วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Hangetsu จันทร์เสี้ยวแห่งโชโตกัน

ในสมัยก่อนที่เริ่มฝึกคาราเต้ใหม่ๆนั้น อาจารย์และรุ่นพี่เก่าๆจะจับให้ยืนม้าคิบะดาจิ(หม่าปู้)ทุกวัน วันนึงหลายเซ็ททั้งก่อนซ้อมและหลังซ้อม เซ็ทละ5นาทีอย่างต่ำ ตกวันนึงนั่งม้าไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง บางวันนี่เจอจับนั่งม้าก่อนฝึกครึ่งชั่วโมงนั่งยาวๆจนเด็กฝึกใหม่หนีหายไปตามๆกัน
เมื่อฝึกผ่านไปได้ระยะเวลาหนึ่ง อาจารย์บังคับให้นั่งนานกว่าปรกติ จนฝ่าเท้าร้อน ตัวนี่ร้อน ท้องร้อน ขาสั่นพับๆๆๆๆ แต่คงเพราะอาจารย์นั้นรู้ว่าไม่ไหวแล้ว จึงมานั่งม้ากำกับอยู่ด้านหลัง พร้อมเอามือกดศรีษะลง และจัดให้หลังตรง พร้อมกับเน้นให้หายใจลึกๆ ทำจิตให้สงบ
โดนนั่งม้าอย่างนั้นต่อมาสักสามถึงห้านาที อาจารย์บอกว่า ตั้งใจฟังให้จบก่อนแล้วให้ทำตาม คือก่อนจะลุกให้หายใจลึกๆเข้าออกสามครั้ง หายใจเบาๆอย่าหายใจแรง หายใจให้เต็มปอดเหมือนหายใจแล้วลมหายใจพุ่งขึ้นศรีษะ หายใจออกลมหายใจพุ่งลงไปที่ขา เมื่อหายใจแล้ว หายใจออกครั้งที่สามครั้งสุดท้ายให้ค่อยๆผ่อนคลายขา และค่อยๆยืนขึ้นช้าๆ
ทันใดนั้นเองขณะที่ยืนขึ้นและหายใจออกนั้น ความรู้สึกร้อนที่ฝ่าเท้าที่ตัวนั้นนั้นได้รวมตัวกันเป็นกระแสร้อนพุ่งจากฝ่าเท้าขึ้นสู่ศรีษะผ่านด้านหลังอย่างรวดเร็ว เป็นความรู้สึกที่แปลกประหลาดและอุ่นสบายมาก
อาจารย์บอกว่า หากรู้สึกอย่างนี้แสดงว่าการฝึกนั้นถูกต้อง มีความเพียรในการฝึก หากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดการพัฒนาได้เป็นอย่างดี ให้จำความรู้สึกอย่างนี้เอาไว้
------------------------------
ในการฝึกท่า "ฮันเกทสึ" ท่านี้เป็นอีกท่าหนึ่งที่บรรดาเซนเซให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นการฝึก "คิ" ของคาราเต้โชโตกัน แต่มันเป็นการฝึกคิได้อย่างไรอันนี้ไม่ขอกล่าว แต่ให้เน้นเพียรฝึก
ในวันแรกที่ได้เรียนท่านี้นั้น เมื่อได้ฝึกทฤษฎีท่าจนครบแล้ว และนำมาปฏิบัติด้วยตนเอง ขณะที่รำท่อนแรก จะเป็นการหายใจช้าทั้งหมด จนมาถึงจังหวะกลับตัวและ "คิไอ" ระเบิดลมออกจากท้องนั้น ได้เกิดกระแสลมร้อนพุ่งจากเท้าขึ้นสู่ศรีษะเหมือนตอนฝึกนั่งม้า
จากการทดสอบหลายๆรอบกระแสลมร้อนนั้นจะเกิดก็ต่อเมื่อหายใจอย่างถูกต้องสัมพันธ์กับท่าร่าง และที่สำคัญคือการออกแรงนั้นต้องไม่เกร็ง แต่เป็นการส่งแรงผ่านกล้ามเนื้อเส้นเอ็นอย่างเป็นธรรมชาติ การหายใจไม่ติดขัด หากเกิดการเกร็งกล้ามเนื้อทำให้เส้นลมปราณติดขัด กระแสลมก็จะอุดตัน ไม่วิ่งทั่วร่าง
ดังนั้นท่าฮันเกทสึนี้จึงสามารถเป็นท่าที่ใช้เป็นตัวเช็คพื้นฐานได้เป็นอย่างดี
--------------------------------
มีอยู่ครั้งหนึ่ง เซนเซทัตสุยะ นากะ ได้มาสาธิตโดยการใช้แรงน้อยในการยกคนตัวใหญ่ การจัดโครงสร้างร่างกายในการซับแรง พร้อมกับการหายใจ ในการฝึกวันนั้นจะเน้นที่การฝึกท่าคาราเต้พร้อมกับท่าการหายใจด้วยท่าเปิดของ "คันคุได" และท่า "เฮโกดาจิ โยย" และท่าคล้ายท่าฉี่ซื่อของไท่จี๋เฉวียน ในตอนเย็นของวันนั้นเองท่านได้เฉลยในวงเหล้ากับผมว่า เคล็ดของคาราเต้โชโตกันในการใช้คิทั้งหมดอยู่ในท่า "ฮันเกทสึ" ให้ฝึกท่าฮันเกทสึบ่อยๆเมื่อว่าง
ผมจึงมาพิจารณาว่า สิ่งที่เซนเซกล่าวนั้นสมเหตสมผล เนื่องจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในการฝึกนั้น เป็นการเช็คโครงสร้างร่างกายจากภายใน หากการฝึกนั้นสามารถสำรวจการเคลื่อนไหวทั้งภายในภายนอกได้อย่างที่เซนเซท่านสาธิตจากท่ารำ การจะใช้แรงน้อยชนะแรงใหญ่กว่า สำหรับคาราเต้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น