วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

ลมหายใจแห่งชีวิต ความสำคัญของลมหายใจกับการต่อสู้

คิไอ
คิเม๊ะ และลมหายใจ นั้นคืออะไร สำคัญอย่างไร

"หายใจ และเปล่งเสียงด้วยท้อง"
คำที่ได้ยินบ่อยๆจากปากอาจารย์นั้นคืออะไร

気ki ลมปราณ พลัง
合ai รวม ผสาน
ตาม
ความหมายของพจนานุกรมแล้ว คิไอ หมายถึงการโห่ร้อง ลมหายใจ พลังใจ
และความตั้งใจ แต่ในความหมายของ คิไอ ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแล้ว คิไอ
หมายถึง การรวบรวมลมหายใจ
และระเบิดลมหายใจจากทั้งร่างกายออกมาในครั้งเดียว ซึ่งโดยมากจะใช้ พร้อมๆ
กับ คิเม๊ะ

決め ki-me คิเม๊ะ หมายถึง ข้อตกลง หรือ การโฟกัส
ซึ่งใน คาราเต้เรา หมายถึงการโฟกัสจุดของพลัง
ซึ่งเราใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างมีระบบที่ถูกต้อง แรงจากส่วนต่างๆ
ของร่างกายจะถูกชักนำไปยังจุดที่เรา คิเม๊ะ ไว้ เช่น หมัด เท้า เข่า ศอก
เป็นต้น

คิเม๊ะ เป็นการ โฟกัส
ของพลังซึ่งส่วนใหญ่แล้วทุกคนมักจะทำได้เพียงแค่
โฟกัสของพลังที่เกิดจากกล้ามเนื้อ
น้อยคนที่จะสามารถโฟกัสพลังที่เกิดจากเส้นเอ็นได้
ซึ่งการใช้เส้นเอ็นนั้นเกิดจากการผ่อนคลายร่างกายระหว่างการชกให้เป็น
ธรรมชาติไม่ฝืนเกร็งซึ่งเป็นเทคนิคระดับสูงของคาราเต้
 คิเม๊ะถ้าใช้คู่กับการคิไอ ด้วย ประสิทธิผลของการโจมตี จะเพิ่มมากขึ้น
 จริงๆ การ คิไอ เป็นการควบคุมการหายใจพร้อมกับการโจมตี
เพื่อระเบิดพลังจาก ภายในร่างกายขึ้นมา ซึ่งพลังภายในนั้น
ถูกเก็บอยู่ที่ 丹田 tanden ทันเด็น หรือ ท้องน้อย

การโจมตี
ควบคู่การหายใจนั้น เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการต่อสู้ เพราะจะเป็นการชักนำ
พลังจากทั้งภายในร่างกาย และภายนอกร่างกาย ให้มารวมกัน
ซึ่งเสียงของการคิไอนั้น จะดังมาก หรือน้อย ขึ้นอยู่กับ
พลังที่ส่งออกไปว่า มากหรือน้อยเท่าไหร่ และการโจมตีนั้น
การหายใจจะต้องหายใจออกซึ่งการหายใจออกจะทำให้ร่างกายเราผ่อนคลาย
เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น ใช้กำลังได้มากขึ้น
และพลังที่เราส่งออกไปนั้นไม่ติดขัดที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
เหมือนเวลาที่จะยกของอะไรที่หนักๆ คนเรามักจะส่งเสียง
พร้อมกับออกแรงยกของสิ่งนั้น
ซึ่งการทำอย่างนี้เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว
เราไม่สามารถที่จะยกของหนักๆ พร้อมกับหายใจเข้า หรือชกออกไปแรงๆ
พร้อมกับหายใจเข้าได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น ร่างกายจะเกิดอาการเกร็ง
และถ้าชกแรงมากๆ อาจถึงขึ้นจุก สำลักลมหายใจ หรือแม้กระทั่งช้ำในได้ 
ซึ่งการฝึกการโจมตี หรือการป้องกัน พร้อมกับการหายใจที่ถูกนั้น
ก็เหมือนกับ การหายใจเข้าลึกๆ และชูแขนขึ้นสูงๆ และผ่อนร่างกาย
และลมหายใจปล่อยทิ้งลงมาตรงๆ โดยที่ไม่เกร็งกล้ามเนื้อเลย
ซึ่งถ้าลองเอามามือ หรือเป้าชกมารับมือที่ถูกทิ้งผ่อนลงมา
การผ่อนทิ้งลงมาจะแรงกว่าการที่เราจงใจใช้กล้ามเนื้อฟาดมือลงมามากมายนัก 
ดังนั้นการฝึกการโจมตี หรือป้องกัน ควบคู่กับการผ่อนคลาย
การหายใจให้เกิดความเคยชิน
และเป็นธรรมชาติให้ได้นั้นจึงสำคัญมากสำหรับการฝึกการต่อสู้

