วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ANNAN Ryuei-Ryu's Kata

ANNAN
อันนัน



กาต้า อันนัน หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากแบบผิดๆว่า อานัน หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นกาต้าของชิโตริว แต่จริงๆแล้ว กาต้านี้เดิมทีเป็นของ ริวเอริว 

ริวเอริว เป็นคาราเต้ที่ก่อตั้งโดย ”ตระกูลนากาอิมะ” พูดง่ายๆคือ เป็นวิชามวยประจำตระกูลนากาอิมะ ซึ่งวิชานี้สอนกันในตระกูลเท่านั้น โดยผู้นำวิชานี้เข้ามาสู่ตระกูลคือ นากาอิมะ โนริซาโต้(หรืออีกชื่อคือ เคนริ) โดยโนริซาโต้เป็นผู้มีพรสวรรค์ในเชิงมวย ได้รับการฝึกศิลปะการต่อสู้ของโอกินาว่าตั้งแต่เด็ก และได้เรียนมวยจีนกับ ริวริวโก (เชื่อกันว่าคือเซี่ยจงเสียง ซึ่งเป็นผู้สืบทอดวิชามวยกระเรียนหมิงเฮ่อเฉวียน แห่งฮกเกี้ยน) ด้วยระยะเวลาในการฝึกนั้น หากเทียบกับสำนักโกจูริว จากบันทึกของ ฮิกาอนนะ คันเรียว กล่าวว่า เมื่อคันเรียวได้เข้าสำนักหมิงเฮ่อ โนริซาโต้ก็ได้ร่ำเรียนวิชามวยกระเรียนไปหลายปีแล้ว จึงสามารถพูดได้ว่า ริวเอริว นั้นอาจจะได้วิชามวยกระเรียนมามากกว่าโกจูริวก็เป็นได้ ซึ่งในทั้งสามสำนักคือ โกจูริว ชิโตริว และริวเอริว ต่างก็มีกาต้าที่คล้ายกันมาก

เนื่องด้วยโกจูริวมีท่ากาต้าที่กำหนดชัดเจนว่ามีกี่ท่า และไม่มีท่าอานันมาตั้งแต่แรก แต่ชิโตริวนั้นต่างกัน ชิโตริวนั้นการสอนให้ศิษย์แต่ละคน แต่ละช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นทั้งจำนวนกาต้า หรือกาต้าเดียวกันแต่เรียนกันต่างเวลา เท่าที่สามารถสันนิษฐานได้นั้น อาจจะกล่าวได้ว่า การสอนวิชาของชิโตริวนั้น ก็สอนตามช่วงเวลาการศึกษาค้นคว้าของเคนวา มาบุนิซึ่งเป็นเจ้าสำนักด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงแรกๆ อาจจะมีเพียงท่าของนาฮาเต้ ไม่กี่ท่า(เท่ากับของโกจูริว) และท่าของชูริเต้ไม่กี่ท่า ใครที่เรียนช่วงนี้ก็จะได้กาต้าตามจำนวนเท่านี้ไป ต่อมา มาบุนิได้ค้นคว้าท่ากาต้าของ โทมาริเต้ ใครที่เรียนช่วงนี้ก็จะได้รับสืบทอดวิชาของโทมาริเต้ด้วย หรือบางช่วง อาจจะศึกษาในเรื่องของ มวยประจำตระกูล เช่น มัสสุมุระ ชาทันยาระ คนที่เรียนในช่วงเวลานี้ก็จะได้มวยตระกูลไป ซึ่งรวมถึงกาต้าของริวเอริว มาบุนิเองอาจจะได้ศึกษากาต้าจำนวนหนึ่งจากริวเอริวมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ อันนัน ในรายชื่อท่าของ ชิโตริว จึงมีชื่อของ อันนัน อยู่ด้วย

ในปัจจุบันสามารถเห็นท่าอันนัน ได้เป็นสองแบบหลักๆคือ ริวเอริว และฮายาชิฮาชิโตริว โดยริวเอริว กับชิโตไกชิโตริวนั้น จะมีความใกล้เคียงกันมากจนแทบแยกไม่ออก แต่ในสายของฮายาชินั้น จะมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสามารถดูความแตกต่างได้ตามคลิปที่แนบมานี้



ซึ่งถ้าต้องการจะศึกษาจากต้นตำรับจริงๆให้ศึกษาการรำกาต้าโดยวิดีโอสาธิตของ ซาคุโมโต้ ซุกุโอะ ผู้สืบทอดริวเอริวคนปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นผู้ที่สาธิตท่า อันนัน ในการแข่งขันเป็นคนแรก และยังได้ตำแหน่งแชมป์โลกคนแรกมาครองอีกด้วย หรือสามารถศึกษาอย่างละเอียดได้จากคลิปนี้โดย ฮาเซกาว่า โยชิมิทสุ 



วันพุธที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2558

无念无想 Munen Muso “ไร้จิตปรุงแต่ง”

无念无想 
Munen Muso
“ไร้จิตปรุงแต่ง”


คำๆนี้เป็นคำที่เป็นปรัชญาของพระพุทธศาสนามหายานนิกายเซน ว่าด้วยเรื่องจิตเดิมแท้ที่มีความเป็นธรรม บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส หรือเครื่องทำให้ขุนเคืองเศร้าหมองใดๆ นอกจากในพุทธศาสนาแล้ว คำนี้ในศาสนาเต๋ายังกล่าวกันด้วย โดยเต๋านั้นก็กล่าวถึงการที่ไม่ปรุงแต่งด้วยความคิด ด้วยคติใดๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนเกิดความแตกต่างจากการยึดติด เช่น เมื่อมีบวกก็ย่อมมีลบ เมื่อเรากำหนดมั่นว่าสิ่งนี้คือดี สิ่งที่ไม่ดีย่อมปรากฏออกมา เมื่อเรากำหนดว่านี่เรียกว่าความสวย ความน่าเกลียดย่อมอุบัติมา เมื่อเราว่านี่คือสูง นั่นคือเราได้สร้างสิ่งที่เรียกว่าต่ำเตี้ยขึ้นมาแล้ว สิ่งเหล่านี้นั้นล้วนถูกกำหนดมาจากจิตใจมนุษย์ที่ปนเปื้อนไปด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานทั้งนั้น เต๋าจึงพยายามที่จะค้นหาสิ่งที่ปราศจากการปรุงแต่ง สิ่งที่มีมาแต่เดิมจากธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำใดๆ ดังนั้นศาสนาเต๋าจึงเรียกค่าของสิ่งที่เป็นกลางๆ ที่อธิบายไม่ได้ถึงการมีตัวตนนี้ว่าเป็นเต๋า โดยเต๋าพรรณนาว่า เต๋าที่อธิบายได้ไม่ใช่เต๋าที่แท้จริง ชื่อที่เรียกขานกันนั้นไม่ใช่ชื่อที่แท้จริง เพราะการกำหนดค่า การยึดมั่นในชื่อ ในความคิดมันก็คือการปรุงแต่งของคนๆหนึ่งเท่านั้น การอธิบายนั้นมันก็คือกิเลสตัณหา คือทิฐิของคนๆหนึ่งเท่านั้น ซึ่งศาสนาพุทธเราก็มีการสอนในเรื่องนี้กันมากโดยว่าด้วยเรื่อง “ศูนยตาความว่างเปล่า” และ “อัพยากตาธรรมธรรมที่ไม่เป็นทั้งกุศลและอกุศล”

แต่คำนี้ไม่ได้ใช้ในเชิงปรัชญาศาสนาอย่างเดียว แต่ในศิลปะการต่อสู้ก็ใช้คำนี้เป็นอย่างมากด้วย เป็นปรัชญาการต่อสู้ในระดับสูง เป็นการฝึกตนในระดับสูง และมันสูงอย่างไร ในการต่อสู้นั้นหากใช้สมองในการคิดว่าจะต่อยท่านั้น ต่อยทางนี้ ปัดอย่างนั้น หลบอย่างนี้ มันออกจะช้าเกินไป ซึ่งการต่อสู้จริงๆนั้นการโจมตีการป้องกันแต่ละครั้งมันเร็วมาก หนักหน่วงมากๆ คนที่เก่งๆความเร็วหมัดแทบจะต่ำกว่าวินาทีด้วยซ้ำมัน บางคนในหนึ่งวินาทีสามารถชกได้อย่างรวดเร็วหนักหน่วงถึง2-3หมัด ดังนั้นการคิดในการต่อสู้นั้น เรียกได้ว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่นั่นไม่ใช่ให้ปฏิเสธการคิด และสู้แบบโง่ๆไร้ความคิดไร้แบบแผน และไม่ใช่การปล่อยให้การต่อสู้นั้นเป็นไปด้วยสัญชาตญาณความกระหายในการเอาชนะในการต่อสู้เพียงอย่างเดียว

ศิลปะการต่อสู้นั้น ขึ้นชื่อว่าเป็นศิลปะ นั่นย่อมหมายถึง ศาสตร์ความรู้ และการนำศาสตร์ความรู้นั้นๆมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตน  ศาสตร์และศิลป์นี้เองที่จะเป็นตัวลับประสาทสัมผัสต่างๆให้สูงขึ้น เพื่อใช้ในการต่อสู้แทนความคิด

ในการฝึกวิชานั้น มักจะได้ยินคำพูดเสมอๆในทำนองว่า “ฝึกให้เข้าไปอยู่ในสายเลือด” “อย่าใช้สมองจำแต่ให้ใช้ร่างกายเป็นตัวจำ” “ให้จำอารมณ์แบบนี้เอาไว้ เวลาฝึกให้ใช้อารมณ์และความรู้สึกแบบนี้”เป็นต้น นั่นย่อมหมายถึงการฝึกที่เพียรพยายามอย่างหนักจนร่างกายเกิดความเคยชิน เกิดการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติ จนท่วงท่าการเคลื่อนไหวนั้นๆซึมซับเข้าไปอยู่ในจิตใจ ดังจะเห็นได้จากผู้ที่ฝึกวิชามาเป็นอย่างดี เมื่อเกิดการตกใจ หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เขาเหล่านั้นสามารถที่จะเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างรวดเร็วและเป็นแบบแผน บางคนกระโดดหลบรถที่พุ่งมาชนได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางคนสามารถปัดป้องจากสิ่งที่พุ่งเข้ามาได้อย่างรวดเร็วทั้งที่ยังไม่ได้ตั้งตัว บางคนสามารถทุ่มหรือหักแขนคนที่โผเข้ามากอดจากด้านหลังได้ในทันที หรือแม้แต่เวลาที่ไม่ทันได้มีสติตั้งตัว อย่างที่เคยได้ยินตำนานจากครูบาอาจารย์ว่าในสมัยก่อนนั้น บางคนสามารถต่อสู้ได้แม้กระทั่งยามหลับ(ละเมอ) หรือคนเมาที่ไร้สติสามารถต่อสู้ได้โดยไร้ที่ติ นั่นหากเป็นการต่อสู้ที่สั่งการผ่านความคิดของสมองแล้ว มันไม่สามารถที่จะคิดได้ทันเลย

