วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ครูเปรียบเหมือนดั่งคนเจียรไนเพชร

คนเป็นครูก็เหมือนคนเจียรไนเพชร แม้ว่าเพชรจะมีค่าในตัวมันเอง แต่หากไม่มีคนเจียรไน ใครจะไปเห็นค่าของมัน มันก็แค่หินก้อนหนึ่ง และหากเจียรไนไม่ดีแล้ว เพชรมันย่อมไร้ประกายที่สดใสสวยงาม
หากเราเจียรไนไม่ดี เท่ากับว่าเพชรเม็ดนั้นจะหมดโอกาสเปล่งประกายตลอดไป
ดังนั้นคนเจียรไนต้องทุ่มเท ต้องมีความรับผิดชอบ เพื่อเพชรก้อนนั้นจะได้เปล่งประกายต่อไป อนาคตของนักเรียนคนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับครู ว่าจะสอนสั่งเด็กๆให้เรียนรู้วิชา เป็นคนดี และเปล่งประกายอยู่ในวงการ อยู่ในสังคมได้มากขนาดไหน
การเจียรไนเพชร เพชรทุกเม็ดย่อมไม่เหมือนกัน การเจียรไนนอกจากพื้นฐานต้องดีแล้ว ย่อมต้องอาศัยการประยุกต์พลิกแพลงให้ถูกต้อง เพื่อให้เพชรเม็ดนั้นเปล่งประกายมากสุด ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
การสอนก็เหมือนกัน นอกจากสอนตามพื้นฐานแล้ว การสอนควรจะต้องประยุกต์เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคน หามุมหาเหลี่ยมให้เจอ เจาะประเด็นให้ถูก เพื่อดึงศักยภาพออกมาให้ได้มากที่สุด 
ไม่ใช่สอน20คนเหมือนกันหมดทุกคน ใครไม่เข้าใจก็ให้ทำวิธีเดิมๆไปเรื่อยๆงมโข่งอยู่อย่างนั้น
และสิ่งสำคัญที่สุดคือ คนมีชีวิตจิตใจ ไม่เหมือนเพชรที่มีแค่คุณค่าแต่ไร้จิตใจ หากเราเจียรไนเพชรไม่ดี เพชรเม็ดนั้นก็แค่เสียไป แต่คนนั้นชีวิตอาจเสียทั้งชีวิต 
หากใครรู้ตัวว่าอยู่ในฐานะที่ต้องสอนผู้อื่น กรุณารับผิดชอบด้วยนะครับ อนาคตของเขาเหล่านั้นอยู่ในมือคุณ ไม่ว่าคุณจะสอนวิชาใดก็ตาม ความรู้ทุกแขนงที่มอบให้เขาเหล่านั้น มันสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตเขาได้ ไม่มากก็น้อย
ที่สำคัญอีกอย่างครูหรือนักเจียรไนเพชร ต้องหมั่นศึกษาเพิ่มเติมตลอด ไม่ควรหยุดนิ่ง อยู่กับที่ เพราะโลกเรามันหมุนอยู่ตลอด อย่าปล่อยความรู้ให้มันจมอยู่ในอดีต

(ปล. บทความเก่าปี 2013)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น