัพธ์จากการฝึกผลักมือคะคิเอะนี่เอง
ในรูปแบบการต่อสู้ของคาราเต้เชิงกีฬา การแข่งขันคาราเต้จะสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆคือ แบบ Non-Contact และFull-Contact โดยการฝึกคาราเต้ในรูปแบบกีฬานี้เทคนิคต่างๆของคาราเต้ดั้งเดิมได้ถูกลดลงไปอย่างมาก เช่นการหักล๊อค การทุ่ม การแทงจุดตามร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้หมัด นิ้ว และฝ่ามือชนิดต่างๆ เทคนิคเหล่านี้ปัจจุบันได้ถูกลืมเลือนหายไปจนเกือบหมดสิ้น จนกลายเป็นเสมือนตำนาน และภาพมายาของนักคาราเต้ก็ว่าได้
Non-Contact เป็นรูปแบบสากลที่ได้การรับรอง และบรรจุในกีฬาสากลระดับต่างๆ เช่น ซีเกมส์ เอเซี่ยนเกมส์ กีฬาแห่งชาติ กีฬาเยาวชนแห่งชาติ โดยใช้กฏกติกาที่บัญญัติขึ้นโดย สมาคมสหพันธ์คาราเต้โลก(WKF: World Karate Federation) การจู่โจมจะทำได้เพียงการเตะ การต่อย การตบด้วยหลังหมัด การตบด้วยสันมือด้านใน ในระดับลำตัว หลัง และหน้า ด้วยการใช้ท่วงท่าที่ถูกต้องมีพลัง ความเร็ว ในระยะ และจังหวะที่ถูกต้อง โดยที่การจู่โจมจะต้องหยุดเมื่อถึงตัว หรือหยุดห่างจากคู่ต่อสู้ 3-5 เซนติเมตร เพื่อวัดทักษะทางด้านการควบคุมการโจมตี และลดการบาดเจ็บจากการปะทะ
Full-Contact เป็นรูปแบบการต่อสู้ของกีฬาคาราเต้ อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเกิดการแข่งขันรูปแบบนี้ถูกจัดขึ้นโดย อาจารย์โอยาม่า มัทซุทัสสุ(大山 倍達1923-1994 แห่งสำนักคาราเต้เคียวคุชินไก(極真会)การต่อสู้ลักษณะนี้ถูกคิดค้นบัญญัติ มาจากรูปแบบการต่อสู้ของตัวอาจารย์โอยาม่าเอง ซึ่งท่านเป็นคนรูปร่างใหญ่ ไม่เกรงกลัวการจู่โจมใดๆที่พุ่งเข้าหาตัวท่าน ท่านจึงนิยมในการยืนอยู่กับที่ และเดินเข้าหาคู่ต่อสู้เอง ด้วยความระมัดระวังเตรียมพร้อมที่จะปัดป้อง และจู่โจมกลับ แต่ในปัจจุบันนักคาราเต้สายเคียวคุชินนิยมที่จะเดินเข้าหาแลกหมัดประลองความแข็งแกร่งของหมัดเท้าและร่างกาย จนไม่เหลือการปัดป้อง มากกว่าที่จะประลองชั้นเชิงการปัดป้องจู่โจม อย่างที่อาจารย์โอยาม่าเป็นผู้ถ่ายทอด
นักคาราเต้บนเวที ที่อ้างว่าเป็นคาราเต้ บางคนไม่เคยฝึกคาราเต้จริงๆเลยในรูปแบบของ Full-Contact ปัจจุบัน ได้มีสำนักใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย เรียกตัวเองว่าเป็นคาราเต้ แต่ไม่มีการฝึกพื้นฐาน การฝึกท่ารำ มีแต่เพียงฝึกการต่อสู้ และไม่ใช่การต่อสู้ในรูปแบบคาราเต้ดั้งเดิม กลับกลายเป็นรูปแบบการต่อสู้Kick-Boxing มากกว่า ซึ่งจริงๆแล้วสำนักเหล่านี้ไม่ควรที่จะเรียกรูปแบบการฝึกว่าเป็นคาราเต้เลย

บุคิจิทสุ(武器術)อาวุธในวิชาคาราเต้
อาวุธหลักๆของคาราเต้ในโอกินาว่าจะมี
โบ
(棒พลองเอกุ(エクไม้พายไซ(釵สามง่ามทินเบโรจิน(チィンべー(楯)ローチン(短槍)โล่กระดองเต่า และหอกสั้นคามะ(鎌เคียวคุวะ(鍬จอบ คราดเทคโก้(鉄甲สนับเหล็กโฮกิ(箒ไม้กวาดทอนฟา หรือ ทุยฟา(トンファーไม้ศอกญี่ปุ่น ทำมาจากด้ามเครื่องโม่ถั่ว เอาไว้นวดข้าว กับโม่ถั่ว นุนจากุ(ヌンチャクกระบองสองท่อนซันเซ็ทสึคุน(三節棍พลองสามท่อนซุรุจิน(スルチンโซ่ลูกตุ้มเป็นต้น