อย่างในคาราเต้นั้น เหตุใดจึงต้องมีการจับคู่ซ้อมท่าพื้นฐาน คนนึงชก คนนึงปัด ที่เรียกว่า “ยากุโซกุคุมิเต้” หรือ “คิฮงคุมิเต้” นั้นก็เพื่อเอาไว้ฝึกความรู้สึก ฝึกประสาทสัมผัสในการต่อสู้ทั้งสิ้น ฝ่ายโจมตี ต้องโจมตีให้รวดเร็วรุนแรงที่สุด และมุ่งหวังที่จะล้มคู่ต่อสู้ให้ได้(แต่ต้องสามารถหยุดได้เมื่อถึงตัว เมื่อป้องกันการบาดเจ็บในขณะฝึกซ้อม) เมื่อโจมตีมาแล้ว ฝ่ายรับย่อมต้องป้องกันด้วยความเร็ว และความรัดกุมมาก หากปัดป้องไม่ดีก็จะเกิดการบาดเจ็บได้ เมื่อฝึกกันจนเกิดความเคยชินแล้ว ย่อมต้องเพิ่มกำลังในการโจมตี เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเพิ่มระยะ เพิ่มจังหวะหลอกล่อในการโจมตีด้วย เพื่อเรียนรู้สร้างความเคยชินให้กับร่างกายให้มากขึ้นไปอีก ในทางกลับกันฝ่ายรับ ก็ต้องเพิ่มความรัดกุมความสามารถในการรับป้องกันให้มากขึ้นด้วย การฝึกเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การฝึกเข้าคู่เพื่อเรียนตามมาตรฐาน หรือสอบเลื่อนระดับความสามารถเท่านั้น เมื่อผ่านการฝึกเหล่านี้มาอย่างถูกต้อง และเข้าใจแล้ว จะสามารถรู้ถึงจังหวะที่รัดกุม ระยะที่พอเหมาะ ในการต่อสู้ได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้ความคิด แต่หากการฝึกที่ว่านี้ยังผ่านมาไม่พอ คือความเร็วไม่เร็วพอ ความหนักไม่หนักพอ กำลังกายไม่ได้ถูกรีดออกมามากพอขณะฝึก อารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการฝึกย่อมไม่สามารถซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายและจิตใจได้เลย ความรู้สึกที่ได้รับมานั้นก็จะไม่แจ่มชัดพอ ทำให้เกิดการลังเลในการต่อสู้ หรือความกลัว

ในพื้นฐานมนุษย์หรือสัตว์นั้น การจะใช้ร่างกายให้ถึงขีดจำกัดของร่างกายได้นั้น จะสามารถเห็นได้จากความกลัว เช่น คนที่สามารถยกของหนักได้เมื่อยามไฟไหม้ การฮึดฝืนร่างกายตนเองเมื่อจิตใจได้รับการกระทบอย่างรุนแรง หรืออย่างสัตว์เช่นสุนัขที่โดนไล่จนตรอก การที่จิตใจได้รับการกระทบอย่างรุนแรงนั้นสามารถที่จะดึงสมรรถภาพทางกายออกมาได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่ว่าเราจะสามารถนำขีดจำกัดนี้มาใช้ได้เสมอไป ดังนั้นการฝึกต่างๆที่ต้องตรากตรำฝึกด้วยความยากลำบากนั้นเองจึงเป็นตัวดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาได้ ในการฝึกต่อสู้นั้น หากไม่ทุ่มเทเต็มที่ย่อมเกิดการบาดเจ็บ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากบาดเจ็บ ไม่มีใครชื่นชอบการโดนทำร้ายร่างกาย นั่นคือความกลัว เราฝึกต่อสู้ก็เปรียบได้กับการฝึกรับมือกับความกลัว เราอยู่กับความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา หากเราพลาดเราก็โดนต่อยในการซ้อม ดังนั้นการซ้อมเหล่านี้จึงเป็นการกระตุ้นร่างกายได้เป็นอย่างดี และผู้ที่เข้าใจถึงการฝึก ย่อมสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างดีโดที่ไม่ต้องคิด

แต่ในการใช้ประสาทสัมผัส หรือความรู้สึก เช่นนี้ก็ยังเป็นเพียงสัญชาติญาณ ซึ่งบางคนอาจจะเกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์เหล่านี้ก็เป็นได้ แต่ในการที่จะไม่คิดไม่ปรุงแต่งสิ่งเหล่านี้เลยมันต้องมี “ปัญญา” ด้วย ต้องมีปัญญาที่จะสามารถพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน การวางอารมณ์ ควบคุมจิตใจ การอ่านอารมณ์จิตใจของตัวเองและคู่ต่อสู้ รวมถึงสิ่งรอบข้างได้อย่างถูกต้องโดยเป็นกลาง ซึ่งปัญญานี้ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจากความคิด แต่เกิดจาก “จิต” ที่ถูกฝึกฝนด้วยสมาธิ และความเพียรตั้งใจอย่างแรงกล้าและยาวนาน ดังจะเห็นได้จากครูบาอาจารย์สมัยก่อนๆนั้น มักจะเก็บตัวเข้าป่า หรือเก็บตัวคร่ำเคร่งฝึกอยู่แต่ในห้อง ในที่ส่วนตัว เพื่อฝึกทั้งวิชาต่อสู้ และฝึกทั้งการสำรวจจิตใจของตัวเอง(สมาธิ ปัญญา พิจารณา) เพื่อยกระดับจิต และร่างกายของตนเอง เพื่อที่จะสามารถวางจิตให้วางเฉยต่ออารมณ์ที่ถูกกดกระทบในจิตใจขณะต่อสู้ และควบคุมกระแสจิตใจ อารมณ์ความคิดของตัวเองและคู่ต่อสู้ได้ รวมถึงเพิ่มความชัดเจนให้กับการรับรู้ทางประสาทสัมผัสในการต่อสู้ด้วย

และนี่คือเหตุที่ว่าทำไมถึงต้อง “มุเนน มุโซว”

ในศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวหลายๆอย่างอาจจะไม่ได้มีการฝึกในลักษณะนี้ และเพราะเหตุใดในคาราเต้ และเคนโด รวมถึงศิลปะในหลายรูปแบบของจีนและญี่ปุ่นถึงได้มีคำๆนี้ รวมถึงการฝึกแบบนี้ขึ้นมา





การต่อสู้ในหลายๆสำนักในหลายๆรูปแบบอาจจะมีการต่อสู้ลักษณะพัวพัน ต่อเนื่อง มีการใช้เทคนิคท่วงท่ามากมายในการประยุกต์เคลื่อนไหวรุกรับมากมาย ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่าวิชาเหล่านั้น ไม่ได้ใช้แนวคิดแบบ “มุเนนมุโซ” เลย แต่ในทางกลับกัน แนวคิดนี้กลับพบได้ในหลักวิชาที่เน้นการโจมตีเพียงครั้งเดียว อย่างเช่น วิชาดาบ โดยเฉพาะสาย จิเกนริว บัตโตจิทสุ อิไอจิทสุ วิชาเหล่านี้เน้นการฟันเพียงครั้งเดียว เน้นการเคลื่อนไหวด้วยเทคนิค ความเร็ว ความแม่นยำที่ดีกว่า เพื่อเอาชัยเอาชีวิตศัตรูที่เข้มแข็งกว่า ดังนั้นหากเขาพลาดในการลงดาบ นั่นคือเขาพลาดในชีวิตที่ไม่อาจจับดาบได้อีกต่อไป หรือแม้กระทั่งพลาดในการมีชีวิตอยู่ต่อไป ดังนั้นภาวะจิตที่ถูกกดดันไปด้วยความกลัว ความตายนั้นหนักหนามาก ไม่อาจจะประเมินได้เลยหากไม่เคยลิ้มรสเช่นนั้นมาก่อน ความกดดันนี้นอกจากจะกดดันจิตใจ มันยังกดดันร่างกายเราอีกด้วย ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ การต่อสู้ในลักษณะนี้ เรียกว่า “一撃必殺อิจิเกกิ ฮิซัทสุ” หรือ “一剣必殺อิคเคน ฮิซัทสุ” แปลว่า พิชิตในการโจมตีเดียว(ดาบ หรือหมัด) ซึ่งคาราเต้ก็ได้รับปรัชญาแนวคิดนี้มาจาก จิเกนริว และ บัตโตจิทสุ จึงมีการฝึกที่เน้นสร้าง และเค้นศักยภาพของร่างกายออกมาดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนี้ เนื่องจากคาราเต้เป็นวิชาที่คนตัวเล็กสามารถล้มคนตัวใหญ่กว่าได้ และยิ่งเป็นการต่อสู้ที่เน้นจังหวะการตัดสินใจโจมตีเพียงครั้งเดียว หรือจบการต่อสู้ให้เร็วที่สุด ดังนั้นภาวะการณ์วางจิตแบบ “มุเนนมุโซ” จึงค่อนข้างจำเป็นในการในการฝึก และเข้าใจถึงหลักวิชาในคาราเต้ มากกว่าในวิชาของสำนักอื่นๆที่เป็นการต่อสู้แบบพัวพัน หรือต่อสู้แบบติดพัน
นักพรตแมว

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Hyakuhachi_ho (Suparinpei-Peichurin) ซุปารินเป้แบบต่างๆ

Hyakuhachi_ho (Suparinpei)
เป็นท่ารำที่มาจากท่า ซุปารินเป ของนาฮาเต้ เช่นโกจูริว ชิโตริว ริวเอริว
แต่สำหรับเวอร์ชั่นนี้ ประวัติว่าเอาไว้ว่า เซนเซนากะยาม่า ลูกศิษย์ของฟุนาโคชิ กิชิน ผู้ก่อตั้งสำนักโชโตกัน มีความชื่นชอบซุปารินเปมากเป็นพิเศษ จึงได้นำรูปแบบของซุปารินเป มาดัดแปลงให้เข้ากับระบบพื้นฐานของคาราเต้โชโตกัน และเรียกชื่อท่ารำนี้ตามสำเนียงภาษาญี่ปุ่นว่า เฮียคุฮาจิโฮ ซึ่งถ้าเป็นภาษาเดิมของโอกินาว่าจะเรียกว่า ซุปารินเป
ปัจจุบันท่านี้ก็ยังคงหาฝึกได้ยาก คงจะเห็นได้แต่ในสำนัก JKS เท่านั้นหล่ะมัง เพราะสำนักนี้ได้นำท่าที่เซนเซอะไซคิดค้นเพิ่มเติมมาสอนในระบบโชโตกันด้วย ซึ่งก็รวมถึงท่าเฮียคุฮาจิโฮนี้ด้วย
ส่วนในสายสำนัก JKA เองนั้นเท่าที่เคยฟังจากเซนเซโอมูระมา ก็บอกว่ามีฝึก และเคยเห็นเซนเซนากะฝึกท่านี้ให้ดู
ท่านี้ก็ยังคงเป็นความลับของสำนักโชโตกันต่อไปว่าตกลงมีหรือไม่มี เพราะที่แน่ๆ มันไม่ใช่ท่าดั้งเดิมของโชโตกัน เป็นท่าที่เพิ่มขึ้นมา เลยไม่มีใครกล้าสอนนอกตำรา ยกเว้นถ่ายทอดกันเองในโดโจและผู้ใกล้ชิด


------------------------------------------
คลิป การสาธิตท่า ซุปารินเป ในสำนัก โกจูไกโกจูริวคาราเต้ โดยเปรียบเทียบกับ เฮียคุฮาจิโฮ ของสำนักโชโตกัน

