วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

วิชาสกัดจุด กับประสบการณ์ฝึกคาราเต้


เตี่ยนเสวี่ย หรือวิชาสกัดจุดชีพจร ในเมืองไทยอาจจะไม่ค่อยมีใครได้พูดถึงกันมาก รวมถึงในเมืองจีนเองด้วย วิชานี้ก็ยังเป็นที่กังขากันมากในหมู่ประชาชน และผู้ฝึกยุทธ
แต่วิชาที่โดดเด่นในด้านการเตี่ยนเสวี่ย คือวิชา เหลี่ยงอี๋เฉวียน (ถ้าแปลเป็นไทยน่าจะแปลว่า หมัดสองขั้ว) วิชาหากมองดูในสารคดีแล้ว เป็นวิชาที่น่าสนใจไม่น้อย คือตัววิชา(จากท่ารำและการฝึกที่เห็นในสารคดี) มีฝึกทั้งช้าเร็ว อ่อนแข็ง ฝึกทั้งภายในภายนอก หากดูจากท่าร่างแล้วมีความคล้ายกันในหลายๆมวย โดยเฉพาะการส่งแรง
ในช่วงแรงที่เป็นการไปสัมภาษณ์ชาวบ้านว่าเคยฝึกมวยไหม จะเห็นเหล่าผู้เฒ่าในหมู่บ้านอายุเกินเลข5หลายท่านออกมาสาธิตมวยให้ดู จะมีอยู่ท่านนึงที่เป็นคนแรกออกมาสาธิต ด้วยการสกัดจุด ลักษณะการพุ่งเข้าโจมตี การออกหมัด การดึงมือกลับ การสืบเท้า ผมที่เป็นนักคาราเต้พอเห็นแล้วร้องเห้ยเลยครับ มันเพอร์เฟ็คมาก หากเป็นคาราเต้นี่คือการชกที่มี "คิเมะ" มากๆ
รวมถึงเหล่าผู้เฒ่าหลายๆท่านที่ออกมาสาธิตท่ารำ จะเห็นว่าท่ารำนั้น ไม่ได้เน้นกำลัง แต่เน้นการส่งแรง แต่ละท่าจะมีจุดโฟกัสของท่าแต่ละท่าเหมือนคาราเต้ ซึ่งเหล่าผู้เฒ่านั้นสาธิตได้เป็นอย่างดี คือไม่ได้ใช้แรงเกร็ง แต่สามารถส่งแรงออกมาได้ ถึงแม้ว่าจุดโฟกัสอาจจะไม่แม่นเพราะไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ และไม่ได้ฝึกต่อเนื่อง เพราะเป็นแค่ชาวบ้านที่เคยฝึกมวยมาตอนเด็กๆเท่านั้น (ถ้าฝึกต่อเนื่องจนปัจจุบัน ฝึกตั้งแต่เด็ก10กว่าขวบยันอายุ50-60ปี คงจะเป็นสุดยอดฝีมือไปแล้ว)
--------------------------
พอพูดถึงการเตี่ยนเสวี่ย ทำให้นึกถึงสมัยก่อนตอนที่ฝึกคาราเต้กับเหล่าสหาย มีอยู่ช่วงหนึ่งผมกำลังฝึก "หมัดอิปป้งเคน" คือการใช้หมัดด้วยข้อนิ้วหนึ่งนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นนิ้วชี้ หรือนิ้วกลาง หรือทั้งสองนิ้ว(นิฮงเคน) ก็ฝึกด้วยการชกกระสอบ วิดพื้น หรือชกลมและอื่นๆ ฝึกจนเกิดความเคยชินในระดับหนึ่ง จนเผลอกำหมัดในลักษณะนั้นในการฝึกต่อสู้
