การภาวนาของชาวมหายาน
ว่า 南无阿弥陀佛 (นะโมอามิตพุทธ นะโมอามีทัวฟอ นำมออานีท้อฮุก) 南无观世音菩萨 (นะโมกวนซื่ออินผู่สะ นำมอกวงสี่อิมผู่สัก)
หรือคำภาวนาอื่นที่เป็นการเอ่ยชื่อพระนามของพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เจ้า นั้นสามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่ภาวนาพ้นทุกข์แคล้วคลาดพ้นภัยจากสิ่งอันตรายต่างๆนานาได้จริงอย่างความเชื่อหรือ
และการภาวนานั้นจะส่งผลให้เมื่อตายละสังขารจากความเป็นมนุษย์แล้วจะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดี
อันเป็นพุทธเกษตรที่พระอมิตาภพุทธเจ้าประทับอยู่
การภาวนาของมหายานที่เชื่อกันถึงความศักดิสิทธิ์ที่ทำให้แคล้วคลาดปลอดภัย
ก็คงจะไม่ต่างไปจากความเชื่อในพุทธคุณของพระเครื่องรางวัตถุมงคลต่างๆของไทยซึ่งนับถือฝ่ายเถรวาท
คลิ๊กดู เรื่องราวของการภาวนาถึงพระโพธิสัตว์กวนอิม
คลิ๊กดู เรื่องราวของการภาวนาถึงพระโพธิสัตว์กวนอิม
เหตุที่ว่าไม่ต่างกันนั้นเพราะแต่เดิม วัตถุมงคลมีไว้เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ให้สอดส่าย ไม่ให้สั่นไหว สั่นคลอนหลงไหลไปในอบายมุขอันเป็นเครื่องแห่งความเสื่อม เป็นทางแห่งความพินาศ ดังนั้นวัตถุมงคลจึงเป็นเครื่องยึดที่ทำให้ผู้ศรัทธาครอบครองมีความ “เหนียว” มั่นคงในพระศาสนา ไม่ได้มีไว้เพื่อให้หนังเหนียวตีรันฟันแทงไม่เข้าอย่างที่เข้าใจ
เพราะเหตุใดวัตถุมงคลถึงเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
เพราะการบูชาวัตถุมงคลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ห้อยคอ คาดเอว แล้วพุทธะจะคุ้มครองเสมอไป
แต่การจะให้พุทธคุณคุ้มครองได้อย่างเต็มที่นั้นจะต้องมีข้อห้าม ข้อบังคับต่างๆ
เช่นข้อห้ามทำร้ายสัตว์ ห้ามเตะหมาแมว ห้ามลักทรัพย์ ห้ามเข้าสถานที่อโคจร ห้ามด่าว่าบุพการีทั้งตนเองและผู้อื่น
ห้ามดื่มสุรา ห้ามใช้คำสบถ หรืออื่นๆมากมาย
ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นศีลเป็นกรอบของการละชั่วขั้นพื้นฐาน หรือเบญจศีลศีลห้านั่นเอง
ส่วนข้อบังคับนั้น คือการภาวนาตามพระคาถา
และการทำบุญตักบาตรทุกวันพระเป็นอย่างน้อย หรือทุกวันได้ยิ่งดี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำภาวนานั้น ครูบาอาจารย์ได้กล่าวเป็นนัยๆกันว่า
ภาวนาได้ตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่ก็ภาวนา ภาวนายิ่งมากยิ่งดี
(ภาพแดนสุขาวดี)
ในบุญกริยา10
กล่าวถึง ภาวนามัย ซึ่งคือบุญที่ได้จากการภาวนา ปฏิบัติสมาธิ
ซึ่งเป็นบุญที่ได้มากที่สุด มากกว่าสังฆทาน เพราะการภาวนาสร้างปัญญา
สร้างสมาธิให้ค่อยๆกัดกร่อนกะเทาะกิเลสนั้น จะนำพาไปสู่มรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
กล่าวกันว่าเพียงแค่ภาวนาปฏิบัติสมาธิจนเกิดสมาธิเพียงชั่วขณะหนึ่งก็ได้บุญมหาศาลแล้ว
และเมื่อเราปฏิบัติตามครูบาอาจารย์กำชับมาแล้ว
นั่นคือเราย่อมได้บุญจาก ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย
เมื่อมีบุญสั่งสมย่อมเป็นที่รักของบรรดาสัตว์ มนุษย์ และเทพเทวดา เทพเทวดาคอยรักษา