แต่ เฮียคุฮาจิโฮที่สาธิตนั้น ไม่ใช่ท่าในแบบฉบับที่เห็นในโชโตกันสายสำนักJKA และJKS
ในคลิปที่สาธิตนี้ ดูเหมือนจะเป็นกาต้าที่นักกีฬาทางยุโรปดัดแปลงกันเอาเองให้คล้ายกับซุปารินเป้ โดยไม่ได้เอาท่า เฮียคุฮาจิโฮ ของโชโตกันเดิมที่เซนเซนากายาม่าดัดแปลงมาเป็นแบบเลย
ซึ่งถ้ามองพื้นฐานแล้ว หากดูตามเกณฑ์พื้นฐานของโชโตกัน ถือว่าไม่มีเบสิค ไม่มีเอกลักษณ์ของโชโตกันเลย ได้แต่ท่าคล้าย การเปิดปิดเอว การส่งแรงจากฝ่าเท้า การเคลื่อนการหมุนตัวด้วยส้นเท้าไม่มีเลย การใช้แรงมาจากร่างกายท่อนบนล้วนๆ ไม่มีการส่งแรงจากท่อนล่างเลย
รวมถึงการหายใจมีเสียงขณะออกท่าคาราเต้ด้วยซึ่งมันผิดพื้นฐานคาราเต้โชโตกัน
การใช้ท่าคาราเต้โชโตกันด้วยเบสิคแบบไม่เข้าใจในโชโตกันแบบนี้ ทางฝรั่งเรียกว่า ไฮบริดคาราเต้(คาราเต้พันธุ์ทาง หรือลูกผสม จะผสมอะไร ผมไม่เอ่ยละกัน) ซึ่ง ไฮบริดคาราเต้ สามารถพบได้ทั่วไปในการแข่งกาต้าของสหพันธ์คาราเต้โลกที่เราเรียกว่าWKFนั่นเอง
ปัจจุบันไม่รู้ว่าWKF รับรองท่า เฮียคุฮาชิโฮ เป็นหนึ่งในท่าของซุปารินเป(เปชูริน) หรือไม่ และถ้ารับรอง จะรับรองในแบบดั้งเดิมของเซนเซนากายาม่า หรือรับรองท่าแบบในคลิปที่ไม่รู้ใครเป็นคนคิดขึ้น (แต่ท่านี้ดันแพร่หลายในหมู่นักกีฬากาต้าWKFแหะ -*- )
ส่วนตัวหากนี่เป็นการให้คะแนนตัดสินกาต้าในการแข่งโชโตกัน(ไม่ใช่กฏWKF) ฝ่ายโชโตกันเต็ม10ผมให้แค่ 6.7 (ธรรมเนียมการให้คะแนนของโชโตกัน ในการให้คะแนน 6คือระดับต่ำ 7คือระดับกลาง 8คือระดับสูง จะไม่มีการให้คะแนน9-10) และหากเป็นการเทียบระดับสายผมจะเทียบว่านี่คือความสามารถระดับสายน้ำตาล3คิว(3คิวจริงๆต้องทำได้ดีกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องเอว และการส่งแรงขาหลัง) ถ้าสอบสายดำด้วยท่านี้ผมให้สอบตก
(ขอย้ำว่า ความคิดส่วนตัวครับ)
(ปล. เฮียคุฮาจิโฮ ไม่ได้อยู่ในท่ามาตรฐานของโชโตกัน ใช้สอบเลื่อนระดับสายในสายสำนักหลักไม่ได้)
(ปล2. ส่วนเรื่องท่าซุปารินเปของโกจูไก ผมไม่ขอออกความเห็นละกัน เพราะผมมันไม่ใช่สายดำโกจูริว)

(ปล3. ท่าซุปารินเป มีแตกต่างกัน หลักๆ กาต้าในสายของมวยาฮาเต้ สามารถแยกออกได้เป็นรูปแบบสำนักใหญ่ๆดังนี้

โกจูริว
โกจูไก
ชิโตไก
ฮายาชิ
อิโนะอุเอะ
ชูโกไก

และยังมีสำนักย่อยๆเล็กๆอีกมากซึ่งรายละเอียดท่าจะต่างกันเล็กน้อย

ส่วนเรื่องคลิปที่ท่านลงไว้ เป็นแชมป์โลก ริกะ อุซามิ ซึ่งสาธิตในท่าของสำนัก ชิโตริว รูปแบบชิโตไก(มาตรฐาน) ซึ่งแชมป์โลกคนนี้ฝึกมาดีพร้อมในสำนักชิโตริวสายอิโนะอุเอะ
(ท่าซุปารินเป้ของชิโตไก อิโนะอุเอะ ชูโกไก ฮายาชิ จะคล้ายกันมาก มีต่างกันบ้างเล็กน้อย))
-------------------------------------
ท่าซุปารินเป ของShito-ryu สาธิตโดย ริกะ อุซามิ แชมป์โลกคาราเต้กาต้า
ท่าซุปารินเป ของโกจูริว สาธิตโดย ซุกุโอะ ซาคุโมโต้ ผู้สืบทอดริวเอริว แชมป์โลกคนแรกของโลก
สาธิตซุปารินเป้ โดย Abe Ryoki สำนัก JKF Gojukai

สาธิตเปจูริน หรือซุปารินเป้แบบเก่า(โคริว มวยโบราณ)
credit: https://www.facebook.com/110929062311698/videos/940835445987718/

สาธิต ซุปารินเป้ โดยเจ้าสำนักGojukai IKGA (Yamaguchi-Ha Gojuryu) คนปัจจุบัน Goshi Yamaguchi
สาธิต ซุปารินเป้ นาทีที่5:50 โดย Gogen Yamaguchi ศิษย์ของ Miyagi Chojun ผู้ก่อตั้งสำนัก Gojukai(Yamaguchi-Ha) พ่อของ Goshi Yamaguchi และยังเป็นอาจารย์ของเซนเซ Sadahiro Tetsuo ผู้สอนโกจูริวคาราเต้แห่งประเทศไทยอีกด้วย
 สาธิต ซุปารินเป้ สำนัก Jundokan Gojuryu โดย Morio Higaonna
สาธิต ซุปารินเป้ โดย Hideo Watanabe จาก 

Japan Goju-ryu Karate-do Federation SHUBUKAI Goju-ryu Karate-do Mission International


สาธิตซุปารินเป้ สำนัก KENSHOKAI โดย Gibiki Shojiro



สาธิตซุปารินเป้ สำนัก  Shito-Ryu  





การเผยแพร่คาราเต้เข้าสู่ประเทศญี่ปุ่น



โชโตกันเป็นคาราเต้สำนักแรกที่มาเผยแพร่ในญี่ปุ่น โดยเซนเซฟุนาโกชิ กิชินfunakoshi gichin
คาราเต้เป็นมวยมาจากจีนมาเผยแพร่ที่ประเทศราชอาณาจักรริวกิว ก่อนที่ริวกิวจะโดนญี่ปุ่นยึดครอง ดังนั้นคาราเต้ไม่ใช่ของญี่ปุ่น แต่เป็นมวยจีนในริวกิว ต่อมาริวกิวคือโอกินาวาของญี่ปุ่น
ในริวกิว มีมวยมากมายหลากหลายสำนัก สมัยก่อนเรียกว่า เคนโป(วิชาหมัด) และเรียกแยกสำนักกันตามชื่อเมืองเช่น ชูริเต้ โทมาริเต้ นาฮาเต้
โดยสำนักที่เก่าแก่สุดคือชูริเต้ ต่อมาได้มีอาจารย์ผสมผสานวิชาพัฒนามาเรื่อยๆเกิดเป็นนาฮาเต้ โทมาริเต้
ปัจจุบัน ชูริเต้ แตกออกมาเป็น โชรินริว โชรินจิริว อิโตสุริว โชโตกัน เป็นต้น
นาฮาเต้ ต่อมาคือโกจูริว
โทมาริเต้ ยังคงใช้ชื่อตามเดิมอยู่ และได้ผสมผสานเข้าไปในชูริเต้หลายสำนัก
แต่ได้มีอาจารย์ต่างๆได้นำวิชามาผสมผสานกันเป็นสำนักอื่นๆเช่น
ชูริเต้+นาฮาเต้+โทมาริเต้=ชิโตริว
ชูริเต้+(ไอคิ)จูจิทสุ=วาโดริว
โชโตกัน+โกจูไกโกจูริว=เคียวคุชินไคคัน
สำนักริวเอริว เรียนชูริเต้ และเรียนมวยจีนที่เดียวกับนาฮาเต้ แต่เรียนเยอะกว่าโกจูริว กาต้าเลยไม่เหมือนกันแต่คล้ายๆกัน
อุเอจิริว เรียนมวยจีนที่เดียวกับนาฮาเต้ แต่เรียนมวยจีนสำนักอื่นมาด้วย ไม่มีพื้นฐานชูริเต้ผสม จึงถือว่าเป็นมวยจีนล้วนๆ แต่ปัจจุบันถือว่าเป็นคาราเต้สำนักหนึ่ง
ต้องศึกษาถึงประวัติ แนวคิด ปรัชญา การพัฒนาการของครูบาอาจารย์และสายวิชาต่างๆครับถึงจะสามารถศึกษาคาราเต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคาราเต้ไม่ใช่เพียงกีฬา แต่คาราเต้คือศาสตร์และศิลปะอย่างหนึ่งที่เกี่ยวโยงกับธรรมและธรรมชาติ ดังครูบาอาจารย์่านว่าไว้ว่า คาราเต้คือเซน(พุทธะ) เซนคือคาราเต้
กีฬาคาราเต้ที่เราเห็นกันทุกวันนี้เป็นแค่เปลือกที่ถูกกระเทาะออกมาจากแก่น และห่างไกลจากแก่นเข้าไปทุกที
ครูบาอาจารย์รุ่นก่อนๆสอนว่าคาราเต้คือชีวิต แต่คนปัจจุบันอาจคิดว่าคาราเต้เป็นแค่เครื่องมือทำมาหากิน คืออาชีพ คืองานอดิเรก
คุณค่าของคาราเต้มันต่างกันมากมายครับ
ค่อยๆศึกษาไปครับ


-----------------------------

คนหลายคนอาจจะเข้าข้างตัวเอง เข้าข้างสำนักมากจนเกินไปว่า นาฮาเต้ หรือโกจูริว ริวเอริวนั้น ไม่มีส่วนผสมของชูริเต้หรือโชรินริว โดยที่ไม่ดูข้อเท็จจริงว่า

ชูริเต้คือมวยโบราณของริวกิว มีมานานกว่าที่นาฮาเต้จะเกิด ดังนั้นมันหมายความว่า คันเรียว ฮิกาอนนะ ต้นตำ
รับนาฮาเต้ต้องได้เรียนชูริเต้มาก่อนและแน่นอนว่าต้องเรียนจนเชี่ยวชาญและจึงเรียนมวยกระเรียนที่ฟุเจี้ยนต่อ จึงผสมผสานวิชากลายเป็นนาฮาเต้

เพราะอะไรจึงกล่าวเช่นนี้ เพราะมวยกระเรียนไม่มีท่าปัดแบบคาราเต้ปัจจุบัน แต่ในนาฮาเต้ทุกสายมีหมด ไม่ว่าจะโกจู ริวเอะริว

อุเอจิริว ผู้ก่อตั้งได้รับอะไรมาก็สอนอย่างนั้นเพียวๆไม่มีผสม ดังนั้นจึงเรียกชื่อเดิมว่า ปั้นอิ้งหร่วน หรือปั้นไก่นึ๊ง(ไม่แน่ใจภาษาจีนหมิ่นหนันว่าอ่านอย่างนี้รึเปล่า) แต่ริวกิวอ่านว่า พันไกนุน ซึ่งเป็นสายวิชามาจากฟุเจี้ยนมาจากมวยกระเรียน เสือ และมวยสัตว์อื่นๆ ไม่มีชูริเต้มาผสม ดังนั้นอุเอจิริวจึงไม่มีท่าปัดท่าเตะตามพื้นฐานคาราเต้ทั่วไปที่ควรมี

กลับมาที่นาฮาเต้ต่อ ดังนั้น เมื่อนาฮาเต้มีส่วนผสมของชูริเต้ ก็จะปฏิเสธตรงนี้ไม่ได้

แต่ปัจจุบันเพื่อยกหางสำนักตนเองว่าเป็นวิชามวยจีน สายนาฮาเต้จึงไม่ค่อยเห็นใครลากสายในไลน์เอจว่านาฮาเต้มีสายต่อมาจากชูริเต้เลย

ปล. ไลน์เอจที่นำมาลงถือว่าใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุดแล้ว

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการจัดโครงสร้างร่างกาย

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่นนอกจากจะช่วยเรื่องความอ่อนตัวของร่างกายแล้ว ยังมีผลในเรื่องของการเรียงตัวของกระดูกสันหลัง หมอนรองกระดูก และที่สำคัญสำหรับคนฝึกมวยจีนและคาราเต้ หน้าขา กระดูกเชิงกราน ขา หลัง สะโพก มีความสำคัญมาก