ส่วน
気 คิ (ชี่) หรือ พลังลมปราณนั้นมาจากไหน คิ นั้นเป็นลมหายใจ
แต่ในความหมายของ วิชาลมปราณ ศาสนาเต๋า แพทย์แผนจีน
และยังรวมศิลปะป้องกันตัวด้วยแล้ว คิ
หมายถึงพลังภายในที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย
และมีจุดศูนย์กลางในการเก็บรักษา คิ อยู่ที่丹田 tanden ทันเด็น หรือ
ท้องน้อย  ซึ่ง คิ อาจจะหมายถึง พลังชีวิต ก็เป็นได้
เพราะถ้าร่างกายเราปราศจาก คิ แล้วก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดย คิ
จะติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด จนถึงอายุ 16 ปี และจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จนหมด
ซึ่งก็คือ ตาย  การหายใจที่ถูกต้องนั้น สามารถที่จะสะสม คิ ได้
ซึ่งผลจากการสะสม คิ คือ ทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรง
แม้ยามแก่เฒ่าก็ยังมีร่างกายที่แข็งแรง

丹田 tanden ทันเด็น
หรือ ท้องน้อย ตามทัศนะของแพทย์แผนจีน และวิชาลมปราณของศาสนาเต๋าแล้ว
ทันเด็น เปรียบเสมือน จุดศูนย์รวมของร่างกายมนุษย์
ซึ่งเป็นจุดที่เก็บสะสมลมปราณแล้ว ยังเป็นจุดอันตรายอีกด้วย
เนื่องจากเป็นจุดที่เก็บสะสม คิ ถ้าทันเด็นถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก
จะส่งผลกระทบให้การไหลเวียนของ คิ เกิดการอุดตัน
ซึ่งอาจจะทำเกิดการบาดเจ็บถึงขั้นสาหัสได้ และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต
ดังนั้น ในวิชาการต่อสู้นั้น
จึงมักมีข้อห้ามที่จะห้ามไม่ให้โจมตีจุดท้องน้อย   ซึ่งการหายใจ
และการคิไอ นั้น เรามักจะได้ยินอาจารย์เน้นย้ำ และสอนว่า
 “ให้หายใจด้วยท้อง เปล่งเสียงจากท้อง ไม่ใช่ลำคอ” ซึ่งก็คือ การหายใจด้วย
ทันเด็น โดยให้กำหนด หรือจินตนาการว่า ตอนที่เราหายใจ หรือคิไอ มีลม
หรือพลังบางอย่างพุ่งตรงจาก ทันเด็น เคลื่อนมาสู่จุดที่เราโจมตีนั่นเอง

ใน
วิชาการต่อสู้ของจีน และญี่ปุ่นนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ
ตามแหล่งกำเนิดของศาสนา ได้ คือ พุทธ และเต๋า โดย ทั้งสองศาสนา
นี้จะมีวิธีฝึกลมหายใจไม่เหมือนกันคือ สายพุทธ-เข้าท้องป่อง ออก-ท้องยุบ
สายเต๋า-เข้าท้องยุบ ออก-ท้องป่อง ซึ่งสายพุทธนั้นเป็นการหายใจแบบธรรมชาติ
คือการปล่อยไปตามธรรมชาติ ไม่ฝืน เหมือนกับปล่อยวางทุกสิ่งไปตามกรรม
และหลักทางสายกลาง คือไม่ผ่อน ไม่ตึง  ส่วนสายเต๋านั้น
ถึงแม้นว่าจะสอนให้ปล่อยตัวไปตามธรรมชาติ
แต่จุดที่สูงที่สุดของเต๋าคือการย้อนกลับไปหาจุดก่อนกำเนิดแห่งธรรมชาติ
(เต๋า) หรือที่เรียกว่าสภาวะอู๋จี๋ ซึ่งก็คือ ความว่างเปล่า
ดังนั้นการหายใจในวิธีฝึกนั้น จะหายใจแบบฝืนธรรมชาติ
คือการหายใจย้อนทวนทิศ หายใจเข้าท้องยุบ ออกท้องป่อง   คาราเต้
ได้รับอิทธิพลจากวิชาการต่อสู้ของ เส้าหลิน เป็นส่วนมาก
ซึ่งเส้าหลินเป็นวิชาสายพุทธ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิชาลมปราณผ่านทาง
พระสังฆปรินายกองค์ที่ 28 ของอินเดีย หรือ พระโพธิธรรม(ตั๊กม๊อ) นั่นเอง
ดังนั้น การฝึกหายใจของคาราเต้ จึงเป็นฝึกการหายใจแบบสายพุทธ   (หมายเหตุ
การแบ่งกลุ่มวิชาการต่อสู้นั้น สามารถแบ่งได้หลายวิธี เช่น ปรัชญา
และศาสนา แหล่งกำเนิด วิธีฝึกฝน และอื่นๆ
ซึ่งในบทความนี้จะแบ่งกลุ่มออกโดยใช้ วิธีฝึก วิปัสสนา
และแนวคิดปรัชญาของศาสนาเข้ามาเป็นหลักในการแบ่งกลุ่ม)