ตอนนั้นซ้อมต่อสู้กันอยู่ ในการซ้อมของคาราเต้จะเป็นการชกและดึงหมัดกลับเมื่อสัมผัสโดนตัว หรือห่างจากเป้าหมาย3-5เซนติเมตร แต่โดยมากหากต่อยหน้าจะต่อยให้ห่าง แต่ต่อยต่ำกว่าคอจะต่อยให้โดนเพียงสัมผัสความแรงระดับหนึ่งและดึงออกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบาดเจ็บระหว่างฝึกซ้อม ขณะนั้นตั้งใจจะเล็งต่อยบริเวณกึ่งกลางหน้าอก แต่เพื่อนเห็นทีว่าปัดไม่พ้นจึงพยายามเบี่ยงตัวหลบ หมัดจึงไปโดนช่วงหัวไหล่(ไม่บอกจุดที่ละเอียดกว่านี้ละกันครับ เดี๋ยวจะมีคนเอาไปลองเล่นแผลงๆ)
ทันทีที่โดนนั้นเพื่อนคนนั้นร้องว่า "มึงจะฆ่ากูหรือไงเนี่ยถึงใช้อิปป้งเคนต่อยเข้ามาเนี่ย แขนขยับไม่ได้เลย ชาไปทั้งแขน ความรู้สึกเหมือนโดนแทงด้วยของแหลม.......(จำคำพูดได้ไม่หมด)" ต้องนวดๆคลึงๆบริเวณที่โดนต่อยให้กล้ามเนื้อคลายตัวถึงจะหายเป็นปรกติ
จะว่าไปการต่อยของคาราเต้เห็นภายนอกว่าเป็นการต่อยเบาๆ ต่อยแล้วดึงหมัดกลับ ความเป็นจริงนั้นไม่ใช่เลย การต่อยของคาราเต้นั้นต่อยด้วยความเร็ว ต่อยด้วยจังหวะที่เหมาะสม ต่อยด้วยกำลังที่มาจากพื้นฐาน ความเร็วจากการพุ่งตัวเคลื่อนตัว ส่งแรงจากขาผ่านสะโพก หลัง ไหล่ออกมาที่แขนที่หมัด ดังนั้นหากหลบไม่พ้นก็จะโดนแรงปะทะมากมายเข้ามา ซึ่งมากกว่าหมัดที่เกิดจากการใช้แรงแขนเพียงอย่างเดียวมากนัก และยิ่งต่อยด้วยหมัดอิปป้งเคน เมื่อโดนไปแล้ว จุดปะทะจึงรวมอยู่ที่จุดเดียวเหมือนตะปูเจาะเข้ากล้ามเนื้อในทันที
-----------------------------
และในสมัยที่ผมฝึกโอกินาว่าโกจูริว และไอคิโดนั้น(เซนเซคนเดียวสอนสองอย่างพร้อมกัน) ท่านมักจะสาธิตการส่งแรงด้วยการตี ท่านจะพูดเหมือนในคลิปสารคดีนี้ว่า
จะตีตรงนี้ ให้แรงไปค้างที่ไหน วิ่งผ่านอะไร เช่นท่านตีไหล่ซ้าย ให้แรงไปวิ่งค้างที่ซี่โครงขวา
จะตีที่ท้อง ให้แรงวิ่งขึ้นคอ
ต่อยที่หน้าอกให้แรงวิ่งลงล่าง
ในวันนั้นเซนเซสาธิตว่าจะตีที่ไหล่ขวา ให้แรงวิ่งลงสะโพกซ้าย ท่านเพียงเคาะเบาๆที่ไหล่ขวาเท่านั้น แรงพุ่งลงมาที่สะโพกซ้ายเหมือนโดนกด แต่บังเอิญโชคร้ายตอนนั้นลืมไปว่าเจ็บเข่าซ้ายอยู่ แรงที่ควรจะลงสะโพกแล้วผ่านเข่าและฝ่าเท้าลงสู่ดินกลับสะท้อนขึ้นมาที่เข่าซึ่งเจ็บอยู่ ตั้งแต่วันนั้นนี่เจ็บเข่าไปเป็นเดือน
หลังจากนั้นก็ฝึกการตีในลักษณะนี้กันมาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้ฝึกนานแล้ว ไม่รู้ว่าจะยังสามารถทำได้เหมือนก่อนหรือไม่ เพราะเมื่อก่อนก็ยังทำได้ไม่ชำนาญสักเท่าไหร่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น