ที่ว่าสำคัญนั้นเนื่องจากมวยดังกล่าวมีพื้นฐานจากฐานขา มีการใช้หลักสรีระวิทยาเป็นพื้นฐานในการจัดระเบียบร่างกายในการเคลื่อนไหวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และผลสรุปที่มวยจีนและคาราเต้มีเหมือนกันคือการตั้งหลังตรง เก็บก้นกบจัดกระดูกสันหลังให้เรียงคล้ายตัว ) จากที่กระดูกสันหลังเป็นตัว S และการจัดกระดูกสันหลังดังกล่าวต้องใช้ความยืดหยุ่นอย่างมากของกล้ามเนื้อหลัง หน้าขาในการส่งแรงแนวตรง
และเมื่อมีการใช้แรงจากการบิดหมุนหรือการเหวี่ยงของร่างกาย จุดสำคัญในการบังคับให้กายท่อนหันซ้ายขวาได้คือกระดูกเชิงกรานและขาท่อนบน ไม่ใช่การเอี้ยวตัวโดยใช้กล้ามเนื้อช่วงบั้นเอว แต่เมื่อหน้าขาไม่มีความยืดหยุนพอ การหันตัวซ้ายขวาด้วยการสืบเท้าในหลักวิชาจึงไม่สามารถทำได้ดี คนทั่วไปจึงฝืนร่างกายใช้เอวบิดเข้ามาให้กายหันตรงแทนการใช้เชิงกรานหันตัว ซึ่งนั่นทำให้กล้ามเนื้อบั้นเอวเริ่มกระชากจนเกิดการอักเสบ เมื่อฝืนมากเข้าจึงเริ่มไปดึงกระดูกสันหลังให้เกิดปัญหา
ปัญหาที่สองคือเนื่องจากหลังไม่เป็นตัว)จึงไม่สามารถถ่ายแรงขึ้นลงจากฝ่าเท้าสู่หมัด หมัดสู่เท้าได้ กลับกลายเป็นติดที่ช่วงต่อของหลังที่งอเป็นตัวS (บางวิชา ครูบางคนแก้ด้วยการเอียงตัวโน้มไปด้านหน้าทดแทนการจัดกระดูกหลัง แต่นั่นมันแค่ทดแทนได้แค่บางท่าบางเทคนิค) เมื่อแรงไปค้างจุดไหน เวลาเรามีการใช้แรง จุดนั้นก็เหมือนกับค่อยๆโดนกระแทกหรือโดนบดโดนขยี้ด้วยแรงนั้นๆสะสมไปเรื่อยๆจนเจ็บเรื้อรัง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้แค่ตัวอย่างเล็กน้อยกับการไม่ใส่ใจในรายละเอียดเล็กน้อยเพียงแค่คิดว่าเป็นแค่การวอร์มอัพ คูลดาวน์ และการฝึกพื้นฐาน
บางคนเข้าใจผิดว่าที่บาดเจ็บนั้น เจ็บเพราะกล้ามเนื้อไม่พอ กล้ามเนื้อขาดความสมดุลย์แข็งแรง เลยแก้ด้วยวิธีฝึกเพิ่มกล้ามเนื้อเฉพาะส่วน ซึ่งไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เมื่อกล้ามเนื้อบริเวณที่บาดเจ็บมีความแข็งแรงมากขึ้น การบิดหมุนที่เป็นต้นเหตุของกานบาดเจ็บก็ยิ่งมีแรงทำลายมากขึ้นในการขยี้กระดูกกับตัวเอง เราจะรู้สึกการฝึกกล้ามเนื้อมันช่วยบรรเทาได้ในระยะแรกเท่านั้น เพราะเราลดการใช้เทคนิคมาฝึกกล้าม แต่พอมาใช้เทคนิคมากๆเหมือนเดิม มันจะเจ็บมากขึ้น
ปัญหาของมวยสายนี้ยังมีอีกมากที่ผู้ฝึกเข้าใจผิดกัน ซึ่งเป็นปัญหาของการเจ็บปวดเช่น คอ เข่า ศอก ไหล่
อีกเรื่องที่จะพูดคือ การยืดเหยียดนอกจากช่วยด้านสรีระแล้ว ยังช่วยเรื่องการหายใจ การไหลเวียนโลหิต สมาธิ ปราณ(ไม่รู้นิยามยังไงดีมีหลายทฤษฎี) ซึ่งมันมีผลต่อการฝึกมวยในระดับสูงขึ้น(อยากรู้ต้องลองฝึกโยคะ สมาธิ ชี่กง แพทย์จีน แพทย์ไทย แล้วลองตั้งสมมติฐานเอาเอง ผมจะไม่พูดเรื่องนี้)
สำหรับผู้เริ่มใหม่ หรือผู้ที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ

สรุปง่ายๆคือการยืดเหยียดร่างกายนั้นสำคัญ โดยบทนี้เน้นที่หน้าขา หลังขา หลัง กระดูกเชิงกราน เพื่อลดการปวดหลัง และการจัดท่าให้ถูก
---------------------------
รูปการฝึกซันชิน เป็นการจัดหลังให้เป็นตัวCเพื่อการส่งแรงที่ดี แต่จะสังเกตว่าตัวจะไม่ค่อมหลังจะไม่งอ แต่ตัวจะค่อนข้างตั้งตรง ก้นจะไม่ยื่นออกมาด้านหลัง หน้าอกจะไม่ผายออกมาเพื่อการส่งแรงไปด้านหน้า และเป็นการปิดเป้าในการโจมตีของศัตรู

เทนริว กาต้าน้องใหม่ร้ายบริสุทธิของโรงเรียนโกจูไกคาราเต้


ในที่สุดสำนักโกจูไก ก็คลอดท่ารำ มังกรฟ้า(เทนริว) ออกมาจนได้ หลังจากคิดค้น กระเรียนดิน(จิกากุ) กระเรียนสวรรค์(เกนกากุ) ออกมาก่อนหน้านี้หลายปี
ในสำนักโกจูริว แต่เดิมจะมีเพียงกาต้า เกกิไซอิจิ-นิ ไซฟา เซเอนจิน ซันเซรุ เซซัน เซไป ชิโซจิน ซุปารินเป คุรุรนฟา เทนโช ซันจิน เท่านั้น หลังจากปรมาจารย์มิยากิ โชจุนได้สิ้นไป ก็ได้เกิดสำนักคาราเต้โกจูริวขึ้นมากมาย ต่างก็แตกแขนงความรู้ความเข้าใจของตนออกมามากจนเห็นได้ชัดถึงความแตกต่างของแต่ละสาย
ซึ่งนอกจากกาต้าท่ารำดั้งเดิมของสำนักแล้ว ก็มีการเพิ่มเติมท่ารำใหม่ที่คิดค้นกันขึ้นมาเองด้วย โดยนำเอกลักษณ์ของโกจูริวคือ กระเรียน ความกลม ความอ่อนความอ่อนแข็ง รวมถึงปรัชญาจีน-ญี่ปุ่นนำมาผสมผสานก่อเกิดเป็นท่ารำเอกลักษณ์ของสำนัก
ซึ่งบางสำนักบางสาย ถึงกับไปสืบค้นหาชุดมวยเส้นโบราณของกาต้าซันจิน เทนโช และมวยกระเรียนดั้งเดิมมาใส่ในสำนักตน เช่น ปาปุเรน (ฮับโปเรน) ฮัคคุโช เป็นต้น

ในส่วนของสำนัก โกจูไกJKGA IKGA ได้เพิ่มท่าดังนี้
ไทเกียวกุ10ท่า
สึกิโนะกาต้า(ไม่นับเป็นกาต้า)
ชิโฮอิโดะ(ไม่นับเป็นกาต้า)
ฮัปโปอิโดะ(ไม่นับเป็นกาต้า)
จิกากุ
เกนกากุ
เทนริว(ในคลิป)

ฟุนาโคชิ กิชิน กับคาราเต้โชโตกันแบบดั้งเดิม

คลิปเซนเซฟุนาโคชิ กิชิน ผู้ก่อตั้งคาราเต้สำนักโชโตกัน ขณะสาธิตท่ารำเอ็มปิ และเทคกิโชดัน-นิดัน เป็นปี1924 ขณะนั้นเซนเซอายุ56ปี
ในท่ารำมีสิ่งที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ในเทคกิ ยังมีการปัดแบบกาต้า"ไนฮันจิ" ของโชรินริวอยู่ แต่ได้เปลี่ยนท่ายืนจาก ไนฮันจิดาจิ เป็น คิบะดาจิ ซึ่งมีความกว้างและย่อต่ำกว่าไนฮันจิ
และในกาต้า เอมปิ จะเห็นความเป็นคาราเต้ในสายโบราณอยู่มากคือ ลักษณะการเปิดปิดเอว(เน้นใช้เอวบิดมากกว่าใช้กระดูกเชิงกราน) จะไม่ได้เปิดสุดชัดเจนแบบโชโตกันในปัจจุบันซึ่งมีการใช้กระดูกเชิงกรานผสมผสานกับการบิดเอว จนทำให้เห็นการหันตัวเปิดปิดกระดูกเชิงกรานและเอวชัดเจน

การเปิดปิดเอว หรือกระดูกเชิงกรานในคาราเต้ 日本空手道的转腰落胯


นาทีแรก ถึงนาทีที่2.30 จะอธิบายถึงการใช้ต้นขาของขาหลังกับกระดูกเชิงกรานในการหันตัว"เปิดปิดเอว" (ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ฮันมิ โชเมน ฮันมิคือเปิดตัวหันข้าง โชเมนคือการหันตัวตรงไปด้านหน้า)
จะเห็นว่า เข่าหน้าและเข่าหลังจะไม่ขยับ(ขยับน้อยที่สุด) ส่วนที่ขยับหากมองกว้างๆจะเห็นว่าเป็นการหันตัวด้านข้างและการหันตัวกลับ ที่เราเรียกติดปากว่า"เปิดปิดเอว" (ฮันมิโชเมน) แต่จริงๆแล้วการทำในลักษณะนี้ ร่างกายท่อนบนไม่ได้ขยับแต่อย่างใด(ยกเว้นแขนที่ชกหรือปัด) แต่ส่วนที่ขยับคือ ต้นขาของขาหลัง ตั้งแต่เข่าถึงกระดูกเชิงกราน แน่นอนว่า การย่อขายังย่อเท่าเดิม ไม่ได้ยกตัวขึ้นแต่อย่างใด
การจะทำอย่างนี้ได้คือต้องยืนในท่าที่ถูกต้องในท่าที่สาธิตนี้คือ เซนคุทสึดาจิ(ภาษาจีนกงปู้)
ปลายเท้าหลังจะต้องหันเฉียงขึ้นในองศาที่ถูกต้อง หันตรงมากเกินไปจะทำให้เปิดเอวไม่ได้ หันเฉียงมากเกินไปจะทำให้บิดเอวตรงไม่ได้ หากฝืนเปิดปิดเอวโดยองศาเท้าไม่ถูกต้องจะทำให้เจ็บเข่าปวดหลัง
การยืนด้วยขาหลังเหยียดตึงจนเกินไป จะทำให้เจ็บเข่า และหลังไม่สามารถจัดให้ตรงได้ เก็บก้นหลังตรงผ่อนคลายหน้าอกไม่ได้
------------------
ในนาทีที่ 3.20 จะเห็นว่าการก้าวเดินในท่า เซนคุทสึดาจินั้น พื้นฐานอย่างแรกคือการใช้ขาที่อยู่ด้านหลังในการดีดตัวไปด้านหน้า
ในการดีดตัวนี้ หากผู้ฝึกไม่สามารถผ่อนคลายช่วงกระดูกเชิงกรานและเอวลงได้ จะทำให้การดีดตัวนั้นฐานลอยขึ้น น้ำหนักตัวไม่กดลงพื้น ตัวเอียงไปด้านหลัง จุดเซกะทันเดน(ท้องน้อยตันเถียน)จะพุ่งไปข้างหน้าก่อน ทำให้จุดทันเดนทั้งสาม(ตันเถียนบนกลางล่าง)ไม่เรียงเป็นเส้นเดียวกัน ทำให้การยืนการเดินการส่งแรงไม่มีพลังไม่มีความสมดุลย์ ไม่สามารถซับแรงได้
------------------