ใน
คาราเต้แต่ละสำนัก จะมีวิธีฝึกการหายใจ ไม่เหมือนกัน และวิธีการหายใจนั้น
มักจะแฝงอยู่ใน คาตะ ที่เราร่ายรำทั้งสิ้น อย่างของโชโตกัน ก็คือ
ฮันเกทสึ-คาตะ ซึ่ง คาตะ นี้จะมีทั้งการ หายใจ เข้า-ช้า ออก-ช้า 
เข้า-เร็ว ออก-เร็ว   เข้า-ช้า ออก-เร็ว และ การระเบิดลมหายใจ หรือคิไอ 
ส่วนของสำนักโกจูริว ก็จะมีคาตะ ซันชิน และเทนโช ซึ่งเป็นคาตะที่ไว้ฝึก
การหายใจ หรือที่เรียกกันว่าอิบูกิ ซึ่งการหายใจของโกจูริวจะมีหลักๆ อยู่
สองชนิดคือ การหายใจแบบ อินอิบูกิ หรือการหายใจแบบผ่อน ช้าและลึกยาว
ส่วนโยอิบูกิ จะเป็นการหายใจแบบ ใช้การเกร็งท้องช่วยในการเค้นลมหายใจออก
ซึ่งการหายใจต้องช้า และลึกเหมือนกัน

ซึ่งจริงๆ
แล้วไม่เพียงแต่เฉพาะคาตะ พิเศษอย่างเช่น ซันชิน เทนโช หรือฮันเกทสึ
เท่านั้นที่จะสามารถฝึกการหายใจได้ ทุกท่วงท่าของคาราเต้
สามารถที่จะนำมาฝึกลมหายใจได้หมด อย่างเช่น ท่าไทเกียวกุ หรือท่า
เฮอันโชดัน หรือแม้แต่ท่าพื้นฐานธรรมดา เราก็สามารถนำมาฝึกได้
เช่นการทำท่าพื้นฐานช้าๆ ประกอบกับการหายใจเข้าออกให้สัมพันธ์กัน
การรำคาตะ ช้าๆ โดยไม่ใส่กำลัง แต่เน้นไปที่การควบคุมลมหายใจ
หรือแม้กระทั่งการดำรงชีวิตประจำวันของเรา
เราก็สามารถที่จะฝึกการหายใจเข้าออกให้ลึกยาว สม่ำเสมอ
ฝึกการจัดโครงสร้างร่างกายให้ตัวตรงตลอดเวลา การเดินที่มีสมดุลย์
การผ่อนคลายในทุกอิริยาบท ความไม่ประมาทในทุกฝีก้าว และการทำงาน
ทุกสิ่งล้วนแล้วแต่นำคาราเต้มาประยุกต์ใช้ได้
ดั่งเช่นคำสอนของท่านปรมาจารย์ กิชิน ฟุนาโคชิ ว่า
"อย่าคิดว่าท่านจะเรียนคาราเต้แต่ในสถานฝึกซ้อม" – ฝึกฝนร่างกาย
และจิตใจตลอดเวลา และ "พยามทำทุกสิ่งให้เป็นคาราเต้" –
การใช้วิถีแห่งคาราเต้ ในการดำเนินชีวิต
(บทความเก่าปี 2008)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น