ซึ่งอาวุธที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มีอยู่ในมวยสายฮกเกี้ยนหมดเลย
 แต่ในปัจจุบันคาราเต้ที่แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่นจะต่างจากโอกินาว่าตรงที่ ไม่ได้รับการฝึกอาวุธเหล่านี้ เนื่องจากได้เปลี่ยนทัศนคติในเรื่องการต่อสู้ให้เป็นการต่อสู้มือเปล่า ปราศจากอาวุธไปแล้ว จึงมีการฝึกอาวุธน้อยลง จนบางสำนักไม่หลงเหลือวิชาอาวุธอีกเลย

ความแตกต่างเรื่องการใช้เอวของสำนักโชโตกัน และสำนักอื่นๆ
ในสำนักโชโตกัน จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ต่างจากสำนักอื่นๆ ตรงเรื่องการใช้เอว ในการใช้เอวของคาราเต้ทั่วไป จะใช้การบิดเอว(转腰จ่วนเยา ศัพท์มวยไทเก็กหมายถึงการบิดเอวเพียงอย่างเดียว แต่ในคาราเต้โชโตกัน การใช้เอวจะรวมไปถึงการเปิดปิดสะโพกด้วย(落跨ลั่วคว่า ศัพท์ไทเก็กหมายถึงการเคลื่อนไหวสะโพก โดยการบังคับกล้ามเนื้อตั้งแต่ส่วนเข่าขึ้นไปถึงส่วนสะโพก
จะสังเกตความแตกต่างได้อย่างชัดเจนจากวิวิฒนาการของคาราเต้ในสำนักโชโตกัน ซึ่งสังเกตได้จากโชโตกันรุ่นก่อตั้ง กับโชโตกันรุ่นหลัง การใช้เอวจะไม่เหมือนกัน เนื่องจาก ปรมาจารย์มาซาโทชิ นากะยาม่า(正敏 中山1913-1987หลังจากที่ได้ศึกษาคาราเต้สายชูริเต้จากท่านปรมาจารย์ฟุนาโคชิ กิชิน(船越 義珍1868-1957 ได้ไปรำเรียนศึกษาต่อที่ประเทศจีน และได้แลกเปลี่ยนความรู้ ฝึกมวยจีนจากอาจารย์หลายท่าน เมื่ออาจารย์นากายาม่ากลับมาที่ญี่ปุ่นได้ช่วยปรมาจารย์ฟุนาโคชิก่อตั้งสมาคมคาราเต้ญี่ปุ่น(日本空手協会 JKA: Japan Karate Associationขณะนั้นได้ก็มีนักมวยไทเก็กตระกูลหยังท่านหนึ่งได้อพยพมาอาศัยที่โตเกียว และได้ฝึกคาราเต้ที่สมาคมฯ ชื่อของท่านคือ หยังหมิงซื่อ(杨名时หยังหมิงซื่อ โยเมย์จิโดยอาจารย์หยังได้ฝึกคาราเต้จนได้รับสายดำระดับ7ดั้ง และเป็นหนึ่งในผู้ฝึกสอนของสมาคม ต่อมาอาจารย์หยังได้ก่อตั้งสมาคมไทเก็กเพื่อสุขภาพ และสมาคมปาต้วนจิ่นแห่งประเทศญี่ปุ่นขึ้น เพื่อเผยแพร่วิชาไทเก็กตระกูลหยัง และวิชาชี่กงปาต้วนจิ่นอันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศจีน
(อาจารย์หยังหมิงซื่อ ไม่ใช่ผู้สืบทอดมวยไทเก็กตระกูลหยังแห่งหย่งเหนียน แต่เป็นชาวซานซี ได้รำเรียนวิชาไทเก็กตระกูลหยังจากอาจารย์หวังซินอู่(王新午) ซึ่งเป็นศิษย์ของปรมาจารย์อู๋เจี้ยนเฉวียน(吴鉴泉)แห่งไทเก็กตระกูลอู๋ และอาจารย์สวียวี่เซิง(许禹生) หลานศิษย์ปรมาจารย์หยังเจี้ยนโหว(杨健侯)แห่งไทเก็กตระกูลหยัง อีกทั้งอาจารย์หยังหมิงซื่อยังเป็นศิษย์ของอาจารย์มู่เสี่ยวอี้(穆小义)ผู้สืบทอดมวยสิงอี้เฉวียนรุ่นที่4อีกด้วย)
จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องกลศาสตร์พลศาสตร์รวมถึงความรู้ในด้านต่างๆที่ได้รับมาจากประเทศจีนของอาจารย์นากายาม่า ได้ต่อยอดสิ่งที่อาจารย์กิโก ฟุนาโคชิ(船越 義豪1906-1945 ลูกชายปรมาจารย์กิชิน ฟุนาโคชิ ในเรื่องการใช้เอว และการเตะต่างๆ จนทำให้คาราเต้โชโตกันในสมาคมฯ เริ่มแตกต่างจากคาราเต้สายชูริเต้อื่นๆ รวมถึงโชโตกันสายอาจารย์ท่านอื่นๆด้วย โดยเฉพาะการใช้เอวเปิดปิดสะโพกที่ได้รับมาจากการแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์หยังสามารถต่อยอดความรู้ในด้านการใช้เอว และพัฒนาจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโชโตกันปัจจุบัน ซึ่งต่างจากการใช้เอวในสำนักอื่นที่จะต้องล๊อคสะโพกตรง จากทัศนคติเรื่องการล๊อคสะโพกให้เอวตรงของการยืนหนีบแกะในสายมวยฮกเกี้ยน จึงทำให้สำนักต่างๆใช้เอวเพียงแค่บิดเอวเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้เปิดปิดสะโพกใช้เอวได้สามแบบโชเมน(正面เอวตรงฮันมิ(半身เปิดสะโพกหันตัวออกด้านข้าง45องศาและเคียคุฮันมิ(逆半身การบิดสะโพกหันตัวย้อนกลับ45องศาเหมือนดั่งโชโตกัน
ในคาราเต้โชโตกัน จะมีการฝึกที่ไม่เหมือนกันในแต่ละอาจารย์ ในท่ารำเทคกิ(鉄騎ขี่ม้าเหล็ก หรือナイハンチไนฮันจิและอีกตัวอย่างหนึ่งคือ การชกเคียคุสึกิ(逆突きชกหมัดหลังในท่ายืนโคคุทสึดาจิ(後屈立ちท่านั่งม้าน้ำหนักลงเท้าหลัง ภาษาจีนเพียนหม่าปู้偏马步) ในท่ามวยเฮอันโกดัน(平安五段) อาจารย์บางท่านจะสอนให้ล๊อคสะโพกขยับแต่เอวแล้วชก(จ่วนเยา)ตามแบบแผนดั้งเดิมเหมือนสำนักชูริเต้อื่นๆ แต่อาจารย์บางท่านจะให้ บิดสะโพก(ลั่วคว่า)ตามแบบความรู้ที่ได้รับ และแก้ไขปรับปรุงพัฒนาแล้ว

คาราเต้ และศิลปะการต่อสู้ประจำชาติญี่ปุ่น
คาราเต้จริงๆไม่ใช่ศิลปะประจำชาติญี่ปุ่น แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของริวกิว(琉球ราชอาณาจักรริวกิวแต่เมื่อริวกิวได้ถูกรวมเป็นหนึ่งกับประเทศญี่ปุ่น คาราเต้จึงถูกเข้าใจว่าเป็นของประเทศญี่ปุ่นไปด้วย แต่เดิมศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของญี่ปุ่นหลักๆคือ ซูโม่(相撲)จิวจิทสุ(柔術)จูโด(柔道)และเคนโด(剣道) จากวิชาการต่อสู้มากมายที่มีอยู่ในญี่ปุ่น ไม่ได้รวมถึงคาราเต้ด้วย แต่เมื่อไม่นานมานี้ ทางนิฮนบุโดกัน(日本武道館สมาคมสหพันธ์การต่อสู้แห่งประเทศญี่ปุ่นได้รวมคาราเต้ให้เป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติแล้ว โดยระบุเอาไว้ในหนังสือ นิฮนบุชิโด ซึ่งหนังสือเล่มนี้ได้รวบรวมรายชื่อวิชาการต่อสู้ของสำนักต่างๆในญี่ปุ่น และรายละเอียดคร่าวๆของสำนักเอาไว้เพื่อการเผยแพร่ความรู้
ในสมัยเมื่อ40-50ปีก่อน ชาวญี่ปุ่นเองน้อยมากที่จะรู้จักคาราเต้ เนื่องจากคาราเต้ไม่ใช่ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติ ผู้ที่จะรู้จักคาราเต้คือกลุ่มตำรวจที่ได้รับการฝึกในกรม หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์คาราเต้ไปสอนเผยแพร่เท่านั้น
จากสิ่งที่ยังหลงเหลือให้เห็นถึงความเป็นมวยจีนของคาราเต้ จึงกล่าวได้ว่า คาราเต้เป็นศาสตร์ศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่งที่ผสมผสานระหว่างมวยจีนสายฮกเกี้ยน มวยจีนสายอื่นๆ และมวยท้องถิ่นของโอกินาว่า จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แตกต่างจากมวยจีนไปแล้ว และคงสามารถเป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดีในเรื่องต้นกำเนิดของคาราเต้ในข้อสงสัยที่ถูกถกเถียงกันมานานว่า คาราเต้แต่เดิมคือมวยเกาหลี แต่ถูกประเทศญี่ปุ่นลอกเลียนแบบไป
เรียบเรียงโดย
นักพรตแมว โชคินโฮ
 17 พฤศจิกายน 2554