ในการเปิดปิดเอวนั้น จะเห็นได้ว่า การส่งแรงของโชโตกันนั้น จะเกิดมาจากขา การเปิดปิดเอวที่เราเรียกติดปากกันนั้น จริงๆแล้ว คือการใช้ต้นขา(ตั้งแต่เข่าถึงกระดูกเชิงกราน) ในการทำให้ตัวหันตรงหรือหันข้าง ที่เราเรียกกันว่า"เปิดปิดเอว หมุนเอว twist the hip"
การที่จะเปิดปิดกระดูกเชิงกรานได้นั้น ต้องผ่อนคลายขา สะโพก กระดูกเชิงกราน หลัง และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ การยืนการหันปลายเท้าในองศาที่ถูกต้อง
การยืนการจัดปลายเท้าในองศาที่ไม่ถูกต้องนั้น จะส่งผลให้ไม่สามารถเปิดปิดกระดูกเชิงกรานได้ หากเกิดการฝืนเพื่อจะบิดเอวเข้านั้น จะทำให้เกิดการเจ็บเข่า และช่วงบั้นเอว จากการฝืนร่างกาย จริงๆแล้วในการฝีกท่านี้ ร่างกายท่อนบนมีหน้าที่แค่ชกเท่านั้น ไม่ได้มีการบิดตัวเอี้ยวตัวแต่อย่างใด แต่ที่เราเห็นว่าตัวหันข้างนั้นคือเกิดจากการเปิดปิดของกระดูกเชิงกรานเท่านั้น

ให้สังเกตุเข่าทั้งสองข้าง จะขยับน้อยมากเมื่อเกิดการเปิดปิดกระดูกเชิงกราน ่ฝ่าเท้าที่อยู่ด้านหลังจะไม่ขยับเพื่อเป็นการยึดและส่งแรงถีบไปด้านหน้า เข่าที่อยู่ด้านหลังจะไม่ขยับ ส่วนที่ขยับคือช่วงต้นขา(ตั้งแต่เข่าถึงกระดูกเชิงกราน)เท่านั้นที่ใช้ในการเปิดปิดหันตัว
และสิ่งที่เข้าใจผิดมากที่สุดคือ คิดว่าการยืนในท่านี้ เข่าหลังขหลังต้องตรง หรือตึง เพราะหากตึงก็ไม่สามารถเปิดปิดกระดูกเชิงกรานได้ เพราะต้นขาถูกยึดเอาไว้
---------------------------

จะเห็นชัดว่าการเปิดปิดเอว นั้นต้องใช้กระดูกเชิงกราน เซนเซริค ฮอทตั้น ชี้ให้เห็น และอธิบายอย่างชัดเจนในการใช้กระดูกเชิงกรานในการหนีบเข้า โดยใช้กล้ามเนื้อส่วนต้นขาด้านใน กลไกของการบิดเข้ามานั้นจะก่อให้เกิดการบิดหมุนของพลังในร่างกาย รวมถึงการใช้ขาหลังส่งแรง ดีดตัวขึ้นมาจากพื้นข้างหลัง และการกดเข่าหน้าจมขาสองข้างลงในตอนที่ปะทะแรง เพื่อการกดน้ำหนักของแรงทั้งหมดให้พุ่งไปสู่ด้านหน้า
-----------------------------

จากแต่เดิมที่มีเพียงแค่สำนักโชโตกัน ที่มีการเปิดปิดเอวหันตัวเข้าออกอย่างชัดเจนในการชก
(สำนักส่วนใหญ่จะเป็นแค่การสะบัดเอวเล็กน้อยในการชกการปัด จะไม่ได้มีการเปิดปิดชัดเจนเหมือนโชโตกัน หรือเหมือนในคลิปนี้)
แต่ปัจจุบัน กลายเป็นทุกสำนักเริ่มมีการใช้เอว(กระดูกเชิงกราน) มากขึ้น และมีการเปิดที่เห็นชัด(อย่างในคลิป)
จะเรียกได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของวิชาคาราเต้รึเปล่า ที่ทุกสำนักค่อยๆพัฒนาหากลไกการใช้ร่างกายให้เกิดประโชน์สูงสุด และสุดท้ายแล้วทุกสำนักก็จะมีการส่งแรงที่เหมือนๆกัน
ในคลิปนี้เป็น นักคาราเต้ชาวโอกินาว่าที่เป็นทีมชาติญี่ปุ่น ถ้าจำไม่ผิดเป็นสำนักริวเอริว
ริวเอริว เป็นสำนักที่มีความคล้ายกับชิโตริวที่สุด และยังมีความกลมแบบโกจูริวอีกด้วย วิชาของชิโตริวท่าปัดพื้นฐาน4ท่าจะตรงเหมือนโชโตกันแต่จะเน้นให้เล็กกระชับกว่า และท่าปัดนอกเหนือจากนั้นจะกลมเหมือนโกจูริว (ท่าโจมตีส่วนใหญ่ทุกสำนักเหมือนกัน จะต่างกันแค่การปัด)

การพุ่งชกในคาราเต้

ในการฝึกคาราเต้นั้น จะมีแบ่งออกเป็นสามส่วนหลักๆคือ
คิฮง หรือ พื้นฐาน
คาตะ หรือ ท่ารำ
คุมิเต้ หรือ การต่อสู้
โดยพื้นฐาน คือพื้นฐานท่วงท่าของคาราเต้แบบดั้งเดิม เป็นการฝึกเพื่อเรียนรู้วิธีการปัดป้อง จู่โจมด้วยท่าต่างๆ รวมถึงการส่งแรง การเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ท่ารำ เป็นการนำท่าพื้นฐานมาร้อยเรียงเป็นท่ารำ โดยท่ารำจะซ่อนความหมายของการใช้งานท่าพื้นฐานเอาไว้ เป็นการแก้ทางมวย กลมวยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเทคนิคการหักล๊อค ท่าทุ่ม การต่อสู้ระยะประชิดไว้เป็นต้น ซึ่งท่าร่างเดียวกันในท่ารำต่างกัน ความหมายอาจจะไม่เหมือนกันไปด้วย ขึ้นอยู่กับบริบทของท่ารำว่ามีความสอดคล้องเปลี่นแปลงอย่างไร
การต่อสู้ จะเป็นการนำท่าที่เรียนรู้จากพื้นฐาน และท่ารำมาฝึกเข้าคู่เพื่อศึกษาหาแนวทางในการต่อสู้ เช่น ระยะ จังหวะ เทคนิคที่เหมาะสมในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งมีทั้งแบบการต่อสู้ การป้องกันตัว และการแข่งขัน โดยจะแบ่งระดับการฝึกตั้งแต่ระดับเริ่มต้น ระดับกลาง และระดับสูง
----------------

ในส่วนของคลิปนี้ จะเป็นการพุ่งชกที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งการพุ่งชกในลักษณะนี้เป็นพื้นฐานการฝึกของคาราเต้ เป็นการดีดตัวโดยใช้ขาหลัง เพื่อส่งตัว ส่งหมัดตัวเองพุ่งไปด้านหน้าด้วยความเร็ว ซึ่งจะทำให้การชกการออกหมัดมีความเร็ว และมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น หากชกปะทะเข้าสู่เป้าหมาย
(แต่ในการฝึกซ้อม และการแข่งขัน ไม่อนุญาตให้ชกปะทะเป้าหมาย ให้ชกด้วยความเร็ว ชกสุดแรง มาจากพื้นฐานที่ดี มีระยะจังหวะที่เหมาะสม คืเป็นจังหวะที่คู่ต่อสู้ไม่อาจตอบโต้ได้ และหยุดหมัดดึงหมัดกลับเมื่อถึงตัว เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ หากได้ครบตามนี้จะถือว่าได้ "หนึ่งแต้ม" แต่หากโจมตีออกไปแล้วไม่สามารถหยุดได้ เกิดการปะทะกันขึ้น เกิดการบาดเจ็บ ผู้โจมตีจะได้รับการเตือนหรือปรับโทษ ตามแต่ความรุนแรง)
โดยปรกติแล้วการพุ่งชกนี้ จะพุ่งในลักษณะที่เป็นเส้นตรง ตัวไม่ลอยจากพื้นมากนัก เพื่อให้แรงนั้นพุ่งไปด้านหน้าเพียงอย่างเดียว ไม่เสียแรงหรือเสียระยะเสียจังหวะจากการดีดตัวให้สูงขึ้น(กระโดด) และตัวต้องตั้งตรงตามพื้นฐาน
ที่ต้องตั้งตัวตรงตามพื้นฐาน และพุ่งเลียดพื้นไม่กระโดดเหมือนในคลิปนั้น เพื่อเป็นการรักษาสมดุลย์ในการต่อย เพราะการต่อสู้อาจจะมีการคว้าจับ หักล๊อค ทุ่ม หรือโจมตีต่อเนื่องได้ การที่โน้มตัวไปด้านหน้า หรือการกระโดดเข้าไปนั้น อาจจะเสี่ยงต่อการประชิดตัวและทำให้เสียหลักได้
แต่เนื่องจากปัจจุบัน การแข่งขันได้พัฒนาให้เป็นกีฬา กฏกติกามีความรัดกุมมากขึ้น จุดเด่นของคาราเต้ที่เป็นการโจมตีด้วยการเตะต่อย จึงเป็นเอกลักษณ์มากขึ้น การคว้าจับหักล๊อคถูกตัดไป การทุ่มถูกกำหนดให้ใช้ได้แต่เพียงไม่กี่ท่า การระมัดระวังเรื่องของการคว้าจับและทุ่มนั้นจึงหมดไป การชกจึงเน้นที่การเพิ่มระยะ และความเร็วแทนที่ไป จึงกลาเป็นการกระโดดบ้าง เอียงตัว เอี้ยวตัวบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วนั้นถือว่าผิดพื้นฐานเป็นอย่างมาก
ในกฏกติกาบางกฏที่ยังรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ ยังยึดถือขอพื้นฐานเหล่านั้นเอาไว้ การต่อยในลักษณะในคลิปนี้อาจจะไม่ได้แต้มก็เป็นได้หากไม่ได้โจมตีในจังหวะที่ดีและเหมาะสมจริงๆ(ใช้คำว่าอาจจะนะครับ)
คลิปนี้จะเห็นชัดในเรื่องการพุ่งแบบตัวลอย

เนไป่ ต้นตำรับนิไปโป

กาต้า เนไป หรือ นิไปโป แบบเก่า กาต้านี้ถอดแบบมาจาก มวยเส้น二十八宿(28ดาราของมวยกระเรียน) จะเห็นชัดถึงความเป็นมวยกระเรียน คือมีลักษณะของการกระพือปีกให้เห็นชัด และที่ชัดเจนคือการขึ้นท่ามวยของมวยเส้น28ดารา

ใน นิไปโป แบบปัจจุบัน ตัดหลายท่าออกไป แต่ก็ยังคงความคล้ายคลึงกันอยู่
เสียดายว่าคลิปมวย28ดารา ถูกลบออกไปจากยูทูป กับเว็บของจีนแล้ว หายากมาก ตอนนั้นเจอก็ไม่ได้เก็บเอาไว้
28ดารา ถ้าจะหาคนฝึกต้องไปที่กลุ่มคนฝึกไทเก็ก(และมวยกระเรียน)ตระกูลหวางที่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน จะยังพอเห็นท่าร่างคล้ายคลึงกันบ้าง
28ดาราของตระกูลหวาง ก็ดัดแปลงท่าเดิมของ 28ดาราไปบ้าง การจะหามวยเดิมๆของ28ดารานั้นคงยาก ผมอัพเดทข้อมูลพยายามหาคลิปอยู่ประจำๆยังหาไม่เจอเลย (พูดแล้วก็เสียดายอีกรอบ ตอนนั้นไม่มีโปรแกรมดูดวีดีโอจากยูทูป ไม่งั้นดูดไปละ) ใครที่ตอนนั้นได้ตามบทความผมคงจะได้เห็นการเปรียบเทียบ 28ดาราของจีนกับญี่ปุ่น(นิไปโป) กันบ้าง
28ดารา ของญี่ปุ่น มีใน ชิโตริวคาราเต้ มวยสายนาฮาบางสำนัก(นาฮาสายโกจูริวไม่มี) และโชโตกันสายเซนเซคานาซาว่า ไปรับ "เนไป" มาจากโอกินาว่าอีกที โดยเปลี่ยนท่วงท่าให้เป็นพื้นฐานของโชโตกัน และเปลี่ยนชื่อจากสำเนียงโอกินาว่า(เนไป) เป็นสำเนียงญี่ปุ่น(นิจูฮัจจิ-โฮ)
กาต้านี้สาธิตแสดงในการแข่งขันครั้งที่50 คาราเต้อุดมศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น
ปล. กาต้านี้ใช้แข่งไม่ได้นะครับ เพราะโคริวกาต้า ไม่ได้จัดรวมไว้อยู่ในกาต้าของ4สำนัก หวังว่าคงไม่มีใครทะลึงไปก๊อบปี้ท่ามาใช้แข่งในประเทศไทยนะ