บุญรักษา ศีลรักษา ธรรมรักษา ย่อมเกิดอานิสงค์แคล้วคลาดจากภัยอันตราย หากไม่เกินกว่ากฎแห่งกรรม
เมื่อภาวนาจนเกิดความเคยชิน
จนเกิดฌานในเบื้องต้น คือภาวนาพุทโธ จนพุทโธนั้นอยู่ในใจเราตลอดเวลา
คือมีพุทธานุสสติกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา นั่นจึงไม่ต้องอาศัยวัตถุมงคลใดๆแล้ว
เพราะความมงคลทั้งปวงได้อยู่ในใจอยู่ในกายเราแล้ว พุทธานุภาพย่อมสถิตย์อยู่กับเรา
ในจุดนี้เองที่อาจกล่าวได้ว่าเหมือนกันคือ
การเน้นเรื่องอานิสงค์ของการภาวนา แต่แตกต่างกันตรงจุดเริ่มต้น
วัตถุมงคลของไทยเราอาจจะเหมาะกับผู้ที่ยังไร้ศรัทธา กำลังใจยังไม่แข็งพอ
เพราะฝ่ายเถรวาทไม่เน้นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ที่สามารถเป็นที่พึ่งของฝูงชน
แต่ฝ่ายมหายานนั้นเน้นคำสอนเรื่องของอิทธิปาฏิหาริย์มาแต่โบราณ ผู้คนจึงมีศรัทธาในพุทธานุภาพมากกว่า
จึงไม่ต้องสร้างศรัทธาผ่านวัตถุมงคล
ส่วนความเชื่อเรื่องแดนสุขาวดี
หลังจากได้ตายจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้ไปเกิดยังแดนสุขาวดีพุทธเกษตรนั้น
ชาวมหายานไม่ได้ต้องการที่จะไปพระนิพพานหรือ ถึงได้เน้นที่จะภาวนา อมิตาพุทธ
เพื่อจะได้ไปสุขาวดี ก็ต้องย้อนมาทำความเข้าใจในเรื่องคำสอนของมหายานก่อน
ในพระสูตรอมิตาภสูตรกล่าวว่า สุขาวดีเป็นดินแดนที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจบารมีของพระอมิตาภพุทธะ
ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าในอดีตย้อนไปก่อนหน้าพระโคตมพุทธเจ้าไป 10 กัป ที่ได้ชื่อว่าสุขาวดีก็เพราะผู้อยู่ในดินแดนนี้ย่อมไม่มีความทุกข์เลย
แต่เสวยสุขอยู่เสมอ สุขาวดีเป็นดินแดนที่สวยงามและสุขสบาย กล่าวคือ
มีล้อมรอบด้วยภูเขาแก้ว กำแพงแก้ว มีสระโบกขรณีที่ประดับด้วยแก้วมณี มีดนตรีทิพย์บรรเลงอยู่เสมอ
มีนกร้องออกมาเป็นเสียงธรรมเทศนา บรรยากาศต่าง ๆ นี้ทำให้ผู้อาศัยเกิดพุทธาสุสติ
ธัมมานุสสติ และสังฆานุสสติ และตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุนิพพานในดินแดนแห่งนี้
ที่ว่าบรรลุนิพพานในดินแดนนี้
ก็เพราะอายุขัยของผู้ที่เกิดในแดนนี้ยาวนานมากจนแทบจะลืมตาย
มีมากพอที่จะภาวนาปฏิบัติธรรมจนบรรลุมรรคผลได้ในชาติเดียว
ซึ่งกล่าวว่าการเกิดในสุขาวดีนั้นเป็นชาติสุดท้ายนั่นเอง
ซึ่งนี่เองที่กล่าวว่ามหายานนั้นเป็นยานลำใหญ่
เป็นทางลัดที่จะนำสัตว์โลกไปให้พ้นฝั่งได้เร็วที่สุด
ซึ่งจุดนี้เองจะแตกต่างจากเถรวาท
ที่ไม่มีบันทึกเรื่องพระอมิตาภพุทธเจ้ากับแดนสุขาวดี แต่ก็อาจจะเทียบได้ว่า
แดนสุขาวดีนั้นก็คือสวรรค์ชั้นหนึ่งนั่นเอง และที่เหมือนกันอีกก็คือ
คติหลังความตาย ที่เชื่อกันว่า จิตของผู้ตายจะไปตามสภาพอารมณ์ขณะตาย
หากจิตขุ่นมัวก็จะไปอบายภูมิ จิตแจ่มใสนึ่งถึงแต่กุศลผลบุญก็จะได้ไปใช้บุญเป็นเทพเทวดาในสวรรค์
หากจิตเป็นฌาณด้วยผลการภาวนาก็จะได้ไปเกิดเป็นพรหมในสวรรค์ชั้นพรหม
ทีนี้คงจะเข้าใจกันแล้วว่า
ทำไมคนจีนที่นับถือพุทธมหายานถึงได้ชอบภาวนาว่า อมิตาพุทธ หรือ กวนซื่ออินผู่สะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น