ชินโดจิเนนริวคาราเต้ ญาติห่างๆของโชโตกัน

ชินโดจิเนนริวคาราเต้ คาราเต้อีกหนึ่งสำนักที่กล้ารับรองว่า ในประเทศไทยนี้มีคนรู้จักอยู่แค่สองคน
หนึ่งคือตัวแอ๊ดมินเอง และอีกหนึ่งคือรุ่นพี่ของแอ๊ดมินรุ่นพี่ท่านนี้ท่านเคยบอกว่าตัวท่านไม่ได้เก่งในเรื่องคาราเต้ เพราะท่านไม่ใช่นักคาราเต้ แต่เป็นนักประวัติศาสตร์คาราเต้(ขอสงวนนามไว้ละกันครับ)

ชินโดจิเนนริว เป็นคาราเต้หนึ่งในสายของชูริเต้ โดยมีรากฐานมาจากสาย โชโตกัน ชิโตริว โชรินริว และวาโดริว พูดไปยาวหลาสำนัก แต่ให้เข้าใจรวมๆว่าสายชูริเต้ละกัน เพราะอาจารย์ ยาสุฮิโร่ โคนิชิ ผู้ก่อตั้งสำนักนี้ ได้เรียนวิชากับ ฟุนาโคชิ กิชิน(สายชูริเต้-ผู้ก่อตั้งโชโตกัน) และฮิโรโนริ โอทสึกะ(สายชูริเต้+ชินโดโยชินริวจิวจิทสุ)(ชื่อไม่ใช่ โอนิสึกะ นะครับ) ในสมัยที่เซนเซทั้งสองท่านมาร่วมเผยแพร่คาราเต้ที่มหาวิทยาลัยเคโอ ซึ่งขณะนั้นอาจารย์ยาสุฮิโร่ได้เรียนอยู่ในนั้น อาจารย์ยาสุฮิโร่จึงได้รับความรู้สายโชโตกันและวาโดริวจากเซนเซทั้งสองท่านไป(ขณะนั้นยังไม่แบ่งโชโตกัน กับ วาโดริว) โดยอาจารย์ยาสุฮิโร่เป็นนักเคนโด และจิวจิทสุสำนักทาเคโนจิริว
ต่อมา เซนเซโชกิ โมโตบุ(สายชูริเต้-โทมาริเต้-ผู้ก่อตั้งโมโตบุริว) เซนเซเคนวา มาบุนิ(สายชูริเต้-โทมาริเต้-ผู้ก่อตั้งชิโตริว) และเซนเซมิยากิ โชจุน(ผู้ก่อตั้งโกจูริว)ได้เข้ามาท่องเที่ยวและเริ่มแผยแพร่คาราเต้ที่ญี่ปุ่น ยาสุฮิโร่จึงได้เริ่มเรียนวิชากับท่านเหล่านี้ตั้งแต่นั้น
ต่อมาได้ศึกษาวิชา ไอคิจิทสุ จาก โอเซนเซโมริเฮ อุเอชิบะ และได้สาธิตท่ารำ "เฮอันนิดัน" ให้กับ โอเซนเซอุเอชิบะ โอเซนเซถึงกับเอ่ยปากชมว่า "กาต้าที่เธอสาธิตให้ชมนั้นมีคุณค่ามาก มันทำให้ฉันพอใจและตื่นเต้น"(ไม่รู้จะแปลยังไงดี ประมาณว่าเห็นแล้วของขึ้น อารมณ์นักสู้มันคงเกิดคันไม้คันมืออยากพิสูจน์ อยากศึกษา) (ต่อมาไม่รู้ว่า ยาสุฮิโร่ ได้เรียนอะไรกับโอเซนเซบ้าง แต่ก็คาดว่าน่าจะเรียนไอคิตามมาตรฐานทั่วไป) ต่อมาอาจารย์ยาสุฮิโร่ ได้สร้างกาต้าขึ้นมาใหม่สามท่า ว่าด้วยการสืบเท้า เรียกว่า ไทซาบากิทั้งสามท่า(โชดัน นิดัน ซันดัน)
ต่อมาก็ตามนั้นแหล่ะครับ สร้างกาต้า แล้วก็สร้างสำนักขึ้น
รูปแบบการสอน ก็เป็นคาราเต้ทั่วไป โดยยึดหลักของสำนัก โชโตกัน และชิโตริวเป็นพื้นฐาน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจาก ฟุนาโคชิแห่งโชโตกัน และมาบุนิแห่งชิโตริว และโมโตบุแห่งโมโตบุริวมากที่สุด
----------------------
ปล. ท่อนสุดท้ายจะเห็นการฝึกที่หายไปของโชโตกัน เรียกว่า "โคเทะ คิทาเอะ" ใครฝึกมวยจีนใต้ จะร้องอุทานว่า เห้ย นั่นมันการฝึกของสำนักฉันนี่นา ก็แน่นอนครับ คาราเต้เป็นมวยจีนใต้นี่นาด

ความนิยมในการ "คิไอ" แบบผิดๆ


ในวันแรกที่เรามาฝึกคาราเต้ หากเรามาระลึกกัน จะเห็นได้ว่า การฝึกท่าพื้นฐานทั้งหมดนั้น จะไม่มีการจงใจพ่นลมหายใจออกทางปากหรือจมูกเลย การชกการปัดการเตะแต่ละครั้งทำให้เร็วแรงที่สุดโดยที่ลมหายใจนั้นปรกติ คือหายใจเข้าออกตามปรกติ ในการใช้แรงนั้นก็จะเป็นการหายใจออกตามปรกติ ไม่ต้องใช้การจงใจเค้นลมหายใจ หรือพ่นลมออก แต่การใช้งานร่างกายจะเป็นตัวไล่ลมออกไปเอง
พูดง่ายๆก็คือ "ให้เราหายใจตามปรกติ แล้วท่ามวยมันจะปรับลมหายใจของเราเอง"
ซึ่งการฝึกของคาราเต้ ก็ยังมีคุมิเต้ และท่ารำกาต้าซึ่งก็ไม่ได้มีการสอนให้พ่นลมแต่อย่างใด จะเห็นว่าในสมัยก่อนๆที่เราฝึกกันนั้น ทุกคนจะไม่มีการพ่นลมหายใจออกมาเลย ยกเว้น "คิไอ"
แต่ปัจจุบัน ในการแข่งขันท่ารำ เราจะได้ยินเสียงลมหายใจทุกครั้งที่เห็นนักกีฬาเคลื่อนไหว และใช้แรง ไม่ว่าจะเป็น ชก เตะ ปัด
จะว่าพ่นลมหายใจเหมือนนักมวยสากลก็ไม่เชิง มันเป็นเสียงดัง "ชึบๆ ชิดๆ" หรือสารพัดสารเพจะสรรหาเสียงแปลกๆออกมา
(ในบางคนที่มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจ เช่นอาจจะเป็นไซนัส อาจจะทำให้การระบายลมหายใจนั้นมีปัญหา ในการใช้แรงอาจจะมีเสียงในการไล่ลมบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ใช่เสียงที่จงใจพ่นลมหายใจออกมา)
รวมถึงการคิไอด้วย การคิไอนั้น จะเป็นการเปล่งเสียงออกมา โดยพื้นฐานใช้เสียงที่มีการระเบิดลมออกมา และไม่มีตัวสะกดเพื่อไปปิดลมที่ออกมา การใช้เสียงระเบิดนั้นจะทำให้เกิดการเกร็งของท้องอย่างรวดเร็ว ซึ่งมันจะสัมพันธ์กับการใช้แรง ที่ใช้แรงในพริบตา ไม่ใช่การค่อยๆเกร็งท้องไล่ลมเหมือนการตะโกนเสียงยาวๆ ดังนั้นการคิไอ จึงเป็นการใช้เสียงระเบิด เช่นคำว่า ทะ หรือ ท่า เป็นต้น (ในการสอนของอาจารย์ญี่ปุ่นในสมัยก่อนจะให้ใช้คำว่า EI YA TA HA เป็นต้น สรุปได้คือคำสั้นๆ) ส่วนการลากเสียงนั้นเป็นเสียงที่ตามมาจากการระบายลมหายใจออก ซึ่งจริงๆการลากเสียงนั้นแทบจะไม่ได้สอนกันเลย เพราะมันไม่มีความจำเป็น หรือสาระสำคัญอะไร(ไร้สาระ)ในการลากเสียง
แต่ในปัจจุบันอีกเช่นกัน เราจะเห็นนักกีฬาลากเสียงตอนคิไอ เป็นลากเสียงยาวๆ ถ้าหากเปรียบเทียบกับการเขียนแล้วให้เติมเบิ้ลตัวอักษรตัวสุดท้ายไปเรื่อยๆ ตามความยาวเสียงได้นี่ คงจะเติมไปหลายตัวเลย
คิไอตามปรกติแบบดั้งเดิม "EIA"
คิไอตามนักกีฬาปัจจุบัน "EIAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAAA"

-*-

ในการฝึกพื้นฐาน เราจะถูกสอนให้ไม่แสดงอาการ อารมณ์ทางสีหน้า เพราะคู่ต่อสู้สามารถคาดเดาจังหวะการโจมตีได้จากทางสีหน้า แต่ถ้าเราผ่อนคลายทำหน้าทำตา ผ่อนคลายร่างกายสบายๆ คู่ต่อสู้ย่อมจับทางไม่ออก
ในปัจจุบัน การแข่งท่ารำกาต้า การจะออกเทคนิคต่างๆ ต้องทำหน้าตาขึงขัง เคร่งขรึม ดุดัน มีการเกร็งหน้าเกร็งตาขมวดคิ้ว โดยอ้างว่าทำให้ดูเหมือนต่อสู้จริง มีสมาธิจดจ่อกับการต่อสู้ แต่ในความเป็นจริง หากเราต่อสู้นั้น คู่ต่อสู้ที่เก่งๆเขาแค่เห็นหน้า มีการแสดงทางสีหน้าหน่อยเขาก็รู้จังหวะการเคลื่อนไหวแล้ว

หากมองว่ามันเป็นการเข้าใจในพื้นฐานคาราเต้แบบผิด ก็สามารถที่จะมองได้ เพราะคาราเต้ไม่ได้สอนแบบนั้น แต่ปัจจุบันเราสามารถเห็นได้ทั่วไปในการแข่ง หรือตามยิมที่ซ้อมแข่ง มันกลายเป็นค่านิยมของนักกีฬา จนติดกลายเป็นเรื่องธรรมชาติของนักคาราเต้ และเริ่มจะกลายเป็นสิ่งที่สอนกันมาคาราเต้เสียแล้ว
ทั้งที่ "คาราเต้" ไม่เคยสอน
( ปล.นึกถึงตอนที่แอ๊ดมินเคยแข่งยุทธลีลาไท่จี๋เฉวียนเมื่อ10กว่าปีก่อน แอ๊ดมินเคยโดนกรรมการแนะนำว่า สิ่งที่เธอขาดไปคือขณะที่เธอรำไท่จี๋นั้น เธอไม่มีสีหน้าที่จริงจัง เธอต้องทำหน้าให้ขึงขังดุดัน ให้สมกับที่ร่ายรำมวยหน่อย ไม่อย่างนั้นเธอแพ้....... -*- เอิ่ม คือคุณกรรมการ ตอนนั้นผมก็ตัดสินคุณไปแล้วหล่ะว่าคุณไม่เข้าใจมวยไท่จี๋เลย มวยไท่จี๋นั้นฝึกเพื่อให้เกิดความสมดุลย์ในร่างกายและจิตใจ เกิดความสงบ เกิดความนิ่งในจิตใจ การแสดงออกทางสีหน้าอย่างที่คุณว่านั้น ไท่จี๋ไม่เคยสอน ที่ฮากว่านั้น มีกรรมการท่านหนึ่งบอกให้ยิ้ม เพราะมวยไทเก็กนั้นรำแล้วต้องสบาย ตอนนั้นแอ๊ดมินนี่ เงิบไปเลยกับวงการนี้ )

ชิโซจิ้น

กาต้า ชิโซจิ้น เป็นอีกหนึ่งกาต้าที่นักกีฬาประเทศไทยชอบรำผิด โดยการนำท่าของ "โกจูไก" มารวมกับ "โกจูริว" ซึ่งแน่นอนทั้งสองเป็นคาราเต้โกจูริวเหมือนกัน แต่ได้มีการแยกสำนักกันออกไปมากมาย และที่สมารถเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนก็คือ โกจูไก ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นโกจูริวญี่ปุ่น กับอีกสำนักหนึ่งคือ โอกินาว่าโกจูริว ซึ่งจะขอเรียกสั้่นๆว่า โกจูริว ซึ่งโกจูริวนี้ยังรวมถึง "โกจูไกเจเคเอฟ" ด้วย
เหตุที่ต้องแยกชื่อให้ชัดเจนออกมาก็เพราะว่า การร่ายท่ากาต้านั้นไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ "โกจูไก" ที่ได้แยกตัวออกมาจาก "โกจูไกเจเคเอฟ" และได้สร้างกาต้าให้มีเอกลักษณ์ของตนเองมากขึ้น จนสามารถเห็นความแตกต่างจากสายวิชาในโกจูริวทั่วไปได้
อย่างในกาต้า ชิโซจิ้น นั้น การรำท่านี้ของ โกจูไก และโกจูริว จะมีความแตกต่างกันอยู่หากไม่สังเกต นักกีฬาปัจจุบันชอบที่จะเลียนแบบนักกีฬาแชมป์ในยูทูป จนลืมดูพื้นฐานสำนักตัวเอง และลืมสำรวจความรู้ของตัวเอง จนเผลอไปเลียนแบบท่า และนำมาผสมผสานกับท่าของตัวเอง จนกลายเป็นรำกาต้าแบบผสมผสานไป
ซึ่งในกฏกติกานั้นระบุว่า
"Slight variations as taught by the contestant’s style (ryu-ha) of Karate will be permitted."
อนุญาตให้สามารถปรับเปลี่ยนกาต้าได้เล็กน้อยตามความหลากหลายของสไตล์ที่นักกีฬาได้ฝึกฝนมา โดยคำว่าสไตล์นั้นวงเล็บคำว่า ริวฮะ เอาไว้ ซึ่ง "ริวฮะ" หมายถึง สำนัก(ริว)เช่น โกจูริว โชโตกันริว วาโดริว ชิโตริว ริวเอริว อุเอจิริว เป็นต้น และ สายสำนักย่อย(ฮะ) เช่น โกจูไก(ยามากุจิฮะ)โกจูริว เจเคเอ(นากายาม่าฮะ)โชโตกันริว เอสเคไอ(คานาซาว่าฮะ)โชโตกันริว เจเคเอส(อะไซฮะ)โชโตกันริว อิโตสุฮะชิโตริว อิโนะอุเอะฮะชิโตริว เป็นต้น
ซึ่งการรำกาต้าของแต่ละ ริวฮะ นั้นก็มีบ้างที่เหมือนกัน และต่างกัน ดังนั้นหากไม่ศึกษาให้ดีและนำมาผสมผสานกันเองโดยไม่รู้นั้น ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดการตัดแต้ม (หรือตัดสิทธิแพ้ในการแข่งขันได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ)
ปล. ในประเทศไทย มีสำนักโกจูริวคาราเต้เป็นสำนักอะไร และสอนกันมาแบบไหน รำแบบอะไร และในคลิปนี้เป็นแบบไหน สำนักอะไร ไม่ขอเอ่ยละกัน ขอให้ผู้ติดตามและนักกีฬาได้ขวนขวายหาความรู้กันเอาเองว่า ที่ตนเองนั้นรำอยู่เหมือนหรือต่างกับในคลิปนี้ และเป็นสำนักเดียวกับในคลิปนี้
ปล. หากต้องการรู้ว่าคำตอบ กรุณาถามจากผู้ที่มีความรู้ในวงการ เช่นกรรมการตัดสินที่เชี่ยวชาญด้านท่ารำ "ย้ำว่าท่ารำ" เพราะบางครั้งถามผู้ฝึกสอนคาราเต้หลายๆท่าน ก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ถูกต้องได้

วิชาสกัดจุด กับประสบการณ์ฝึกคาราเต้


เตี่ยนเสวี่ย หรือวิชาสกัดจุดชีพจร ในเมืองไทยอาจจะไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงกันมาก รวมถึงในเมืองจีนเองด้วย วิชานี้ก็ยังเป็นที่กังขากันมากในหมู่ประชาชน และผู้ฝึกยุทธ
แต่วิชาที่โดดเด่นในด้านการเตี่ยนเสวี่ย คือวิชา เหลี่ยงอี๋เฉวียน (ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะแปลว่า หมัดสองขั้ว) วิชาหากมองดูในสารคดีแล้ว เป็นวิชาที่น่าสนใจไม่น้อย คือตัววิชา(จากท่ารำและการฝึกที่เห็นในสารคดี) มีฝึกทั้งช้าเร็ว อ่อนแข็ง ฝึกทั้งภายในภายนอก หากดูจากท่าร่างแล้วมีความคล้ายกันในหลายๆมวย โดยเฉพาะการส่งแรง
ในช่วงแรงที่เป็นการไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าเคยฝึกมวยไหม จะเห็นเหล่าผู้เฒ่าในหมู่บ้านอายุเกินเลข5หลายท่านออกมาสาธิตมวยให้ดู จะมีอยู่ท่านนึงที่เป็นคนแรกออกมาสาธิต ด้วยการสกัดจุด ลักษณะการพุ่งเข้าโจมตี การออกหมัด การดึงมือกลับ การสืบเท้า ผมที่เป็นนักคาราเต้พอเห็นแล้วร้องเห้ยเลยครับ มันเพอร์เฟ็คมาก หากเป็นคาราเต้นี่คือการชกที่มี "คิเมะ" มากๆ
รวมถึงเหล่าผู้เฒ่าหลายๆท่านที่ออกมาสาธิตท่ารำ จะเห็นว่าท่ารำนั้น ไม่ได้เน้นกำลัง แต่เน้นการส่งแรง แต่ละท่าจะมีจุดโฟกัสของท่าแต่ละท่าเหมือนคาราเต้ ซึ่งเหล่าผู้เฒ่านั้นสาธิตได้เป็นอย่างดี คือไม่ได้ใช้แรงเกร็ง แต่สามารถส่งแรงออกมาได้ ถึงแม้ว่าจุดโฟกัสอาจจะไม่แม่นเพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และไม่ได้ฝึกต่อเนื่อง เพราะเป็นแค่ชาวบ้านที่เคยฝึกมวยมาตอนเด็กๆเท่านั้น (ถ้าฝึกต่อเนื่องจนปัจจุบัน ฝึกตั้งแต่เด็ก10กว่าขวบยันอายุ50-60ปี คงจะเป็นสุดยอดฝีมือไปแล้ว)
--------------------------
พอพูดถึงการเตี่ยนเสวี่ย ทำให้นึกถึงสมัยก่อนตอนที่ฝึกคาราเต้กับเหล่าสหาย มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกำลังฝึก "หมัดอิปป้งเคน" คือการใช้หมัดด้วยข้อนิ้วหนึ่งนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นนิ้วชี้ หรือนิ้วกลาง หรือทั้งสองนิ้ว(นิฮงเคน) ก็ฝึกด้วยการชกกระสอบ วิดพื้น หรือชกลมและอื่นๆ ฝึกจนเกิดความเคยชินในระดับหนึ่ง จนเผลอกำหมัดในลักษณะนั้นในการฝึกต่อสู้
ตอนนั้นซ้อมต่อสู้กันอยู่ ในการซ้อมของคาราเต้จะเป็นการชกและดึงหมัดกลับเมื่อสัมผัสโดนตัว หรือห่างจากเป้าหมาย3-5เซนติเมตร แต่โดยมากหากต่อยหน้าจะต่อยให้ห่าง แต่ต่อยต่ำกว่าคอจะต่อยให้โดนเพียงสัมผัสความแรงระดับหนึ่งและดึงออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างฝึกซ้อม ขณะนั้นตั้งใจจะเล็งต่อยบริเวณกึ่งกลางหน้าอก แต่เพื่อนเห็นทีว่าปัดไม่พ้นจึงพยายามเบี่ยงตัวหลบ หมัดจึงไปโดนช่วงหัวไหล่(ไม่บอกจุดที่ละเอียดกว่านี้ละกันครับ เดี๋ยวจะมีคนเอาไปลองเล่นแผลงๆ)
ทันทีที่โดนนั้นเพื่อนคนนั้นร้องว่า "มึงจะฆ่ากูหรือไงเนี่ยถึงใช้อิปป้งเคนต่อยเข้ามาเนี่ย แขนขยับไม่ได้เลย ชาไปทั้งแขน ความรู้สึกเหมือนโดนแทงด้วยของแหลม.......(จำคำพูดได้ไม่หมด)" ต้องนวดๆคลึงๆบริเวณที่โดนต่อยให้กล้ามเนื้อคลายตัวถึงจะหายเป็นปรกติ
จะว่าไปการต่อยของคาราเต้เห็นภายนอกว่าเป็นการต่อยเบาๆ ต่อยแล้วดึงหมัดกลับ ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย การต่อยของคาราเต้นั้นต่อยด้วยความเร็ว ต่อยด้วยจังหวะที่เหมาะสม ต่อยด้วยกำลังที่มาจากพื้นฐาน ความเร็วจากการพุ่งตัวเคลื่อนตัว ส่งแรงจากขาผ่านสะโพก หลัง ไหล่ออกมาที่แขนที่หมัด ดังนั้นหากหลบไม่พ้นก็จะโดนแรงปะทะมากมายเข้ามา ซึ่งมากกว่าหมัดที่เกิดจากการใช้แรงแขนเพียงอย่างเดียวมากนัก และยิ่งต่อยด้วยหมัดอิปป้งเคน เมื่อโดนไปแล้ว จุดปะทะจึงรวมอยู่ที่จุดเดียวเหมือนตะปูเจาะเข้ากล้ามเนื้อในทันที
-----------------------------
และในสมัยที่ผมฝึกโอกินาว่าโกจูริว และไอคิโดนั้น(เซนเซคนเดียวสอนสองอย่างพร้อมกัน) ท่านมักจะสาธิตการส่งแรงด้วยการตี ท่านจะพูดเหมือนในคลิปสารคดีนี้ว่า
จะตีตรงนี้ ให้แรงไปค้างที่ไหน วิ่งผ่านอะไร เช่นท่านตีไหล่ซ้าย ให้แรงไปวิ่งค้างที่ซี่โครงขวา
จะตีที่ท้อง ให้แรงวิ่งขึ้นคอ
ต่อยที่หน้าอกให้แรงวิ่งลงล่าง
ในวันนั้นเซนเซสาธิตว่าจะตีที่ไหล่ขวา ให้แรงวิ่งลงสะโพกซ้าย ท่านเพียงเคาะเบาๆที่ไหล่ขวาเท่านั้น แรงพุ่งลงมาที่สะโพกซ้ายเหมือนโดนกด แต่บังเอิญโชคร้ายตอนนั้นลืมไปว่าเจ็บเข่าซ้ายอยู่ แรงที่ควรจะลงสะโพกแล้วผ่านเข่าและฝ่าเท้าลงสู่ดินกลับสะท้อนขึ้นมาที่เข่าซึ่งเจ็บอยู่ ตั้งแต่วันนั้นนี่เจ็บเข่าไปเป็นเดือน
หลังจากนั้นก็ฝึกการตีในลักษณะนี้กันมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ฝึกนานแล้ว ไม่รู้ว่าจะยังสามารถทำได้เหมือนก่อนหรือไม่ เพราะเมื่อก่อนก็ยังทำได้ไม่ชำนาญสักเท่าไหร่

Hangetsu จันทร์เสี้ยวแห่งโชโตกัน

ในสมัยก่อนที่เริ่มฝึกคาราเต้ใหม่ๆนั้น อาจารย์และรุ่นพี่เก่าๆจะจับให้ยืนม้าคิบะดาจิ(หม่าปู้)ทุกวัน วันนึงหลายเซ็ททั้งก่อนซ้อมและหลังซ้อม เซ็ทละ5นาทีอย่างต่ำ ตกวันนึงนั่งม้าไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง บางวันนี่เจอจับนั่งม้าก่อนฝึกครึ่งชั่วโมงนั่งยาวๆจนเด็กฝึกใหม่หนีหายไปตามๆกัน
เมื่อฝึกผ่านไปได้ระยะเวลาหนึ่ง อาจารย์บังคับให้นั่งนานกว่าปรกติ จนฝ่าเท้าร้อน ตัวนี่ร้อน ท้องร้อน ขาสั่นพับๆๆๆๆ แต่คงเพราะอาจารย์นั้นรู้ว่าไม่ไหวแล้ว จึงมานั่งม้ากำกับอยู่ด้านหลัง พร้อมเอามือกดศรีษะลง และจัดให้หลังตรง พร้อมกับเน้นให้หายใจลึกๆ ทำจิตให้สงบ
โดนนั่งม้าอย่างนั้นต่อมาสักสามถึงห้านาที อาจารย์บอกว่า ตั้งใจฟังให้จบก่อนแล้วให้ทำตาม คือก่อนจะลุกให้หายใจลึกๆเข้าออกสามครั้ง หายใจเบาๆอย่าหายใจแรง หายใจให้เต็มปอดเหมือนหายใจแล้วลมหายใจพุ่งขึ้นศรีษะ หายใจออกลมหายใจพุ่งลงไปที่ขา เมื่อหายใจแล้ว หายใจออกครั้งที่สามครั้งสุดท้ายให้ค่อยๆผ่อนคลายขา และค่อยๆยืนขึ้นช้าๆ
ทันใดนั้นเองขณะที่ยืนขึ้นและหายใจออกนั้น ความรู้สึกร้อนที่ฝ่าเท้าที่ตัวนั้นนั้นได้รวมตัวกันเป็นกระแสร้อนพุ่งจากฝ่าเท้าขึ้นสู่ศรีษะผ่านด้านหลังอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดและอุ่นสบายมาก
อาจารย์บอกว่า หากรู้สึกอย่างนี้แสดงว่าการฝึกนั้นถูกต้อง มีความเพียรในการฝึก หากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการพัฒนาได้เป็นอย่างดี ให้จำความรู้สึกอย่างนี้เอาไว้
------------------------------
ในการฝึกท่า "ฮันเกทสึ" ท่านี้เป็นอีกท่าหนึ่งที่บรรดาเซนเซให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นการฝึก "คิ" ของคาราเต้โชโตกัน แต่มันเป็นการฝึกคิได้อย่างไรอันนี้ไม่ขอกล่าว แต่ให้เน้นเพียรฝึก
ในวันแรกที่ได้เรียนท่านี้นั้น เมื่อได้ฝึกทฤษฎีท่าจนครบแล้ว และนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง ขณะที่รำท่อนแรก จะเป็นการหายใจช้าทั้งหมด จนมาถึงจังหวะกลับตัวและ "คิไอ" ระเบิดลมออกจากท้องนั้น ได้เกิดกระแสลมร้อนพุ่งจากเท้าขึ้นสู่ศรีษะเหมือนตอนฝึกนั่งม้า
จากการทดสอบหลายๆรอบกระแสลมร้อนนั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อหายใจอย่างถูกต้องสัมพันธ์กับท่าร่าง และที่สำคัญคือการออกแรงนั้นต้องไม่เกร็ง แต่เป็นการส่งแรงผ่านกล้ามเนื้อเส้นเอ็นอย่างเป็นธรรมชาติ การหายใจไม่ติดขัด หากเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อทำให้เส้นลมปราณติดขัด กระแสลมก็จะอุดตัน ไม่วิ่งทั่วร่าง
ดังนั้นท่าฮันเกทสึนี้จึงสามารถเป็นท่าที่ใช้เป็นตัวเช็คพื้นฐานได้เป็นอย่างดี
--------------------------------
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เซนเซทัตสุยะ นากะ ได้มาสาธิตโดยการใช้แรงน้อยในการยกคนตัวใหญ่ การจัดโครงสร้างร่างกายในการซับแรง พร้อมกับการหายใจ ในการฝึกวันนั้นจะเน้นที่การฝึกท่าคาราเต้พร้อมกับท่าการหายใจด้วยท่าเปิดของ "คันคุได" และท่า "เฮโกดาจิ โยย" และท่าคล้ายท่าฉี่ซื่อของไท่จี๋เฉวียน ในตอนเย็นของวันนั้นเองท่านได้เฉลยในวงเหล้ากับผมว่า เคล็ดของคาราเต้โชโตกันในการใช้คิทั้งหมดอยู่ในท่า "ฮันเกทสึ" ให้ฝึกท่าฮันเกทสึบ่อยๆเมื่อว่าง
ผมจึงมาพิจารณาว่า สิ่งที่เซนเซกล่าวนั้นสมเหตสมผล เนื่องจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการฝึกนั้น เป็นการเช็คโครงสร้างร่างกายจากภายใน หากการฝึกนั้นสามารถสำรวจการเคลื่อนไหวทั้งภายในภายนอกได้อย่างที่เซนเซท่านสาธิตจากท่ารำ การจะใช้แรงน้อยชนะแรงใหญ่กว่า สำหรับคาราเต้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้


วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ความรู้เรื่องคาราเต้ ภาค3

แบบทดสอบความรู้ออนไลน์ แบบทดสอบความรู้เรื่องคาราเต้ ภาค3
1. ในวิชาคาราเต้ การใช้แรงในการโจมตีหรือปัดป้องต่างๆนั้น แรงเกิดขึ้นจากจุดใดเป็นจุดแรก
ฝ่าเท้า
เข่า
สะโพก
หลัง

2. กาต้าท่า ฮันเก็ทสึ ในโชโตกันคาราเต้ ดัดแปลงมาจากท่าอะไร
เซชัน
ซันจิน
เซเอนจิน
เซซัน

3. ด้ามเครื่องโม่แป้ง โม่ถั่ว คืออาวุธชนิดใดของคาราเต้
เอกุ
ไซ
ทอนฟา
นุนจากุ

4. โคบุโด คือวิชาจำพวกใดในโอกินาว่า
เพลงเตะ
อาวุธ
เพลงต่อย
วิชาหักล๊อค

5. ท่ายืนใดไม่ใช่ท่ายืนของสำนักโกจูริว
ซันจินดาจิ
เนโกะดาจิ
โคสะดาจิ
ฟุโดดาจิ

6. หมัดตรงควรมีลักษณะใด
แขนเหยียดตรงจนตึง จึงเรียกว่าตรง
ยื่นไหล่ออกไปให้หมัดยาวขึ้น
หย่อนศอกลงเล็กน้อย ไม่ให้แขนตึงเกินไปจนแขนแอ่น
หย่อนศอกลงให้เห็นได้ชัด แต่ชกออกไปตรงๆจึงเรียกว่าหมัดตรง

7. หมัดข้อนิ้วหนึ่งนิ้ว(อิปปงเคน)ไม่ได้อยู่ในท่ารำกาต้าใด
ซุปารินเป้
ฮันเกทสึ
เซยุนจิน
ชินเต้

8. ท่าใดคือ ไคชู กาต้า
ไซฟา
ซันจิน
เทนโช
เซเอนจิน

9. ในโชโตกัน ท่าใดมีความหมายเกี่ยวกับนกกระเรียน
กันคาคุ
เอนปิ
นิจูชิโฮ
วันคัน

10. ท่ายืนใดไม่มีในโชโตกัน
เซชันดาจิ
ฮันเกทสึดาจิ
โซจินดาจิ
โคสะดาจิ

11. โอยาม่า มะสุทัสสึ ผู้ก่อตั้งสำนักเคียวคุชิน ฝึกคาราเต้กับท่านใด
ฟุนาโกชิ กิชิน – โกเกน ยามากุจิ
ฟุนาโกชิ กิชิน – มิยากิ โชจุน
ฟุนาโกชิ กิชิน – โกเซย์ ยามากุจิ
ฟุนาโกชิ กิชิน – คันเรียว ฮิกาอนนะ

12. อาจารย์ซาดาฮิโร่ เทตสุโอะ ผู้เผยแพร่คาราเต้โกจูริวในประเทศไทย เป็นศิษย์ของท่านใด
โกเฮย์ ยามากุจิ
โกชิ ยามากุจิ
โกเซย์ ยามากุจิ
โกเกน ยามากุจิ

13. ท่ารำชุด เฮอัน(พินอัน) ทั้งห้าท่า ใครเป็นผู้คิดค้นขึ้น
โซจิน จิบานะ
อันโก อิโตสุ
คันเรียว ฮิกาอนนะ
โซคอน มัสสุมุระ

14. ท่ารำชุด เฮอัน(พินอัน) ดัดแปลงตัดต่อมาจากกาต้าใด
กันคาคุ(ชินโต)
คันคุ(คุชันคุ)
โกจูชิโฮ
ไทเกียวกุ

15. ท่ายืน เนโกะอาชิดาจิ ของสำนักโกจูริว และชิโตริว แตกต่างกันอย่างไร
ชิโตริวยืนยาวกว่าครึ่งฝ่าเท้า
ชิโตริวยืนหลังตรงกว่า แต่โกจูริวยืนก้นแอ่น
ชิโตริวยืนแอ่นหน้าอก แต่โกจูริวไม่
ยืนเหมือนกันทั้งสองสำนัก

16. ท่าปัดในสำนักชิโตริว กับโชโตกันแตกต่างกันอย่างไร
ท่าปัดชิโตริวมีความเล็ก เน้นความกระชับมากกว่า
ท่าปัดชิโตริวไม่ใช้แรง เน้นให้เร็วๆ
ท่าปัดโชโตกันต้องเกร็งมากๆให้แรงเยอะๆ แต่ชิโตริวไม่
ท่าปัดทั้งสองสำนักเหมือนกัน ใช้แทนกันได้

17. เอนบุเซน คืออะไร
ความหมายของท่ารำ
แผนผังการเดินในท่ารำ
เคล็ดลับในการรำ
ตำแหน่งการยืนในท่ารำ

18. คะคิเอะ คืออะไร
การฝึกหายใจแบบอินเดีย
การฝึกกำลังแบบริวกิว
การฝึกผลักมือแบบมวยจีน
การฝึกหักล๊อคแบบโอกินาว่า

19. โฮโจอุนโด คืออะไร
การฝึกเวทเทรนนิ่งแบบเฉพาะของคาราเต้
การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วยการเอามือตี เอาไม้ฟาด
การฝึกต่อสู้แบบประชิดตัว
การฝึกปราณโดยใช้อุปกรณ์เสริม

20. ในกาต้า(คาตะ)ซันจิน ของโกจูริว การชกหมัดตรง ต้องชกตำแหน่งใด(อ้างอิงสำนัก IKGA)
ลิ้นปี่
หัวไหล่
ซี่โครงท่อนล่าง
ด้านข้างลิ้นปี่ออกมาประมาณสองนิ้ว

ผลคะแนน =
เฉลยคำตอบ: